การพูดแบบเล่าเรื่อง
การพูดแบบเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่อง เป็นการถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์ ความรู้สึก ความต้องการ และเจตนารมณ์ต่าง ๆ ของผู้เล่า เพื่อให้ผู้ฟังรับรู้และเกิดปฏิกริยาต่าง ๆ เป็นการตอบสนองที่มีสัมฤทธิผลตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้เล่า
วัตถุประสงค์ของการพูดแบบเล่าเรื่อง
๑. เพื่อให้ความรู้ โดยผู้เล่าเป็นผู้ให้ความรู้ มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องที่เล่า
สามารถ อธิบายหลักเกณฑ์หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้
๒. เพื่อให้เกิดจินตนาการแก่ผู้ฟัง โดยผู้เล่าต้องใช้คำพูดและเสียงประกอบให้ผู้ฟังใช้
ความคิด สร้างจินตนาการและนึกเห็นภาพราวกับสัมผัสด้วยตนเอง
๓. เพื่อให้ความบันเทิง โดยผู้เล่าต้องสอดแทรกอารมณ์ ความรู้สึกให้เข้ากับเนื้อเรื่อง
เพื่อให้ผู้ฟังผ่อนคลายความตึงเครียด สนุกสนาน ตื่นเต้น และได้รับความเพลิดเพลิน
๔. เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมไปในทางที่ดี โดยผู้เล่าควรใช้ถ้อยคำ
แสดงความหนักแน่น ใช้สุภาษิตคำคม การเปรียบเทียบหรือเหตุการณ์จริงประกอบให้ชัดเจน
๕. เพื่อการสั่งสอนอบรม โดยผู้เล่าต้องใช้สาธกโวหาร และอุปมาอุปไมยโวหารมา
ประกอบให้ผู้ฟังเห็นจริง เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดไปในทางที่ดี
๖. เพื่อแสดงความคิดเห็น โดยผู้เล่าควรมีประสบการณ์และมีข้อมูลมาประกอบ
ให้ถูกต้อง การเล่าลักษณะนี้จะมีการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ
วิธีพูดแบบเล่าเรื่องอาจทำได้ดังนี้
๑. ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายก่อนว่าต้องการให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อะไร แล้วเลือกเรื่อง
ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
๒. เตรียมเรื่องโดยวางเค้าโครง ลำดับใจความ เตรียมสำนวนภาษา การใช้คำพูด
ท่าทาง เสียง และสื่อประกอบการเล่าเรื่อง
๓. วางแผนการเล่าโดยมีการเริ่มเรื่อง ดำเนินเรื่องและจบเรื่อง เพื่อให้เกิดการติดตามฟัง
๔. ควรจัดบรรยากาศในการเล่าเรื่องให้เหมาะสม
๕. ดึงความสนใจของผู้ฟังให้มีส่วนร่วม เช่น การซักถาม เป็นต้น
๖. มีการใช้เสียงเร้าความสนใจ เช่น การทอดเสียง การเน้นจังหวะ การเน้นคำ
การใส่อารมณ์ เป็นต้น
๗. มีการประเมินผลการฟัง โดยการซักถาม หรือตั้งคำถามให้ผู้ฟังร่วมกันตอบ