‘กำไร’ และ ‘เงินสด’ ใน’แผนธุรกิจ’

“กำไร” และ “เงินสด” ใน “แผนธุรกิจ”
ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ของผมในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงจะได้ไอเดียเบื้องต้นแล้วว่า “กำไร” ที่ได้จากการทำธุรกิจ กับตัว “เงินสด” ในมือที่กิจการมีอยู่ เป็นตัวเลขที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

ผมเคยยกตัวอย่างธุรกิจพื้นๆ ที่แสดงแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจเพื่อประกอบความเข้าใจให้กับผู้ที่สนใจอยากสร้างธุรกิจส่วนตัว หรือผู้ที่กำลังเตรียมตัวที่จะเป็นเถ้าแก่ใหม่

สมมติซื้อหนังสือพิมพ์มาขายจำนวน 100 เล่ม ราคาเล่มละ 7 บาท นำไปขายในราคาเล่มละ 8 บาท โดยขายเป็นเงินสด 90 เล่ม ขายเป็นเงินเชื่อ 10 เล่ม ในการซื้อมา จ่ายเป็นเงินสดครึ่งหนึ่ง คือ 50 เล่ม ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง คือ อีก 50 เล่ม ซื้อเป็นเงินเชื่อ หรือขอติดเป็นหนี้ไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ารถ ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ รวม 20 บาท โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้จ่ายเป็นเงินสดไปแล้ว 15 บาท ยังไม่ได้จ่ายอีก 5 บาท เพราะเจ้าหนี้ยังไม่มาเก็บ

ธุรกิจนี้จะมี “กำไร” เกิดขึ้น 80 บาท ซึ่งคิดจาก รายได้ ที่ได้จากการขายหนังสือพิมพ์เล่มละ 8 บาท จำนวน 100 เล่ม รวมเป็นรายได้ 800 บาท

เมื่อหักออกจาก ค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นจากกิจการ คือ ต้นทุน หนังสือพิมพ์ เล่มละ 7 บาท จำนวน 100 เล่ม รวม 700 บาท รวมกับ ค่าใช้จ่ายอื่น 20 บาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 720 บาท

ดังนั้น กำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่าย จึงเท่ากับ 800 – 720 = 80 บาท

แต่เมื่อกลับไปมองกระแสการไหลเวียนของเงินสดที่ผ่านเข้าออกในกิจการ จะพบว่า

รายรับ เกิดจากการขายเป็นเงินสด 90 เล่มๆ ละ 8 บาท รวมรับเงิน 720 บาท (อีก 10 เล่ม ขายเป็นเงินเชื่อ ยังไม่ได้รับเงิน)

ส่วน รายจ่าย เกิดจากการจ่ายเงินค่าซื้อหนังสือพิมพ์ 50 เล่ม เล่มละ 7 บาท รวมเป็นเงิน 350 บาท (ส่วนที่เหลืออีก 50 เล่มยังไม่ได้จ่ายเงิน ติดเป็นหนี้เขาอยู่) รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นที่จ่ายไปแล้ว 15 บาท (อีก 5 บาท ก็ยังติดหนี้เขาอีกเช่นกัน) รวมจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 365 บาท กิจการมีรายรับ 720 บาท และมีรายจ่าย 365 บาท ดังนั้น เงินสดคงเหลือของกิจการ ก็คือ 355 บาท นั่นเอง

หากไปนับเงินสดที่เหลือในลิ้นชัก ก็จะต้องนับได้ 355 บาท

ดังนั้น กระแส เงินสด ที่ได้จากกิจการ จึงอาจไม่ใช่เป็นกำไรที่ได้จากกิจการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กิจการมี ลูกหนี้ หรือ เจ้าหนี้ เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินกิจการ

ลูกหนี้ของกิจการมีภาระที่จะต้องจ่ายหนี้คืนมาเป็นเงินสด ดังนั้น ลูกหนี้จึงเป็นแหล่งที่จะได้มาซึ่งเงินสด ลูกหนี้ จึงถือได้ว่าเป็น สินทรัพย์ อย่างหนึ่งของบริษัท เพราะสามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินสดเข้ามาในกิจการได้

เจ้าหนี้เป็นภาระของกิจการที่จะต้องนำเงินไปชำระคืน ดังนั้น ยอดเจ้าหนี้ จะถือว่าเป็น หนี้สิน ของกิจการ เป็นแหล่งที่เงินสดจะต้องไหลออกจากกิจการไป จะเห็นได้ว่า “กำไร” ซึ่งมาจาก “รายได้” และ “ค่าใช้จ่าย” กระแส “เงินสด” ซึ่งมาจาก “รายรับ” และ “รายจ่าย” พร้อมทั้ง “ลูกหนี้” และ “เจ้าหนี้” ซึ่งเปรียบเสมือน “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” ของกิจการจะมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกันกับผลตอบแทน หรือผลการดำเนินการของธุรกิจ จะพิจารณาแต่เพียงด้านใดด้านเดียวไม่ได้ เพราะจะให้ภาพที่ไม่ครบถ้วนทุกมุมมอง

ดังนั้น ในการเขียนแผนธุรกิจ เจ้าของแผนจะต้องวาดภาพเส้นทางเดินของ “กำไร” และ “เงินสด” ไปพร้อมๆ กับแผนการการกำหนดทิศทางของ “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” เพื่อทำให้เห็นเป้าหมายหรือผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นหากธุรกิจเดินไปตามแผนที่ได้วางไว้

การคิด “กำไร” จากธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นตัวเลข “ทางบัญชี” ตัวหนึ่ง ในขณะที่ “เงินสด” จะเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจสามารถจับต้องได้ นับได้ ดังนั้น รายได้ที่เป็นเงินสด จึงเท่ากับรายได้รวมทางบัญชี – ลูกหนี้การค้า หรือหมายถึงกระแสเงินสดจริงที่ไหลเข้ามายังกิจการ

ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด จึงเท่ากับค่าใช้จ่ายรวมทางบัญชี – เจ้าหนี้การค้า หรือหมายถึง กระแสเงินสดจริงที่ไหลออกจากกิจการ

เมื่อได้คุยกันถึงเรื่อง “ลูกหนี้” กับ “เจ้าหนี้” ของกิจการแล้ว จะเห็นได้ว่า การที่กิจการมี “เจ้าหนี้” จะทำให้กิจการไม่ต้องสูญเสีย “เงินสด” ออกไปในทันทีทันใด ในทางกลับกัน การมี “ลูกหนี้” ก็จะทำให้โอกาสที่กิจการจะได้รับเงินสด ก็ต้องยืดออกไปเช่นกัน การมี “เจ้าหนี้” มากกว่า “ลูกหนี้” โดยรวม จะทำให้กิจการสามารถสงวนเงินสดคงเหลือไว้ในกิจการได้ดีขึ้น เพราะเปรียบเสมือนการได้แหล่งเครดิตเพิ่มขึ้น

หากกิจการมี “ลูกหนี้” รวมมากกว่า “เจ้าหนี้” กิจการก็จะสูญเสียเงินสดออกไป กลายเป็นแหล่งเครดิตให้กับบรรดาลูกหนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นที่มาของคาถาประจำใจของเถ้าแก่นักการเงิน คือ “จ่ายหนี้ให้ช้าไว้ เก็บหนี้ให้เร็วขึ้น” สภาพคล่องของเงินสดของกิจการก็จะไหลได้สะดวกไม่ติดขัด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหากกิจการมี “ลูกหนี้” มากกว่า “เจ้าหนี้” ก็คือ กิจการจะต้องแสวงหาเงินสดมาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ขาดสภาพคล่อง

เงินสดเพิ่มเติมส่วนนี้ มักจะเรียกกันว่า “เงินทุนหมุนเวียน”

หากถือว่า “ลูกหนี้” คือ “สินทรัพย์” ที่สามารถหมุนเวียนให้มาเป็นเงินสดได้ และ “เจ้าหนี้” คือ “หนี้สิน” ที่จะต้องจ่ายชำระหนี้ด้วยเงินสด

ดังนั้น “เงินทุนหมุนเวียน” ของกิจการ อาจจะคำนวณคร่าวๆ ได้จากจำนวน “สินทรัพย์หมุนเวียน” ลบ “หนี้สินหมุนเวียน” หรือ “ลูกหนี้” รวม ลบด้วย “เจ้าหนี้” รวม นั่นเอง

การบริหาร “ลูกหนี้” และ “เจ้าหนี้” อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้กิจการจำเป็นต้องกันเงินสดของกิจการไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเป็น “เงินทุนหมุนเวียน”

“เงินทุนหมุนเวียน” จึงเปรียบเสมือนเป็นกับดักของสภาพคล่อง หรือกับดักของกระแส “เงินสด” อิสระที่กิจการจะได้รับเป็นผลตอบแทนจากการประกอบกิจการ

เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจกับรายละเอียดทางการเงินเหล่านี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้

กิจการจึงจะดำเนินไปได้อย่างมั่นคง แข็งแรง

เรื่อง : เรวัต ตันตยานนท์

suwitdesign@yahoo.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *