การพูดในที่ชุมนุมชน

การพูดในที่ชุมนุมชน
นอกจากปากจะทำหน้าที่ “กิน” เหมือนสัตว์ทั่วไปแล้ว ปากยังทำหน้าที่อันวิเศษอันหนึ่งเหนือสัตว์อื่นคือ “การพูด” แต่นั่นก็เป็นเพียงความวิเศษที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้มนุษย์ทุกผู้อย่างเท่าเทียมกัน สิ่งต่างที่ธรรมชาติไม่ได้สร้างไว้ให้มนุษย์ด้วยคือ “คำพูด” และคำพูดที่เปล่งออกมาจากปากนี้เองจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณค่าและความคิดของเรา ที่จะทำให้พวกเราแต่ละคนแตกต่างกัน
แน่นอนว่าเราย่อมปรารถนาให้คำพูดแต่ละคำที่เปล่งออกจากปากของเราเป็นคำพูดที่มีคนฟัง เป็นคำพูดที่มีคนยอมรับ เชื่อถือ และประทับใจ พวกเราจึงได้โคจรมาพบกันในชั้นเรียนกระบวนวิชาการพูดแห่งนี้ยังไงล่ะคะ เรามาที่นี่เพราะเราทุกคนตระหนักดีว่า เรายังพูดได้ไม่ดี เราจึงมาที่นี่เพื่อปรับปรุงวิธีการพูดของตัวเราให้ดีที่สุด และในฐานะที่ดิฉันก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการเรียนวิชานี้ ดิฉันจึงอยากนำเสนอ “วิธีการพูด” ที่ดิฉันได้ค้นคว้าและรวบรวมมาตาบแบบฉบับที่ดิฉันเห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อการพูดของพวกเราค่ะ
สิ่งสำคัญของการพูดที่ดิฉันจะพูดถึงเป็นอันดับแรก คือ เนื้อหาสาระ เพราะเนื้อหาของคำพูดเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ ความคิด และตัวตนของเราเอง เราจึงควรให้ความสำคัญต่อเนื้อหาของคำพูดมาก ๆ เราต้องเชื่อมั่นว่าคำพูดแต่ละคำที่เราเปล่งออกไป มันจะเป็นคำพูดที่ดี มีพลัง มีสาระ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ฟังได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการสั่งสมและฝึกฝนค่ะ
ดิฉันมีคำแนะนำค่ะ แต่เพื่อน ๆ จะต้องหมั่นปฏิบัติให้เป็นชีวิตประจำวันเลยนะคะ คือ….
๑. การเป็นนักอ่านที่ดี อย่างน้อยเราควรอ่านหนังสือพิมพ์วันละฉบับก็ยังดีนะคะ เราควรทำตัวให้เป็นผู้ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่เสมอ มันจะทำให้เรามีเรื่องสนทนา มีเรื่องพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน จะได้ไม่กลายเป็นคนตกข่าวไงล่ะคะ การอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้เรามีความคิดเป็นแก่นสารขยายกว้างออกไป เริ่มจากหนังสือที่เราสนใจก่อนสิคะ คงไม่ใช่การ์ตูนอย่างเดียวนะคะ หนังสือดีมีสาระอื่น ๆ ค่ะ อ่านให้เป็นนิสัย จะทำให้เรามีความรู้รอบ และเรายังได้ถ้อยคำดี ๆ คำคม หรือแง่คิดต่าง ๆ เป็นกำไรในการพูดได้อีกด้วยค่ะ
๒. เมื่อเราจะเป็นนักพูดที่ดี เราก็ควรเป็นนักฟังที่ดีเช่นกันค่ะ เพราะในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฟัง เพื่อน ๆ เคยสังเกตตัวเองไหมคะว่า ในแต่ละวันนั้นเพื่อน ๆ ได้รับฟังอะไรมาบ้าง สิ่งนั้นมันก่อให้เกิดความคิด ความรู้สึกต่อเราอย่างไร มันมีประโยชน์หรือให้โทษต่อเราไหม ที่ดิฉันถามอย่างนี้ก็เพราะอยากให้เพื่อนลองสังเกตดูค่ะว่า เพื่อน ๆ จำมันได้ไหม และทำไมเพื่อน ๆ ถึงจำมันได้และไม่ได้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า เพื่อน ๆ มีวิธีการเลือกรับสิ่งที่ได้รับฟังมา ทั้งหมดนี้มันอาจจะทำให้เราให้เข้าใจคนฟังมากขึ้นก็ได้นะคะ
๓. สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การเป็นนักคิดที่ดีค่ะ เราพูดถึงการอ่านและการฟังไปแล้ว แน่นอนค่ะ กระบวนการที่จะเกิดขึ้นก็คือ การคิด ผู้รู้จักคิดวิเคราะห์เท่านั้นค่ะจะสามารถหาเนื้อหาสาระได้ การคิดมีความสำคัญมากในการพูดนะคะ นอกจากมันจะทำให้เราเป็นคนมีเรื่องพูดมากมายแล้ว ความคิดที่ดียังทำให้ผู้ฟังเชื่อถือและยอมรับเราได้ ฉะนั้นในการพูดแต่ละครั้งต้องผ่านการคิดโดยมีสติเป็นตัวกำกับ คิดอย่างใจจดใจจ่อในที่เรื่องที่พูดอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเรามีเนื้อหาสาระสะสมเป็นอาวุธสร้างความมั่นใจให้เราได้ระดับหนึ่งแล้ว พวกเราก็เตรียมพร้อมกับการพูดได้แล้วละค่ะ
ขั้นต่อไปที่ดิฉันจะพูดถึงก็คือ การรู้จักถ่ายทอดโดยการพูด เพราะการที่เรามีความรู้ แต่ไม่รู้จักการถ่ายทอดความรู้ มันก็เหมือนดั่งพระราชนิพนธ์เรื่อง “วิวาห์พระสมุทร” ของพระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
ถึงเป็นครูรู้วิชาปัญญามาก
ไม่รู้จักใช้ปากให้จัดจ้าน
เหมือนเต่าฝังนั่งซื่อฮื้อรำคาญ
วิชาชาญมากเปล่าไม่เข้าที
การถ่ายทอดที่ดีต้องมีวิญญาณของผู้ถ่ายทอดค่ะ หากจะเปรียบการพูดเหมือนชีวิต วิญญาณมนุษย์ก็เป็นแก่นกำเนิดของเนื้อหนังและชีวิตมนุษย์ วิญญาณการพูดก็เช่นเดียวกันค่ะ เป็นแก่นกำเนิดของเนื้อหาสาระและความมีชีวิตชีวาของการพูด วิญญาณการพูดเกิดขึ้นได้อย่างที่ เดล คาร์เนกี้ กล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่ท่านจะต้องพูด จงสลัดความเฉื่อยเนือยของท่านทิ้งเสีย จงทุ่มเทหัวใจของท่านลงในงานนี้ ขุดมันขึ้นมา ค้นหาขุมกำลังที่ยังมิได้นำออกมาใช้ ซึ่งฝังอยู่ในตัวท่าน สืบเสาะข้อเท็จจริงและสาเหตุเบื้องหลังข้อเท็จจริงเหล่านั้น จงมีสมาธิ จงเพ่งพิจอยู่ที่ข้อเท็จจริง คร่ำเคร่งอยู่กับข้อเท็จจริง ตราบมันกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญแก่ท่าน” นั่นคือ “จงพูดจากใจ พูดขึ้นใจ พูดด้วยความตั้งใจ และพูดจนสุดใจ โดยการคิด คิด คิด และคิด”
คิดดูสิคะ คนฟังจะรู้สึกดีแค่ไหนหากได้ฟังในสิ่งที่มาจากวิญญาณ ความจริงใจ และความคิดที่มาจากตัวตนของเรา
ไม่เพียงแต่วิญญาณที่เราต้องใส่ไปกับการพูดเท่านั้นนะคะ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ ผู้ฟัง ค่ะ เพราะหากไม่มีผู้ฟังแล้ว ผู้พูดก็คงไม่มีความหมายอะไร ผู้ฟังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพูดนะคะ การพูดจะได้รับความสำเร็จมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ผู้พูดสามารถเลือกเรื่องที่จะพูด เนื้อหาที่จะพูด การผสมจิตวิทยาลงในการพูด การใช้ข้อความและถ้อยคำที่จะพูด รวมทั้งวิธีการที่จะแสดงออกมาให้เหมาะสมกับผู้ฟัง และหากการพูดประสบความล้มเหลว นั่นก็ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้พูดเพียงฝ่ายเดียวนะคะ
ดิฉันขอยกตัวอย่างหลักการพูดที่ทรงสัมฤทธิภาพที่สุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นนักเทศน์หรือนักสอนที่ดีเลิศของโลก เราก็คงทราบกันดีว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และหลักธรรมของพระองค์นั้นมีความกว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งและซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจถ่องแท้ แต่พระองค็ก็ยังทรงสามารถประกาศพระธรรมให้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วในสมัยนั้นได้อย่างน่าพิศวง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากทรงเป็นพระสัพพัญญูในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญ การวิเคราะห์ผู้ฟังได้ดียิ่งค่ะ เพราะนอกจากจะทรงเลือกสั่งสอนตามความต้องการและภูมิปัญญาของบุคคลแล้ว พระองค์ยังทรงมีหลักและวิธีการสอนที่สามารถดัดแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เวลา และสิ่งแวดล้อมทั่วไปได้อย่างดีที่สุด
ในเรื่องการวิเคราะห์คนฟังนี้นะคะ อย่างน้อยที่สุด ให้เราคิดไว้เสมอว่า อย่าเอาตัวเราเป็นที่ตั้ง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นดีที่สุดค่ะ
หลักในการพูดสุดท้ายที่ดิฉันจะนำเสนอก็คือ การรู้จักยอมรับฟังคำวิจารณ์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยค่ะที่ชั้นเรียนวิชาการพูดของเราก็มีบรรยากาศของการวิจารณ์เกิดขึ้นด้วย เพราะในชีวิตประจำวันของเราก็มีน้อยเหลือเกินใช่ไหมคะที่จะมีคนวิจารณ์เราได้อย่างจริงใจ การที่เรามาฝึกพูดกันในห้องนี้ และมีโอกาสพูดถึงข้อดีข้อเสียของการพูดซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็เป็นกระจกอย่างดีที่จะสะท้อนตัวเราออกมา จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร มีสิ่งดี ๆ ก็จะได้เก็บและทำให้มันดียิ่งขึ้นต่อไป สิ่งใดที่ยังไม่ดีพอก็จะได้ปรับปรุงให้ดีที่สุด
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพูดที่ดิฉันเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ จึงค้นคว้ามานำเสนอกัน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี เช่นเดียวกับการพูด ที่เป็นเหมือนดาบสองคม จะสร้างสรรค์หรือทำลายก็อยู่ที่ตรงนี้แหละค่ะ เรื่องราวของคนคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของคำพูดที่มีเหนือสิ่งอื่นใด คนคนนั้นคืออีสป นักเล่านิทานระดับโลกผู้ที่เคยดังก้องอยู่ในหัวใจเพื่อน ๆ สมัยยังละอ่อนไงล่ะคะ เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่า ก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นนักเล่านิทานผู้ยิ่งใหญ่ อีสปเคยเป็นทาสมาก่อน แต่ด้วยความที่เป็นนักพูด ผนวกกับเรื่องราวที่งดงามของเขา จึงทำให้เขารอดพ้นจากความเป็นทาส และกลายมาเป็นนักเล่านิทานชื่อก้องโลกมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง…สมัยที่อีสปยังเป็นทาส นายใช้ให้ไปหาซื้ออาหารที่ดีที่สุดมาให้นายรับประทาน อีสปซื้อ “ลิ้นโค” มาให้นายวันแล้ววันเล่าจนนายนึกประหลาดใจ จึงถามอีสปว่า “เจ้าเห็นลิ้นโควิเศษอย่างไรถึงได้ซื้อมาให้ข้ากินทุกวัน” อีสปตอบว่า “อันธรรมดาว่าลิ้นย่อมประเสริฐสุด เรารักกันก็เพราะลิ้น เราช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็เพราะลิ้น ลิ้นเป็นสิ่งที่มีอานุภาพสำหรับเชื่อมความสัมพันธ์และทำให้โลกนี้เป็นที่รื่นรมย์ ด้วยเหตุนี้เอง ลิ้นจึงเป็นของที่ดีที่สุด” เมื่อนายได้ฟังคำอธิบายของอีสปก็นึกสนุกและออกคำสั่งใหม่ว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ให้เจ้าไปหาซื้อของที่เลวที่สุดมาให้ข้ากิน” เพื่อน ๆ ลองทายดูซิคะว่า คราวนี้อีสปจะซื้ออะไรให้เจ้านายกิน… อีสปไม่ได้ซื้ออาหารอื่นใด หากแต่เป็น “ลิ้นโค” เช่นเดิม ครั้นนายถาม อีสปก็ตอบอีกว่า “อะไรในโลกจะเลวไปกว่าลิ้นเป็นไม่มี คนเราเกลียดชังกันก็เพราะลิ้น ทุกข์ทรมานสารพัดอย่างก็เพราะลิ้น และด้วยเหตุนี้ ลิ้นจึงนับว่าเป็นของเลวที่สุด”

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *