‘การเรียนรู้ กับ การเลียนแบบ’

“การเรียนรู้ กับ การเลียนแบบ”

การเรียนรู้ กับ การเลียนแบบ ต่างก็มีข้อดีทั้ง 2 อย่าง เพียงแต่ “การเรียนรู้ “จะเกิดผลที่ดี และ เกิดการพัฒนาการมากกว่า “การเลียนแบบ” โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ องค์กร หรือ ธุรกิจ จะอยู่จะรอด จะปรับตัว หรือจะรุ่ง จะยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่าง “การเรียนรู้” กับ “การเลียนแบบ”ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น!

ถ้าพูดถึง “การเรียนรู้” ในยุคปัจจุบัน การเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นของทุกคน ทุกระดับในธุรกิจ ไม่ว่าธุรกิจจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ตาม ถ้าจะแบ่งระดับการเรียนรู้แบบง่ายๆ เราอาจแบ่งได้หลายระดับ
1. การเรียนรู้ลักษณะงาน ของพนักงาน ทีมงานในแต่ละระดับ
2. การเรียนรู้ ในเชิงทักษะที่จำเป็นของแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน (ซึ่งรวมไปถึง ภาษา เทคโนโลยีที่จำเป็น)
3. การเรียนรู้ สถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะแวดล้อม และ แนวโน้ม
4. การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และ สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ทั้งของผู้อื่น โดยเฉพาะของตนเอง
ฯลฯ

สำหรับข้อ 1 ถึง ข้อ 3 แต่ละธุรกิจ ส่วนมากจะเรียนรู้กันอยู่แล้วซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การเรียนรู้ในประเด็นที่ 4 แต่ละธุรกิจมักจะเปลี่ยน “การเรียนรู้” กลายเป็น “การเลียนแบบ”!

แล้วมันเสียหายตรงไหน? (ท่านผู้อ่านอาจจะกำลังคิดในใจ)

ถ้าเป็นการเลียนแบบในสิ่งดีๆ เพื่อนำมาพัฒนา เพื่อปรับปรุง หรือ เลียนแบบเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจุดประกาย ต่อยอดสิ่งดีๆ สำหรับธุรกิจของเราที่ไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบในลักษณะ COPY หรือ เดินตามรอยแบบไม่ลืมหูลืมตา การเลียนแบบก็จะไม่เกิดผลเสีย

แต่ผลเสียมักจะเกิดในกรณี เลียนแบบอะไรก็แล้วแต่ที่กำลังเป็น “กระแส” ตัวอย่างเช่น กระแสชาเขียว ที่แต่ละค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ค่ายใหม่ ค่ายคุ้นเคย ต่างก็ตกอยู่ในกระแส ชาเขียวบูม แทนที่จะเรียนรู้หรือต่อยอดกลับกลายเป็น เลียนแบบ แย่งกันออกชาเขียวสารพัดยี่ห้อ ในด้านหนึ่งเป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะจากเดิมที่ผู้บริโภคเคยซื้อชาเขียวกินขวดละ 20 บาท แต่ปัจจุบันสามารถซื้อได้ขวดละไม่ถึง 15 บาท ที่เกิดจากกฎของการแข่งขัน ที่มีชาเขียวหลากหลายยี่ห้อแข่งกันออกมาเป็นทางเลือกใหม่ (เรื่องที่น่าติดตามต่อคือ ทางเลือกใหม่หลายยี่ห้อ จะช่วยดันให้กระแสชาเขียวโตมากขึ้น หรือ ดับเร็วขึ้นในหลายๆ ยี่ห้อ)

ย้อนกลับมาที่ การเรียนรู้ กับ การเลียนแบบกันต่อ … ผลของการเรียนรู้ ย่อมดีกว่าการเลียนแบบแน่นอน

และเช่นเดียวกัน การเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ยากกว่า การเลียนแบบ เพราะการเรียนรู้ต้องใช้ทั้งความพยายาม ความละเอียดอ่อน การวิเคราะห์ ใช้เวลาย่อมทำให้ผู้บริหารในหลายๆ ธุรกิจมักจะเลือก “การเลียนแบบ” เพราะมองว่าเป็นทางลัด ไปได้เร็วกว่า (แต่อย่าลืมว่า ไปได้เร็ว ไม่ได้หมายถึง ไปได้ดีเสมอไป อาจไปได้เร็วเพื่อล้มเหลวได้เร็วก็ได้!)

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดๆ ที่ผู้บริหารแต่ละธุรกิจ มักจะเข้าใจว่า ตนเองกำลังเรียนรู้ โดยไม่รู้ว่า กำลังเลียนแบบ! เช่น กระแส CRM (การสร้าง และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า)เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาที่แต่ละธุรกิจต่างก็ “ตื่นตัวแบบตื่นตูม” ที่เห็นใครๆ ก็พูดถึง ใครๆ ก็อยากทำ CRM แทนที่จะ เรียนรู้เรื่อง CRM ให้เข้าใจเพื่อที่จะได้ไม่ต้องล้มเหลว ไม่ต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ธุรกิจใหญ่น้อยต่างก็โดดเข้าใส่ เร่งคิด เร่งทำ CRM กันยกใหญ่ จนบรรดาบริษัทที่ขาย SOFTWARE ของ CRM และ บริษัทที่ปรึกษาที่รับทำ CRM อู้ฟู่กันจนถึงทุกวันนี้

ผลจาก “การเลียนแบบ” โดยไม่ได้ “เรียนรู้”ก็เลยทำให้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ!

เรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับทุกธุรกิจในวันนี้ และ วันพรุ่งนี้ แต่ละธุรกิจต่างก็ยังมุ่งมั่น ที่จะ “เลียนแบบ”

ใครทำอะไร ผลิตอะไร บริหารอย่างไร แล้วประสบความสำเร็จ ทุกคนก็แห่ตามไปเลียนแบบ (สินค้า OTOP และสินค้าเกษตรคือตัวอย่างที่ชัดเจน เน้นเลียนแบบจนล้นตลาด จนราคาตกต่ำ ทั้งน่าเห็นใจและน่าใจหาย) ทั้งที่ควรจะ”เรียนรู้”ว่าที่แต่ละบริษัท แต่ละธุรกิจทำสำเร็จ มีปัจจัยอะไรบ้าง

โดยเฉพาะ “ปัจจัยเหมือน” ที่ธุรกิจเรามี ไม่ว่าจะเป็นตลาด วัตถุดิบ คุณภาพคน เทคโนโลยี ฯลฯ และ “ปัจจัยต่าง” ที่เราไม่มี และควรจะเรียนรู้เพื่อพัฒนา ไม่ใช่ เลียนแบบ ที่จะมี หรือใจเร็วด่วนได้ โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ลุยเลียนแบบ หลับหูหลับตาเลียนแบบ ทั้งที่มีความแตกต่างในหลายปัจจัย ไม่ต้องคาดเดาผลที่เกิดขึ้นให้เสียเวลาหรอกครับ เกือบร้อยทั้งร้อย ผู้ที่ “เลียนแบบโดยไม่ได้เรียนรู้”ก็จะมีผลลงเอยไม่ต่างกันคือ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา หรือ อาจเสียทั้งธุรกิจไปเลย!

คำถามสุดท้ายของวันนี้….. ท่านกำลัง “เรียนรู้” หรือว่ากำลัง “เลียนแบบ”อยู่ครับ?

ถ้าท่านกำลังเลียนแบบจะเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ยังไง เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง THE ONE หรือเบอร์หนึ่งมีได้คนเดียวถึงแม้จะมีการเปลี่ยนหน้าเบอร์หนึ่งได้ แต่ก็ไม่ง่าย ทำไมไม่เรียนรู้ เพื่อที่จะเป็น THE ONLY ONE (หนึ่งเดียว) ดูละครับ

เพราะถึงแม้ท่าน และ ธุรกิจของท่าน จะไม่สามารถเป็น THE ONE หรือ เบอร์หนึ่งในวันนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ท่านจะเป็น THE ONLY ONE หรือ หนึ่งเดียวในธุรกิจของท่านได้!

ที่มา : http://newsroom.bangkokbiznews.com/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *