การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดเบื้องต้น(3)

การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดเบื้องต้น(3)

๒. การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ (Manuscript Speech)
การพูดแบบนี้ผู้พูดจะเขียนข้อความที่จะพูดลงไปในต้นฉบับ แล้วเมื่อถึงสถานการณ์การพูดจริง ผู้พูดก็จะนำต้นฉบับนั้นมาอ่านให้ผู้ฟัง ได้รับฟังอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้มักใช้ในสถานการณ์การพูดทีเป็นทางการมาก ๆ เช่น ในการกล่าวรายงานทางวิชาการการกล่าวเปิดงาน การกล่าวเปิดประชุม การสรุปผลการประชุม การอ่านข่าวหรือบทความทางวิทยุ-โทรทัศน์ ที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว การกล่าวตอบโต้ในพิธีต่างๆ หรือการกล่าวแถลง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าว ต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งถือกันว่าควรใช้วิธีการอ่านมากกว่าการพูดสด แต่ถ้าหากเป็น สถานการณ์ การพูดโดยทั่วไปเป็นทางการหรือ เป็นทางการไม่มากแล้ว ไม่ควรใช้วิธีนี้ เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้ผู้ฟัง รู้สึกเบื่อหน่าย และหมดความรู้สึกสนใจในตัวผู้พูด อันเนื่องมาจากการที่ผู้พูดต้อง ละสายตามาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา ทำให้ขาดการติดต่อสื่อสาร ทางสายตากับผู้ฟัง และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ หรืออาจเรียกว่า อ่านให้ฟัง จะทำให้ผู้พูด ขาดลีลาน้ำเสียง อันมีชีวิตชีวา และบุคลิกภาพอันเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้นผู้ฟังส่วนใหญ่มักไม่ชอบการพูดแบบนี้ เนื่องจากผู้ฟังมักคิดว่าผู้พูดคงไม่เข้าใจถ่องแท้ในเรื่องที่พูดหรืออาจจะไม่ได้เขียนต้นฉบับด้วยตนองก็ได้
สำหรับประโยชน์ของการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับอยู่ที่ว่าผู้พูดสามารถพูดในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีข้อผิดพลาด อันเนื่องมาจาก การหลงลืม ความตื่นเต้น ความประหม่า ความสับสน หรืออื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพูดแบบเป็นทางการมาก ๆ หรือการพูดต่อหน้าพระพักตร์ เนื่องจากว่าภาษาพูด ที่เขียนไว้อย่างสมบูรณ์แบบในต้นฉบับ ย่อมสามารถเขียนได้ ไพเราะสละสลวย และมีน้ำหนักมากกว่าการพูดแบบ ปากเปล่า และจะช่วยให้ผู้พูด เกิดความรู้สึกปลอดภัย จากการพุดที่ผิดพลาด
ส่วนวิธีการเขียนต้นฉบับ (Manuscript) เพื่อการพูดแบบนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุดนั้น ก่อนการเขียนต้นฉบับผู้พูด ต้องเตรียมจัดทำ โครงเรื่องเสียก่อน ครั้นวางโครงเรื่อง ได้สมบูรณ์แล้วผู้พูดจึงเขียนต้นฉบับการพูดลงไปทุกคำพูด ดุจเดียวกับเวลาพุดกับเพื่อนๆ เมื่อเขียนต้นฉบับจบแล้ว ต้นฉบับนั้นยังไม่ถือว่า เป็นต้นฉบับที่สมบูรณ์ ยังเป็นเพียงการร่างครั้งแรกเท่านั้น ผู้พูดต้องอ่านทบทวนร่างนั้นหลายๆ ครั้งแล้วแก้ไข สำนวน ลีลา น้ำหนักคำ และรูปประโยคโดยละเอียด จนเกิดความแน่ใจว่าสิ่งที่เขียนไว้นั้น ถูกต้องตรงกับสิ่งที่เขาประสงค์จะพูด ทุกประการ แม้นว่าจะแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งจนผู้พูดเกิดความรู้สึกพอใจในต้นฉบับของเขาแล้วก็ตาม ผู้พูดกูควรจะทดสอบ ต้นฉบับของเขา เป็นครั้งสุดท้าย โดยการอ่าน ต้นฉบับดังกล่าว ให้ผู้ร่วมคณะหรือเพื่อบางคนฟัง (หากหาคนฟังไม่ได้อาจอ่านออกเสียงดังๆ ให้ตนเองฟังเพียงลำพัง คนเดียวก็ได้) การทดสอบแบบนี้จะช่วยให้การแก้ไขต้นฉบับการพุดครบถ้วยสมบูรณ์ที่สุด เมื่อได้ต้นฉบับการพูดที่สมบูรณ์แบบตามที่ปรารถนาแล้ว ผู้พูดควรพิมพ์ต้นฉบับโดยใช้กระดาษพิมพ์อย่างหนา ระวังอย่าให้คำผิดพลาด ปรากฏ ต้นฉบับพิมพ์ควรสะอาด เนื้อเรื่องควรพิมพ์เป็นตอนสั้น ๆ ข้อความแต่ละตอนต้องจบในหน้าเดียวกันไม่ควรต่อไปหน้าอื่น ริมกระดาษซ้ายมือควรเว้นว่างประมาณ ๓ นิ้ว พิมพ์เลขหน้าทุกหน้าตามลำดับ หมายเลขขอบขวาด้วนบนเพื่อป้องกันการสลับหน้าผิด ควรใช้ลวดเย็บต้นฉบับรวมกันเพื่อป้องกันการหลุดและสูญหาย เวลาอ่านต้นฉบับผู้พูด ต้องอ่านโดยใช้เสียงที่เหมือนกับเสียงพูดปกติ เพราะแม้นว่าผู้พูดจะเขียนข้อความด้วยคำพูดของตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าเวลาเขาจะอ่านออกเสียงดุจเสียงพูดตามธรรมชาติของเขาหรือไม่ ดังนั้นเขาควรพยายามที่จะ แสดงพฤติกรรมทุกประการ นับตั้งแต่การแสดงออกทาง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ให้กลมกลืนกับเรื่องที่อ่านมากที่สุด
ดังที่กล่าวแล้วว่าการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับนี้ จะทำให้ผู้พูดไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางสายตา กับผู้ฟังได้ อันเนื่องจากผู้พูด ต้องละสายตาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา แต่ผู้พูดก็อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยช่วงเวลาที่หยุดเว้นระยะในการพูด ก่อนที่จะอ่าน ข้อความต่อไป ผู้พูดควรเงยหน้าขึ้น มองผู้ฟังก่อนแล้วจึงอ่านต่อไป การกระทำเช่นนี้สำหรับคนเริ่มต้นฝึกหัดใหม่ๆ นับว่ายากมาก แต่เมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วจะเกิดความชำนาญจนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *