กำจัดจุดอ่อนด้วยการ “ประเมินตนเอง”

กำจัดจุดอ่อนด้วยการ “ประเมินตนเอง”

วันที่ : 9 เมษายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานอัพเกรด

การประเมินตนเอง (self assessment) นับเป็นบทบาทหน้าที่ หรือ job description หนึ่งที่องค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่กำหนดให้พนักงานภายใต้ทุกคนจำเป็นต้องมีการประเมินตนเองเป็นประจำตามระยะเวลาที่วางไว้เพื่อภาพรวมในการสร้างมาตรฐานอันดีให้กับองค์กรตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมไปถึงภาพย่อยในการมุ่งเน้นและกระตุ้นให้พนักงานเกิดความตื่นตัวต่อการประเมินเพื่อการการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยเครื่องมือสำคัญในการประเมินตนเองที่องค์กรส่วนใหญ่นิยมใช้ อาทิ การทำดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน หรือ Key performance index (KPI) เพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้

อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดหรือดัชนีที่ใช้ในการประเมินตนเองของหน่วยงานต่าง ๆ นั้นมักเน้นไปในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานเป็นสำคัญ อาทิ คุณภาพของงาน การส่งงานตรงเวลา จำนวนชิ้นงาน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติชีวิตในด้านอื่น ๆ มากนัก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดในส่วนของมิติชีวิตในด้านต่าง ๆ ของพนักงานในองค์กรให้มากขึ้นกว่าเดิม อาทิ ด้านลักษณะชีวิต ความซื่อสัตย์ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อุปนิสัยรักการเรียนรู้ ความขยันขันแข็ง ความมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน อุปนิสัยการใช้จ่ายเงิน เป็นต้น รวมทั้งพนักงานในองค์กรทุกคนควรเห็นความสำคัญในการประเมินตนเองให้ครบทุกมิติทั้งมิติการทำงานและชีวิตส่วนตัวด้วยเช่นกัน

การประเมินตนเองทั่วไปแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ต้องมีการประสานงานกับใคร ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่ในความเป็นจริงแล้วการประเมินตนเองอย่างเที่ยงตรงกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญคือ ”ความหยิ่ง” ในตัวเรานั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เรามักพยายามนำจุดแข็งของตนเองไปเปรียบเทียบกับจุดด้อยของผู้อื่น โดยหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของตน ดังนั้นแทนที่จุดอ่อนจะได้รับการแก้ไขกลับถูกความหยิ่งในใจซุกซ่อนไว้และแสดงออกภายนอกด้วยการสร้างภาพลักษณ์หลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่าดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

หากเราเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังความสำเร็จในชีวิต การเรียนรู้จักประเมินตนเองอย่างเที่ยงตรงนับเป็นบันไดก้าวแรกสู่ความสำเร็จนั้น โดยเริ่มจาก

การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งหรือการทำ SWOT analysis การเปิดใจวิเคราะห์ตนเองอย่างเป็นธรรมถึงจุดอ่อนและจุดแข็งในชีวิตของตนว่ามีเรื่องใดบ้าง รวมทั้งการประเมินปัจจัยภายนอกถึงโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ อันเป็นขวากหนามไม่ให้เราไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายตามที่ตั้งใจได้ทั้งเป้าหมายชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน โดยคิดต่อว่าหากเราไม่สามารถเปลี่ยนปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมภายนอกได้แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้างกับปัจจัยภายในอันได้แก่จุดอ่อนและจุดแข็งของเราเอง เช่น การใช้จุดแข็งของเราเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน การปิดจุดอ่อนเพื่ออุดรูรั่วในการทำงาน เป็นต้น

การสำรวจความนิยม หรือ Check Rating ของตนเองในที่ทำงาน นักร้อง นักแสดง นักการเมือง ฯลฯ ยังต้องมีการสำรวจความนิยมของเพื่อประเมินว่าตนเองยังเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอยู่หรือไม่ฉันใด หากเราต้องการรู้ว่า ณ ปัจจุบันเรายังคงเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายอยู่หรือไม่ มีใครรู้สึกไม่ดีกับเรา หรือแอบเขม่นเราอยู่อันเนื่องมาจากนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างของเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวซึ่งอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานของเราตามมา การสำรวจความนิยมของตนเองนับเป็นสิ่งสำคัญฉันนั้น

เพื่อนร่วมงานเปรียบเสมือนกระจกเงาที่คอยสะท้อนอุปนิสัยความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราได้เป็นอย่างดี โดยการสำรวจความนิยมของเรานั้นไม่ต้องไปทำโพลล์ แบบสอบถามแต่อย่างใด แต่ขอให้เราเรียนรู้ที่จะรับฟังอย่างปราศจากอคติเมื่อมีใครมาตักเตือนว่ากล่าวเราต้องน้อมรับไว้พิจารณาว่าที่เขากล่าวมาเกี่ยวกับนิสัยที่ไม่ดีของเรานั้นเป็นความจริงหรือไม่ โดยหากมีผู้มาเตือนเพียงคนหรือสองคนอาจยังสามารถชั่งใจไว้ก่อนได้ แต่หากเพื่อนร่วมงานทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด เราต้องรีบนำมาพิจารณาและปรับปรุงตัวโดยด่วน ที่สำคัญอย่าคิดว่าเพื่อนร่วมงานมากลั่นแกล้งเราแต่ขอให้คิดไว้ว่าการที่มีคนกล้ามาเตือนสติเราตรง ๆ นั้นเป็นสิ่งดีที่เราควรขอบคุณในความกล้าของเขาที่มาพูดกับเรา ในอีกมุมหนึ่งหากไม่มีใครกล้ามาพูดเตือนสติเราเลยนั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่แสดงว่าเรากำลังเป็นบุคคลที่น่าเอือมระอา ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวพูดคุยด้วยนั่นเอง นอกจากนี้หากเรามีเพื่อนที่สนิทสนมเราสามารถเข้าไปถามเขาตรง ๆ ได้เช่นกันถึงจุดอ่อนที่เราควรเปลี่ยนแปลง

การประเมินตนเองไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เรารู้สึกท้อแท้ใจในจุดอ่อนข้อบกพร่องของตนหรือหยิ่งทะนงไปกับส่วนดีและคำชมเชยจนปล่อยปละละเลยที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แต่กระบวนการต่อไปหลังจากการประเมินตนเองนั้น คือ การนำผลลัพธ์ที่ได้มาพิจารณาหาแนวทางการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ต่อไป อาทิ

… หากเรามีจุดอ่อนอยู่ที่เรื่องวินัยในชีวิต เราควรเริ่มฝึกฝนเรื่องความมีระเบียบวินัย และการวางแผนการใช้เวลา การทำตารางเวลา

… หากเรามีจุดอ่อนในเรื่องสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ มักอ่อนเพลียนอนหลับในที่ทำงานเป็นประจำ เราควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป

…หากเรามีจุดอ่อนในด้านมนุษยสัมพันธ์ เราควรฝึกที่จะยิ้มแย้มและทักผู้อื่นก่อนทุกครั้งเมื่อพบกัน

…หากเรามีปัญหาเรื่องทักษะการทำงาน เราควรหาโอกาสไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม อาทิ ทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์ ทักษะทางภาษา เป็นต้น

การประเมินตนเองนับเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อที่ว่าเมื่อตรวจพบความผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นจุดบกพร่องต่าง ๆ แล้วเราจะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพราะหาไม่แล้วอาจเป็นการ “สายเกินแก้” ดั่งเช่นการตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือรอความตายสถานเดียว

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *