การศึกษา : “อินเทล” ชงโมเดลรัฐต่อยอดโปรเจคแทบเล็ต

การศึกษา : “อินเทล” ชงโมเดลรัฐต่อยอดโปรเจคแทบเล็ต

ผู้บริหารอินเทลร่วมหารือตัวแทนรัฐ-ภาคการศึกษาทั่วเอเชีย หนุนปฏิรูปการศึกษา พร้อมเจรจารัฐ โชว์โมเดลต่อยอดโครงการแจกแทบเล็ตเป็นแผนระยะยาว

นายจอห์น อี.เดวี่ส์ รองประธานกลุ่มการขายและการตลาด ผู้จัดการทั่วไป อินเทล เวิลด์ อะเฮด โปรแกรม (Intel World Ahead Program) กล่าวภายหลังเข้าร่วมงาน “Asia-Pacific Ministerial Forum on ICT in Education (แอมฟี่) ที่จัดระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย.ที่่ผ่านมาว่า งานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างยูเนสโก กระทรวงศึกษาธิการ และอินเทล เพื่อประชุมหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายการศึกษามากกว่า 20 ประเทศทั่วเอเชีย เน้นการผลักดันนโยบายด้านการศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของแต่ละประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือกับภาครัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน

รวมทั้งเสนอโมเดลการต่อยอดนโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วยเทคโนโลยี เช่น โครงการแทบเล็ตของประเทศตุรกีที่อินเทลได้เข้าไปมีบทบาทออกแบบต้นแบบ เพื่อให้ผู้ผลิตภายในประเทศนำไปใช้ได้ซึ่งเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง

ผู้บริหารอินเทลระบุว่า โครงการลักษณะดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำที่หากมีนโยบายสนับสนุนก็จะกลายเป็นแผนระยะยาวที่มีโอกาสต่อยอดได้ โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนที่อาจได้จากกองทุนพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยูเอสโอ) หรือรายได้ของรัฐจากการประมูล 3จี และโอกาสที่จะสร้างโรงงานผลิตแทบเล็ตเองในประเทศเพื่อลดต้นทุนการจัดซื้อระยะยาว เช่น โมเดลที่โปรตุเกสตั้งโรงงานผลิตแทบเล็ตป้อนตลาดการศึกษาในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

“เรฟเฟอเรนซ์ ดีไซน์ที่ทำให้ตุรกีเป็นสิ่งที่อินเทลเข้าไปช่วยดีไซน์แบบแทบเล็ตให้ตรงกับความต้องการของประเทศเท่านั้น และให้ผู้ผลิตภายในประเทศนำแบบไปใช้ได้ แต่เราก็จะเปิดกว้างให้นำไปใช้กับประเทศอื่นๆด้วย รวมถึงความเป็นไปได้ที่หากไทยจะนำมาใช้งาน โดยดีไซน์ของแทบเล็ตดังกล่าวมีจุดเด่นที่นอกจากจะเป็นจอสัมผัสแล้วก็มีแอคทีฟ สไตลัสที่มีความละเอียดในการเขียนหรือวาดบนหน้าจอ เพื่อใช้เรียนกับจออินเตอร์แอคทีฟที่มีใช้อยู่แล้วทุกห้องเรียน รวมทั้งยังมีดีไซน์ของเครื่องที่ทำมาตั้งแต่เป็นคลาสเมท พีซี หรือพีซีรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะกับความต้องการใช้ที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละประเทศมานำเสนอรัฐบาลไทย” นายเดวี่ส์ กล่าว

อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่า นอกเหนือจากการลงทุนฮาร์ดแวร์ สิ่งที่สำคัญกว่าที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากคือ การทำแผนอบรมครูผู้สอนให้รู้จักวางแผนการสอนและการใช้เทคโนโลยี เพราะเด็กยุคนี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเรียนรู้ได้เร็วกว่า ขณะที่ครูอาจเรียนรู้การใช้งานช้ากว่า แต่สิ่งสำคัญคือการวางแผนการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก

นอกจากนี้ยังควรดูความเหมาะสมของเทคโนโลยี เช่น แทบเล็ตที่มีคุณสมบัติเหมาะกับเด็กเล็กเพิ่งใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้มากกว่า ส่วนเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปอาจเหมาะกับพีซี หรืออุปกรณ์ที่เอื้อต่อการสร้างคอนเทนท์เอง

ที่มา : กรุงเทพฯธุรกิจ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *