การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดเบื้องต้น(7)

การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดเบื้องต้น(7)

ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติในการฝึกฝนการพูด
มีนักพูดและนักวิชาการหลายท่านได้เสนอแนะวิธีการฝึกฝนการพูดเอาไว้ คล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้าง ยกตัวอย่างให้ศึกษา และเปรียบเทียบกัน เพียง ๓ ท่าน คือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข และเพียรศักย์ ศรีทอง ซึ่งแต่ละท่านก็ได้เสนอแนะวิธีการ ในการฝึกฝนการพูดเอาไว้ แตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้เราได้รับความรู้ในการพัฒนาตนเองอย่างกว้างขวาง ท่านแรกที่จะกล่าวถึงคือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝน การพูดว่า สารถกระทำได้ ๓ วิธี คือ
๑. การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ
๒. การฝึกพูดจากตำรา
๓. การฝึกพูดโดยผู้แนะนำ

ซึ่งแต่ละวิธีพอสรุปได้ดังนี้
วิธีแรก การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ หมายถึง การฝึกฝนด้วยตนเอง ผู้พูดต้องชอบพูดชอบแสดงออก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ให้มี ชั่วโมงบิน มาก ๆ ก็อาจกลายเป็นนักพูดที่ดีได้ ยิ่งถ้ามีปฏิญาณไหวพริบดีด้วยก็อาจจะจับหนทางได้เร็วและประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
วิธีที่สอง การฝึกพูดจากตำรา โดยอาศัยตำราซึ่งมีผู้เขียนไว้มากมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผู้พูดสามารถเลือกอ่าน ศึกษาได้ตามใจชอบ ที่สำคัญผู้ที่ศึกษาจากตำรานั้นต้องหาโอกาสฝึกปฏิบัติจริง ๆ โดยอาจฝึกจากงานสังคมต่าง ๆ หรือฝึกในงานอาชีพของตนเองก็ได้ โดยถ้านำความรู้และ เทคนิคใหม่ ๆ จากตำรามาใช้ประกอบด้วยก็จะทำให้เก่งเร็วขึ้น
วิธีสุดท้าย การฝึกพูดโดยมีผู้แนะนำ หมายถึง การมีพี่เลี้ยงดี ๆ คอยให้คำแนะนำ อาจจะเป็นการแนะนำซักซ้อมให้เป็นการส่วนตัว เป็นครั้งคราว หรือจัดกลุ่มฝึกพูดขึ้น โดยมีการฝึกฝนกันเป็นประจำก็ได้
ท่านต่อไป คือ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝนการพูดไว้อย่างละเอียดว่าสมารถกระทำได้ ๒ วิธีคือ
๑. การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
๒. การฝึกพูดแบบเป็นทางการ
ซึ่งแต่ละวิธีผู้เรียบเรียงใคร่ของนำเสนอไว้พอสังเขป ดังนี้

วิธีแรก การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การฝึกพูดที่มิได้จัดเป็นรูปแบบที่แน่นอน ซึ่งได้แก่ การฝึกพูดด้วยตนเอง การฝึกพุดเช่นนี้ ผู้พูดต้องอาศัย ความอดทนอย่างยอดเยี่ยมประกอบกับความตั้งใจจริงเป็นพลังอันสำคัญ ข้อแนะนำสำหรับการฝึกพูด แบบไม่เป็นทางการ หรือการฝึกพูดด้วยตนเองนั้น มีลำดับขั้นในการปฏิบัติดังนี้
๑. จงเป็นนักอ่านที่ดี โดยการอ่านตำราและข้อแนะนำการพูดให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้
๒. จงเป็นนักฟังที่ดี โดยการติดตามฟังการพูดในทุกโอกาสให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งการพูดของนักพูดที่มีชื่อเสียงและนักพูดทั่ว ๆ ไปแล้วพยายามวิเคราะห์ว่าสิ่งใดที่ผู้พูดทำได้เหมาะสมหรือสิ่งใดไม่ควรทำ
๓. จงใช้เครื่องบันทึกเสียงให้เป็นประโยชน์ โดยการบันทึกการพูดที่ดีเอาไว้ แล้วเปิดฟังให้บ่อยที่สุดจนจำได้ขึ้นใจว่าตอนใดเป็นตอนที่ดีที่สุด ตอนใดเด่น ตอนใดด้อย เพราะเหตุใด
๔. จงบันทึกเสียงพูดของท่าน โดยการบันทึกทั้งการพูดในที่ชุมนุมชน และการพูดคนเดียว แล้วเปิดฟังบ่อย ๆ ให้ขึ้นใจว่าตอนใดว่าด้อย ตอนใดเด่น เพราะเหตุใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเดียวกัน จงบันทึกและฟังเสียงของท่านเองหลาย ๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องให้ได้
๕. จงพยายามหาโอกาสฝึกพูดต่อหน้ากระจกเงา โดยการพูดแลฝึกฝนการใช้ท่าทางประกอบโดยไม่กระดากอายหรือเคอะเขิน เพราะวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง
๖. จงเริ่มฝึกหัดด้วยความมุ่งมั่นจากง่ายไปหายามเป็นลำดับ ดังนี้
๖.๑ การพูดให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นรูปธรรม
๖.๒ การพูดอธิบายคำพังเพยหรือภาษิต
๖.๓ การพูดเพื่อให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นนามธรรม
๖.๔ การพูดเพื่อให้เหตุผลสนับสนุน
๖.๕ การพูดเพื่อให้เหตุผลคัดค้าน
๖.๖ การพูดในเชิงอภิปรายหรือวิจารณ์

๗. จงฝึกเขียนประกอบการฝึกพูด โดยการร่างประกอบให้ครอบคลุมสิ่งที่พูดไว้ทั้งหมดแล้วอ่านซ้ำหลาย ๆ เที่ยว หลังจากนั้นจงฝึกพูดจากบันทึก จนกระทั่งพูดโดยไม่มีบันทึกหรือใช้บันทึกแต่น้อย
๘. จงอย่าละเลยเมื่อมีโอกาสที่จะได้พูดจริง ๆ ต่อหน้าผู้ฟัง โดยการเตรียมตัวให้มากจนเกิดความมั่นใจ บางตอนที่สำคัญท่านจะต้องท่องจำให้ได้ โดยเฉพาะการขึ้นต้น และการจบจะต้องท่องจำเอาไว้ให้ได้
๙. จงเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบอย่างใด ๆ ไปทั้งหมด จงนึกอยู่เสมอว่าท่านมิได้กำลังพูดแทนใคร แลไม่มีใครพูดแทนท่านได้ ท่านล้มเหลวในแบบของท่านเองดีกว่าท่านชนะในแบบของผู้อื่น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *