การศึกษา : รัฐคลอด “กองทุนตั้งตัวได้” นศ.บัณฑิตใหม่กู้เปิดกิจการ

การศึกษา : รัฐคลอด “กองทุนตั้งตัวได้” นศ.บัณฑิตใหม่กู้เปิดกิจการ

คลอดแล้ว! ระเบียบสำนักนายกฯ จัดตั้ง “กองทุนตั้งตัวได้” ให้ “นิสิตนักศึกษา-บัณฑิตจบไม่เกิน5ปี” กู้เปิดกิจการ

28ต.ค.2555 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนตั้งตัวได้ พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้ในวันหลังจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 26 ต.ค.2555 โดยมีสาระสำคัญคือการจัดตั้ง “กองทุนตั้งตัวได้

โดยระเบียบดังกล่าวให้เหตุผลของการจัดตั้งกองทุนฯ นี้ ว่า เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา หรือบุคคลที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาดังกล่าวมาแล้วไม่เกิน 5 ปีการศึกษา เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนแก่นักศึกษาให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างงาน หรือสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและก่อให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อย โดยอาศัยกลไกของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาดังกล่าว อันจะมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สาระสำคัญของระเบียบนี้ก็คือ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “กองทุนตั้งตัวได้” และให้มี “คณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ (กนต.)” โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกฯมอบหมายเป็นประธาน กนต.และกรรมการอื่นอีก 17 คน

และให้มี “คณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ (กบต.)” โดยประธาน กบต. (มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 3 ปี และต้องไม่ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกัน) จะมาจากการแต่งตั้งโดย กนต. ซึ่งต้องแต่งตั้งภายใน 60 วันนับแต่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ และกรรมการอื่นอีก 9 คน

ทั้งนี้ กองทุนตั้งตัวได้มีวิธีในการสนับสนุนทางการเงินแก่นักศึกษาที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการ 6 ลักษณะ ได้แก่

(1) ให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่นักศึกษา

(2) ทำความตกลงร่วมดำเนินการกับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อหรือสนับสนุนทางการเงินให้แก่นักศึกษา

(3) สนับสนุนให้หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ในการดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบวิสาหกิจ การฝึกอบรมและฝึกปฏิบัตินักศึกษาที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งจัดทำโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน

(4) มอบหมายให้คณะบุคคลหรือบุคคลใดเป็นผู้วิเคราะห์โครงการ จัดทำความตกลงกับสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการสนับสนุนทางการเงินแทนคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในวงเงินหรือตามลักษณะโครงการที่กองทุนกำหนด

(5) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเพื่อช่วยเหลือการประกอบการของนักศึกษา และ

(6) ดำเนินการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินการของกองทุนสำเร็จตามวัตถุประสงค์

โดยขอบเขตการสนับสนุนทางการเงิน และหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับและการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงิน ให้เป็นไปตามที่ กบต.กำหนด

-ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/162/1.PDF

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกฯ เคยกล่าวว่า กองทุนตั้งตัวได้ จะมีงบประมาณปีละราว 5 พันล้านบาท

นายโอฬาร ยังกล่าวว่า โดยกองทุนฯดังกล่าวเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษา และบัณฑิตใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ไม่เหมือนใครและมีโอกาสเติบโตได้ขอยืมเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยจะต้องเสนอแผนธุรกิจที่เป็นรูปธรรมให้คณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาสนับสนุน ซึ่งนักศึกษาสามารถขอความช่วยเหลือในการสร้างและทำแผนธุรกิจ เช่น การจัดทำแผนการตลาด การหาช่องทางการขาย การทำบัญชี การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ จากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษาของตนได้

“การให้ยืมเงินในโครงการกองทุนดังกล่าวจะมาจาก 3 ส่วน (1) การกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐโดยไม่ต้องมีโฉนดค้ำประกัน (2) เงินจากกองทุนฯที่รัฐบาลให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรืออาจไม่คิดดอกเบี้ย และ (3) เงินของผู้ประกอบการเอง” นายโอฬารกล่าว

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *