กินอาหารไขมันสูง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

กินอาหารไขมันสูง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
• คุณภาพชีวิต
บ่อเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อัมพฤกษ์-อัมพาต
เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนเราทุกวันนี้ช่างเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคร้ายๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดแข็งตัว ที่ส่งผลต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน รวมถึงอัมพฤกษ์อัมพาตในงานเสวนา “ความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระความรู้ดีๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาบอกกล่าว เพื่อให้ทุกคนห่างไกลจากโรคร้ายที่สามารถคร่าชีวิตเราได้อย่างง่ายดาย
ก่อนอื่นต้องปูพื้นความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดแดงแข็งกันก่อน รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่าปัจจุบันคนไทย มีแนวโน้มไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติมากขึ้น ซึ่งเกณฑ์ปกติไม่ควรมีไขมันในเลือด (รวมคอเลสเตอรอล) เกิน 200 มิลลิกรัม/dl และไขมัน ตัวร้ายหรือแอลดีแอล คอเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/dl ซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ที่เปลี่ยนไปตามภาวะสังคมที่มีความเร่งรีบ หันมานิยมอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารหวานๆ มันๆ อีกทั้งนิยมงานเลี้ยงสังสรรค์ และขาดการออกกำลังกาย การมีปริมาณไขมันในเลือดสูง
หากไม่รีบลดระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ให้ได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตามมาโดยเกิดจากความเสื่อม ของผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกายของคนเรา เมื่อปล่อยไปนานๆจะเกิดการสะสม ของตะกรันขึ้นที่หลอดเลือดแดง หากมีปริมาณไขมันในเลือดสูงก็จะทำให้เกิดการสะสม ของตะกรันหนาเร็วขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเกิดการปริหรือกะเทาะของตะกรันเหล่านี้ และกระตุ้นให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันผนังหลอดเลือด ซึ่งหากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้น ไปอุดตันผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหากลิ่มเลือดนั้นไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองก็จะทำให้เกิดภาวะ อัมพฤกษ์อัมพาต
ด้าน รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าห้องสวนหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแข็งตัว ได้แก่ คนที่มีอายุ มากกว่า 45 ปี เป็นเพศชาย มีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่หรือเครียด แต่สาเหตุหลักได้แก่ กลุ่มคนที่มีคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) สูง ดังนั้นการลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงอัมพฤกษ์อัมพาตได้
วิธีง่ายๆ คือการควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และควบคุมพฤติกรรมการกิน เช่น หลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีไขมันสูง หวานจัด มีรสเค็ม และเน้นทานอาหารที่มีเส้นใย งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ บางรายอาจจำเป็นต้องกินยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย เพื่อให้การลดแอลดีแอลคอ เลสเตอรอล ได้ผลตามเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมียาใหม่ในกลุ่มสแตติน นอกจากช่วยลดระดับไขมันตัวร้ายในเลือดแล้ว ยังช่วยลดตะกรันที่เกิดขึ้นในผนังหลอดเลือดอีกด้วย

ที่มา
ข้อมูลจาก: ไทยรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *