การเตรียมการพูด

การเตรียมการพูด
ผู้พูดที่ดีต้องอาศัยการฟังและการคิดเพื่อพัฒนาการพูดของเราให้ดีขึ้น เราต้องรู้จักสังเกตและจดจำ ต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง โอกาสและเวลาที่จะพูดตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะเป็นส่วนทำให้การพูดของเรามีความน่าสนใจมากขึ้น เปรียบเหมือนกับแพทย์ เมื่อคนไข้มาขอรับการรักษา แพทย์จำเป็นต้องสอบถามลักษณะอาการคนไข้และตรวจร่างกายก่อนจึงจะรู้ถึงสมุฏฐานของการเจ็บป่วยนั้นได้ และสามารถสั่งยาหรือรักษาอาการได้ถูก เช่นนี้เป็นการวิเคราะห์ของแพทย์ สำหรับการพูดนั้น การวิเคราะห์เพื่อเตรียมการพูดทำให้รู้ถึงความต้องการของผู้ฟัง รู้ถึงปัญหาที่อาจต้องเผชิญ สามารถกำหนดความถูกต้องเหมาะสมสำหรับการพูดในแต่ละครั้งได้ มีแนวทางดังนี้
๑. การวิเคราะห์ผู้ฟัง จัดเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด เพราะผู้ฟังเป็นองค์ประกอบของการพูดที่มีผลอย่างยิ่งต่อการพูด ข้อมูลในการวิเคราะห์ผู้ฟังทำให้เราสามารถเลือกเนื้อหาถ้อยคำได้เหมาะสมและสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังได้
• อายุของผู้ฟัง ความแตกต่างตามระดับอายุย่อมมีความสนใจฟังในเรื่องที่ต่างกัน ผู้ที่มีอายุมากย่อมมีประสบการณ์มาก มีความโน้มเอียงไปในทางเอาจริงเอาจัง มีเหตุผล มีความสุขุม ส่วนคนหนุ่มสาวอาจชอบความสวยความงาม ด้านเหตุผลก็ลดน้อยลงไป พระยาอนุมานราชธนเคยกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “ฟื้นความหลัง” ถึงนักปราชญ์ผู้หนึ่ง(ลูเครติอุส) กล่าวว่า “ความสุขของเด็กอยู่ที่เล่น ของหนุ่มสาวอยู่ที่รัก ของคนกลางคนอยู่ที่งาน และของคนแก่อยู่ที่ความหลัง”
• เพศของผู้ฟัง ความสนใจของเพศหญิงและเพศชายย่อมแตกต่างกันเสมอ เพศหญิงส่วนใหญ่มักชอบความสวยความงาม ดอกไม้ การเย็บปักถักร้อย การทำอาหาร การฝีมือ แฟชั่น ฯลฯ ส่วนเพศชายชอบเรื่องตื่นเต้น การเผชิญภัย การต่อสู้ การแสดงออก การแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะเรื่องการบ้านการเมือง มีผู้กล่าวไว้น่าฟังว่า “ชายเอาจริงเอาจังในการงาน แต่สำราญในชีวิต ส่วนหญิงสำราญในงาน แต่เอาการในชีวิต”
• จำนวนผู้ฟัง การทราบจำนวนผู้ฟังล่วงหน้า ก็ทำให้ผู้พูดสามารถเตรียมเรื่องได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะปกติมนุษย์รวมกลุ่มกันมากเพียงใด ความเป็นตัวของตัวเองก็ลดน้อยลงเป็นลำดับและเกิดอารมณ์ร่วมของกลุ่มเข้ามาแทนที่ ดังที่เขาเรียกกันว่า “จิตวิทยาฝูงชน” นักการเมืองมักใช้เป็นแนวทางแสวงหาประโยชน์ โดยใช้ผู้ฟังเป็นเครื่องมือสร้างความนิยม ในการ พิจารณาจำนวนผู้ฟังนี้ ผู้พูดควรศึกษาไว้ก่อน ถ้ามีผู้ฟังจำนวนมาก การพูดในครั้งนั้นจำเป็นที่จะ ต้องมีข้อมูลและหลักวิชามาก การที่จะสร้างความเป็นกันเองจะมีอยู่น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีคนจำนวนไม่มาก อาจสร้างบรรยากาศให้มีลักษณะเป็นกันเอง จะทำได้ดียิ่งขึ้น สามารถแทรก อารมณ์ขันได้บ่อยครั้ง
• มาตรฐานการศึกษา การศึกษาไม่ใช่เครื่องวัดภูมิปัญญาของคนทุกคน แต่จะเป็นเครื่องมือที่จะกำหนดหลักโดยทั่วไป ยิ่งมีการศึกษาสูงมาก ย่อมที่จะมีความรู้ความเข้าใจในถ้อยคำที่มีเนื้อหาทางวิชาการมากขึ้น การที่จะพูดจูงใจก็ดี ในระดับผู้ที่มีการศึกษาสูง จำเป็นต้องชักจูงด้วยเหตุผล แต่ส่วนผู้ที่มีการศึกษาน้อย จำเป็นต้องเน้นอารมณ์และความรู้สึกน่าเชื่อถือให้มาก
• อาชีพของผู้ฟัง อาชีพจะมีส่วนช่วยชี้ให้เห็นถึงสภาพทางสังคม ชีวิต ความเป็นอยู่ ประสบการณ์ ความสนใจ ความช่ำชอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พูดได้เตรียมตัวโดยพยายามแฝงสาระในการพูดที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเขาเหล่านั้น
• ทัศนคติของผู้ฟังที่มีต่อเรื่องที่พูด นับว่าจำเป็นมากในการเตรียมการพูด เพราะผู้ฟังจะให้ความสนใจและตั้งใจฟังก็เฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับทัศนคติของตน กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ผู้ฟังจะเชื่อในเรื่องที่ตนเชื่ออยู่แล้ว จะสนใจในเรื่องที่ตนสนใจอยู่แล้ว
• ทัศนคติของผู้ฟังที่มีต่อผู้พูด ผู้ฟังจะให้ความสนใจเชื่อถือการพูดของผู้ที่ตนได้ยินกิติศัพท์มีความเคารพเลื่อมใสมากกว่าการพูดของคนธรรมดา หากผู้ฟังไม่มีความสนิทสนมหรือเคยได้ยินรู้จักผู้พูดมาก่อน จำเป็นที่ผู้พูดควรพยายามสร้างความสนิทสนมในระยะเริ่มพูด
๒. การวิเคราะห์โอกาสและเวลาที่พูด จะช่วยให้ผู้พูดได้รู้ถึงบรรยากาศและความต้องการของผู้ฟังในขณะนั้นด้วย เช่น ในงานมงคล ซึ่งมีบรรยากาศของความรื่นรมย์ยินดีในระหว่างกันและกัน ผู้ฟังก็ย่อมต้องการความรื่นเริงบันเทิงใจมากกว่าความเอาจริงเอาจังหรืออะไรที่เป็นพิธีรีตองจนน่าเบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งการพูดที่ยืดยาดจนเกินความจำเป็น
• โอกาส ก่อนเตรียมการพูด ควรรู้ว่าจะไปพูดในโอกาสอะไร งานฉลองปริญญาบัตร พัดยศ เลื่อนยศ แสดงมุทิตาจิต เพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้เหมาะสม หรือแม้แต่เตรียมการแต่งกายให้เหมาะสม หากมีผู้พูดหลายท่านควรมีข้อมูลว่าคนอื่นพูดเรื่องอะไร จะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องพูดซ้ำกัน
• เวลา ควรเลือกเรื่องที่พูดให้พอดีกับเวลาที่กำหนดไว้ ไม่ควรเลือกเรื่องที่กว้างเกินไป

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *