การมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุธรรม
การมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุธรรม
เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมได้ไปเป็นวิทยากรบรรยาย ให้กับผู้นำในธุรกิจ ของบริษัทขายตรงแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่แถวถนนรัชดาภิเษก โดยผมได้อาศัยรถของผู้ช่วยของผม (เป็นรถยนต์ปิคอัพ โตโยต้า วีโก้ สี่ประตู ราคาเกือบแปดแสนบาท ซึ่งเขาเก็บหอมรอมริบซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขา ได้อย่างน่าชื่นชม โดยเขาซื้อมา ได้สักสี่ห้าปีแล้ว) ระยะหลัง ในการไปบรรยายในที่ต่างๆ ผมเลือกที่จะใช้บริการรถของเขา โดยเขาจะต้องขับรถมารับผมที่บ้านก่อน แล้วก็ต้องมาส่งผมที่บ้าน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันนั้นแล้ว โดยผมก็เต็มใจจ่ายค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมราคารถ และค่าเหนื่อยเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาบ้างตามควร นอกเหนือจากเงินเดือนตามปกติ
ในวันที่ว่านี้ เรามาถึงที่บริษัทนี้ก่อนเวลาเล็กน้อย ปรากฏว่าที่หน้าตึก มีที่จอดรถว่างอยู่หลายช่อง แต่ทว่าทุกช่อง มีที่กั้นรถ กั้นไว้อยู่ทุกช่อง ผมแน่ใจว่าบริษัทที่ผมจะมาบรรยายนี้ เขาจะต้องจัดที่จอดรถไว้ให้วิทยากร ในบริเวณแถวๆ นี้ นี่แหละ ไม่ช่องใด ก็ช่องหนึ่ง เพียงแต่เขาอาจพลาดไปที่ไม่ได้เขียนป้ายติดไว้ว่า “ที่จอดรถวิทยากร” หรือเขียนทะเบียนรถของวิทยากรติดไว้ เหมือนเช่นที่ทุกๆ แห่งเขากระทำกัน ผมจึงลงจากรถ มาเลื่อนที่กั้นออก ผู้ช่วยของผมเขาก็หันหัวรถเข้ามาจอด พอจอดรถ ดับเครื่อง กำลังจะเดินเข้าตึก ก็มี รปภ.ประจำตึก วิ่งออกมา โบกไม้โบกมือ ส่งเสียงโหวกเหวกดังลั่นทีเดียวว่า “จอดไม่ได้! ตรงนี้จอดไม่ได้! ตรงนี้เขาเอาไว้ให้รถเบ๊นซ์จอด!!” ผมจึงบอกเขาไปด้วยน้ำเสียงที่พยายามทำให้เป็นปรกติว่า “ไม่เป็นไรครับ ไม่เป็นไร จะมีไว้จอดรถอะไร ผมก็จอดรถวีโก้ของผมได้ ผมไม่ถือ!!” รปภ.นั้น ทำหน้างงๆ และโกรธๆ เขาเกรงว่าผมอาจจะไม่เข้าใจที่เขาพูด เขาจึงพูดเสียงดังขึ้นอีกว่า “ตรงนี้เป็นที่จอดรถของท่านประธาน! คุณเอารถมาจอดไม่ได้!” ผมยังคงทำสีหน้าเรียบเฉย แต่ก็ยิ้มน้อยๆ บอกเขาไปอีกว่า “โอว..ถ้างั้นก็ดีเลย เพราะว่าผมก็กำลังจะขึ้นไปบรรยายให้บรรดาผู้นำ ซึ่งเป็นคนของท่านประธานนั่นแหละ ท่านก็คงดีใจที่วิทยากร มีที่จอดรถแล้ว จะได้ขึ้นไปบรรยายทัน เพราะนี่ก็จวนได้เวลาเริ่มการบรรยายแล้ว! แต่ถ้าท่านประธานมีปัญหาอะไรเรื่องที่จอดรถ ก็ให้เขาไปหาท่านวิทยากรที่ห้องสัมมนาชั้นห้าก็แล้วกัน!” ดูท่าว่า รปภ.คนนั้น สวรรค์จะส่งมาเกิดเพื่อให้สามารถมีชีวิตได้เพียงเท่านี้ เขายังไม่ยอมลดละ พูดสะบัดเสียงใส่ แม้ผมจะมายืนอยู่หน้าลิฟต์แล้วก็ตามว่า “ถึงอย่างไร คุณก็ต้องไปถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของบริษัทก่อนว่าจะจอดรถรถตรงไหนได้” ผมตอบเขาไปอย่างอารมณ์ดีว่า “ก็นี่ไง กำลังจะขึ้นไปถาม!” แล้วผม กับผู้ช่วย ก็เดินเข้าลิฟต์ที่มาพอดี และประตูลิฟต์ก็เปิดพอดี
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนได้ ผมก็กำลังจะไปบรรยายนี่แหละ แต่เป็นที่รีสอร์ทหรูแห่งหนึ่ง แถวพัทยา ก็เป็นผู้ช่วยของผมคนเดิมนี่แหละ ที่ต้องเป็นโชเฟอร์ ขับรถให้ผม เพียงแต่ตอนนั้น เขายังไม่ได้ซื้อวีโก้ เขายังใช้รถกระบะอีซูซุ รุ่นเก่าเก็บอยู่ เราเกรงว่าด้วยรถอีซูซุนั้น อาจทำให้เราไปถึงที่หมายช้า หรืออาจไปไม่ถึง เราจึงเอารถของผมไป (ไม่ใช่รถเมอร์เซเดส เบ๊นซ์) เมื่อรถไปถึงที่หน้าตึกของรีสอร์ทแห่งนั้น เราก็เห็นมีที่จอดรถว่างมากมาย เขาตีช่องไว้ให้เข้าจอดได้อย่างเป็นระเบียบ และไม่มีที่กั้นใดๆ ไว้เลย ผู้ช่วยของผม เขาก็จัดแจงเสียบรถเข้าไปจอด เราลงจากรถ หยิบสูท หยิบกระเป๋าเอกสาร เตรียมตัวจะขึ้นไปบรรยายที่ห้องสัมมนา ทันใดนั้น ก็มี รปภ.คนหนึ่ง ตรงรี่มาที่เรา พร้อมโบกมือคล้ายกับจะไล่เรา และพูดขึ้นว่า “ตรงนี้จอดไม่ได้ ช่วยเลื่อนรถไปจอดด้านหลังด้วย” ผมจึงถามเขาว่า “อ้าว ทำไมจอดไม่ได้ ก็เห็นตีเส้นแบ่งไว้ให้จอด ก็แสดงว่าเป็นที่จอดรถ แล้วก็ไม่ได้กั้นอะไรไว้เพื่อห้ามจอดอะไรนี่ ที่สำคัญ ก็เห็นที่จอดรถบริเวณนี้ว่างอยู่เยอะแยะ แล้วคุณทำไว้ให้ใครจอดกันล่ะ?” รปภ.ผู้นั้นตอบว่า “บริเวณนี้สำหรับรถของวีไอพีจอดเท่านั้น!!” ผมสูดลมหายใจ ข่มโทสะ และพูดไปกับเขาด้วยน้ำเสียงที่พยายามอย่างที่จะให้เป็นปรกติว่า “งั้นก็โอเคเลย ผมก็น่าจะมีสิทธิ์จอดได้ เพราะผมนี่แหละ วีไอพี.ตัวจริง! ยังไงๆ ถ้าใครมีปัญหาอะไร ก็ให้ไปที่ห้องสัมมนาชั้นสองก็แล้วกัน วีไอพี.จะบรรยายอยู่ที่ห้องนั้น ทั้งวันเลย!!” ตกเย็น หลังการบรรยายเสร็จ เราลงมาที่รถ ช่วยกันสำรวจว่ารถโดนทำร้ายอะไรบ้างหรือเปล่า ยางไม่แบนแน่นะ มีตะปูเรือใบโรยอยู่แถวๆ ล้อรถหรือไม่ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดี เราก็ขับรถออกจากรีสอร์ตแห่งนั้นไป ผมสังเกตเห็นได้ว่า ในตอนที่เราเดินมาที่รถเพื่อจะกลับนั้น เขาได้เอากรวยมาวางกั้นไว้ในช่องจอดเรียบร้อยแล้วทุกช่อง ยกเว้นช่องที่รถผมจอดอยู่ ครั้นพอรถเราเคลื่อนออกมา แทบจะในทันที รปภ.ผู้นั้น ก็รีบเอากรวยมาตั้งกั้นไว้อย่างรวดเร็ว! ผมอมยิ้ม พูดกับผู้ช่วยของผมว่า “ตกลงในวันนี้ ที่รีสอร์ทแห่งนี้ มีวีไอพี.แวะมาเยี่ยมเขาแค่คันเดียวเองว่ะ!!”
จากเรื่องนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองสามปี ถ้านับจากนี้ย้อนไป ก็คงจะร่วมยี่สิบปีแล้วกระมัง ตอนนั้น นอกจากมีอาชีพทำธุรกิจฝึกอบรม และรับจ้างบรรยายแล้ว ผมยังจับพลัดจับผลูไปทำธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์กับเขาด้วย แบบตกบันไดพลอยโจน ตอนนั้นนี่ต้องหมุนเงินชนิดตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตก้นเป็นสว่าน เรียกว่าต้องร่อนกันไฟแล่บเลยทีเดียว จึงจะสามารถทำให้การงานทุกด้านผ่านกระดื๊บๆ ไปได้ โดยไม่ขาดใจตายไปเสียก่อน! โดยสถานภาพ และค่านิยม ของวงการ และของสังคม ทำให้ผม ซึ่งยังไม่สามารถหลุดพ้นเรื่องทางวัตถุเหล่านี้ไปได้มากนัก ต้องมามีความกดดันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องรถยนต์ที่จะใช้ ถ้าเป็นเรื่องบ้านก็ไม่สู้กระไรนัก เพราะเราก็ไม่ต้องเชิญใครมาบ้านก็ได้ ไม่ต้องมีใครมาเห็นบ้านเราได้อยู่แล้ว เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ก็พอกล้อมแกล้มกัดฟันซื้อหามาอวดกับเขาได้ และถ้ารู้จักเลือก บางทีพวกของปลอมก็ตบตาผู้คนได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นเรื่องรถนี่ ไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปหาของปลอมก็ไม่ได้ ตอนนั้น ผมยังไม่พร้อมจะซื้อเมอร์เซเดส เบ๊นซ์ หรือบีเอ็มดับเบิลยู เพราะทุกบาททุกสตางค์ต้องเตรียมเอาไว้หมุนในธุรกิจ ชนิดวันต่อวันเลยทีเดียว ที่จะสามารถทำได้ ก็คือ ต้องตัดใจไปซื้อวอลโว่ ซึ่งอาจเทียบสองยี่ห้อนั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับขี้เหร่ เรียกว่าพอจะยืดอกพกถุงไปเสนอหน้าที่โน่นที่นี่ได้อย่างไม่น่าจะอายใคร ผมเลือกสีแดง รถก็ป้ายแดง ใครเห็นก็วี้ดว้ายกระตู้วู้ ชื่นชมยินดี ว่าแดงทั้งคัน ผมชี้ให้พวกเขาดูในปากของผม และบอกพวกเขาไปว่า “มาดูในปากนี่สิ แดงเถือกกว่าสีรถอีก กัดฟันซื้อมันแทบจะเลือดกบปากแล้ว!!”
หลายคนอาจคิดว่าแค่รถวอลโว่ก็สามารถปิดปากผู้คนได้แล้ว แต่ยังก่อนครับ ท่านต้องฟังเรื่องที่จะเล่านี้ก่อน เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ทุกๆ ปี ผมก็ต้องมีภาระไปหาของขวัญเพื่อไปสวัสดีปีใหม่ แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ ผู้มีอุปการคุณ หลายต่อหลายท่าน ผมพิเคราะห์ดูแล้ว ไม่มีอะไรเหมาะสมเท่ากับการเช่าพระบูชา ในราคาไม่เกินองค์ละหนึ่งพันบาทนี่แหละเหมาะสมที่สุด ล้ำค่าที่สุด ที่จะนำไปมอบ ผมแน่ใจว่าจะไม่มีใครคนใดเลย จะมาบอกว่าไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่มีใครจะสามารถมานินทาว่าร้ายอะไรผมได้ แม้ไม่ชอบ ก็ไม่สามารถโยนทิ้งได้ ที่จะทำได้ก็คือต้องเอาขึ้นหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชาได้เพียงสถานเดียวเท่านั้น หรือแม้ไม่ถูกใจ แล้วจะไปมอบให้ใครต่อ ก็ต้องกระทำด้วยความเคารพเลื่อมใส ต้องประคองอย่างดี ส่งมอบให้เสร็จแล้วก็ยังต้องยกมือไหว้ท่วมหัวเพื่อความเป็นสิริมงคล
มีอยู่ปีหนึ่ง ผมก็ไปเช่าพระเช่นเคย ไปที่วัดๆ หนึ่ง เข้าไปติดต่อกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ ท่านจำผมได้จากรายการทีวีวาที ตอนนั้นดูเหมือนว่าผมจะเช่าพระมาราวๆ ยี่สิบองค์ หลวงพี่รูปนี้ก็เลยต้องช่วยผมหอบหิ้วพระบูชาทั้งหมดนั้นมาส่งที่รถ พอเห็นรถวอลโว่ หลวงพี่ท่านก็อุทานให้ผมปลาบปลื้มปิติสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งว่า “อะไรกันนี่โยม! นี่โยมยังไม่ได้ขี่เบ๊นซ์อีกหรือ? นักพูดคนอื่นเขาขี่เบ๊นซ์กันไปหมดแล้วไม่ใช่หรือ?!?” ผมไม่อยากทำบาป ที่จะไปต่อปากต่อคำกับพระ จึงยิ้มเจื่อนๆ ตอบท่านไปว่า “ผมชอบวอลโว่ครับ!” แต่หลวงพี่ท่านก็ยังไม่เลิกรา ท่านยั่วผมจะให้ผมทำบาปให้ได้ ท่านพูดสวนกลับมาว่า “โอ๊ย วอลโว่สู้เบ๊นซ์ไม่ได้หรอกโยม!!” ผมจึงพยายามข่มใจพูดกับท่านไปว่า “คืองี้ครับหลวงพี่ ที่ผมต้องมาขี่วอลโว่ เพราะผมไม่มีปัญญาขี่เบ๊นซ์ครับ!..แต่ถึงผมจะไม่มีปัญญา ทว่าก็ยังมีสติครับหลวงพี่ หลวงพี่คงไม่รู้ว่าพวกบ้าเบ๊นซ์จนขึ้นสมองหลายคนนั้น แม้จะดูว่ามีปัญญา แต่ทว่าขาดสติครับหลวงพี่ครับ!!” เมื่อท่านได้ยินดังนั้น ท่านก็เดินสะบัดจีวรกลับกุฏิไป
ผมขับรถออกจากวัดนั้นมาด้วยความหดหู่และห่อเหี่ยว นี่แม้แต่พระ ที่น่าจะช่วยให้กิเลสตัณหา รวมทั้งอัตตาของผมเบาบางลง แต่นี่ท่านกลับมาช่วยโหมกระพือกิเลสของผมให้ลุกโชนยิ่งขึ้นไปอีกได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ ผมตัดสินใจในทันทีที่สตาร์ทรถว่า ในเมื่อผมเคยกัดลิ้นซื้อวอลโว่มาแล้ว ก็ยังถูกดูหมิ่นกันถึงเพียงนี้ ผมไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากถึงเวลาแล้วที่จะต้องกัดลิ้นให้ถึงโคนเลย เพื่อจะซื้อรถเบ๊นซ์ให้ได้!! เดชะบุญว่าผมพอจะมีสติรู้ตัว เมื่อใจคอสงบเยือกเย็นลง ผมก็กลับมาเป็นปรกติได้ในเวลาไม่นาน คิดแต่เพียงว่า หรือว่าเราจะเปลี่ยนรถ? เปลี่ยนไปโดยสารรถเมล์ไปเลยรู้แล้วรู้รอด!
เรื่องนี้ ก็ทำให้นึกต่อไปได้อีกถึงอีกเรื่องหนึ่ง คราวนี้ไม่ใช่เรื่องของผม แต่เป็นเรื่องของ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา หรือพี่อี๊ดของผม เมื่อหลายปีก่อนนั้น แม่ว่า ดร.เสรี จะมีรถหลายคัน แต่ท่านยังไม่มีรถเบ๊นซ์เลยแม้แต่คันเดียว วันหนึ่งท่านก็ไปถอยรถ “เลกซัส” (Lexus) ราคาเกือบสี่ล้านมาขับ ท่านบอกว่า ก็ในเมื่อท่านได้บรรยายเรื่องการตลาดมานักหนา โดยให้เน้นเรื่อง “การสร้างความแตกต่าง” (Differentiation) ไว้เป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อท่านจะต้องซื้อรถหรูหราราคาแพง ท่านก็ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าท่านไม่ต้องการทำอะไรตามคนอื่น ด้วยการไปขี่เบ๊นซ์ ขี่บีเอ็มฯ หรือแม้แต่ขี่วอลโว่ ท่านต้องการสร้างความแตกต่างให้ตัวท่านเอง ด้วยการขี่รถที่ไม่เหมือนใคร (สมัยนั้น เลกซัส ยังไม่เป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทย ว่ามันมีศักดิ์ศรีระดับไหน หลายคนไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อเลกซัสด้วยซ้ำไป ซึ่งผิดกับในสหรัฐอเมริกา ในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในยุโรป ที่เลกซัส ขายดีอันดับหนึ่ง เหนือกว่าทุกยี่ห้อ เลกซัสทำให้เบ๊นซ์ และบีเอ็มฯต้องน้ำตาตกไปได้เลยทีเดียว) แต่พี่อี๊ดของผม ขับรถเลกซัสเพื่อสร้างความแตกต่างอยู่ได้ไม่นาน ผมไม่แน่ใจว่าถอดป้ายแดงแล้วหรือไม่ด้วยซ้ำไป ท่านก็ต้องมาเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้ถึงกับสะอึก!
วันหนึ่ง ท่านก็ขับเลกซัสคันดังกล่าวเพื่อไปสร้างความแตกต่าง..เอ๊ย..ไปบรรยายที่บริษัทๆ หนึ่ง พอบรรยายเสร็จ ผู้บริหารของบริษัทนั้นกลุ่มใหญ่ ก็ให้เกียรติท่าน โดยแห่กันมาส่งท่านถึงที่รถ มีผู้บริหารปากเสียคนหนึ่ง พูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “อ้าว! เอ๊ะ! นี่อาจารย์ยังใช้รถญี่ปุ่นอยู่อีกหรือ?!!?” เท่านั้นแหละ พอวันรุ่งขึ้น พี่อี๊ดของผมก็จัดการขายเลกซัสนั้นทิ้งไป แล้วก็ไปถอยเบ๊นซ์ อีคลาส ราคาสี่ล้านกว่าๆ มาขับเลยทันที ผมถามท่านว่า “พี่อี๊ด ไปฟังพวกเขาทำไม ทำไมไม่เป็นตัวของตัวเอง” ดร.เสรี ตอบผมว่า “พี่ทนไม่ได้หรอกวสันต์ พี่ลงทุนไปเกือบสี่ล้าน แต่กลับไม่มีใครรู้จักมันเลย พี่ยอมรับว่าพี่อ่อนไหวกับเรื่องพวกนี้ พี่ทนไม่ได้ที่เขาไม่รู้จักเลกซัส!” หลายวันต่อมา ผมไปเจอกับพรรคพวกคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของธุรกิจรับสร้างบ้าน เขาใช้รถเลกซัส รุ่นเดียวกับ ดร.เสรี โดยเขาซื้อมาก่อน ได้ปีสองปีแล้ว พอเจอหน้าเขา ผมก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง และถามเขาไปว่า “คุณนี่เป็นตัวของตัวเองดีจริงๆ ไม่อ่อนไหวเหมือน ดร.เสรี คุณยังสามารถใช้เลกซัสได้อย่างหน้าชื่นตาบาน แสดงว่าคุณทนได้ แม้จะมีใครไม่รู้จักเลกซัส” เขาตอบผมกลับมาว่า “โอ้ย มันไม่ใช่เรื่องทนได้ หรือทนไม่ได้ ผมไม่สนใจว่าใครคิดอย่างไร ผมสนใจแค่ว่าผมรู้สึกอย่างไร เมื่อผมรู้สึกว่าผมชอบ ผมก็จะทำมัน ผมไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อถามใครต่อใครว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร และที่สำคัญนะ ไอ้พวกที่ไม่รู้จักเลกซัสน่ะ ก็ล้วนแต่เป็นพวกที่ผมก็ไม่ได้อยากรู้จักมันสักเท่าไหร่นักหรอก!!”
ผมเล่าเรื่องพวกนี้มาอย่างยืดยาว ก็เพื่อจะบอกว่า มันเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน ในการมีชีวิตอยู่ในโลกที่ยังบูชาวัตถุ ในโลกที่ต้องอาศัยข้าวของต่างๆ นาๆ เพื่อมาประกาศว่าเราเป็นใคร ขนาดไหน หลายคนที่ผมได้เล่าไป แม้ดูเสมือนว่าก็มิได้ขาดตกพร่องอะไรแล้วกับการหาวัตถุมาแขวนป้ายเพื่ออวดศักดา แต่ก็ยังต้องถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลาว่ามันยังไม่พอ มันยังต้องหาที่แพงกว่านี้ หรูกว่านี้ ใหญ่กว่านี้ ดังกว่านี้ มาเพื่อประกวดประขัน กันต่อไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าเรายังหลงอยู่ในวังวนของการอวดมั่งอวดมีอวดความอัครฐาน เพื่อข่มทับกันไปมาว่าใครเหนือกว่าใครเช่นนี้แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าต่อให้เราครอบครองโลกนี้ไปได้ทั้งหมดแล้ว เรายังจะรู้สึกว่าพอแล้ว เรายังจะรู้เป็นสุขได้หรือไม่? ตราบใดที่เราเอาชีวิตของเราไปห้อยแขวนผูกไว้กับผู้อื่น ให้เขามาบงการชี้นิ้วว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ชี้นิ้วว่าเราควรจะอยู่บ้านหลังไหน แบบไหน ชี้นิ้วว่าเราควรจะใช้รถอะไร ยี่ห้อใด ชี้นิ้วโน่นนี่สารพัด ต่อให้เรามีเงินมากขนาดไหน มีอำนาจมากเพียงใด เราก็ยังต้องเป็น “ทาส” ผู้อื่นอยู่วันยังค่ำ!
โชคดี แม้ว่าผมอาจจะยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ “หลุดพ้น” แล้ว แต่ผมก็แน่ใจว่าผมสามารถ “ข้ามพ้น” เรื่องพวกนี้ไปได้แล้วทั้งหมด ผมมีมาตรฐานชีวิตของผมเอง ผมจะไม่ยอมมีชีวิตด้วยมาตรฐานของคนอื่น หรือแม้แต่ของสังคม ผมสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องไปดิ้นรนหาโน่นนี่มาแขวนป้ายให้ตัวเองเพื่อประกาศให้ผู้คนเขารู้ว่าผมคือใคร? ผมเลิกแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นมานานแล้ว หลังจากระทมทุกข์อย่างหนักกับเรื่องนี้มาหลายปี ผมได้ “ประกาศอิสรภาพ” ให้กับตนเองแล้ว
ท่านทั้งหลายล่ะครับ ประกาศอิสรภาพให้ตัวเองหรือยัง? เรามามีชีวิตอยู่ อย่าง “อิสรชน” กันเถอะ เป็นอิสรชนที่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุได้อย่างสง่างาม ได้อย่างมีความสุข