การพูดระหว่างบุคคล

การพูดระหว่างบุคคล
การพูดระหว่างบุคคลเป็นการพูดที่ไม่เป็นทางการ ปกติทั้งผู้พูดและผู้ฟังมักไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน ไม่จำกัดสถานที่และเวลา เนื้อหาไม่มีขอบเขตจำกัดแน่นอน แต่เป็นการพูดที่เราต้องใช้มากที่สุด และควรศึกษาฝึกฝนให้ใช้การได้คล่องแคล่ว การพูดระหว่างบุคคล มีดังนี้
การทักทายปราศรัย
การทักทายปราศรัย มักจะกล่าวคำ ” สวัสดี ” เป็นการเริ่มต้น การใช้คำพูดต้องไม่ล่วงล้ำก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น นอกจากนี้ การทักทายที่ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ ก็ไม่ควรกระทำ การทักทายปราศรัยควรปฏิบัติดังนี้
๑. ยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความรู้สึกยินดีที่ได้พบผู้ที่เราทักทาย
๒. กล่าวคำปฏิสันถาร หรือทักทายตามธรรมเนียมนิยมที่ยอมรับกันในสังคม เช่น “สวัสดีครับ…” “สวัสดีค่ะ….”
๓. แสดงกิริยาอาการประกอบคำปฏิสันถาร กิริยาอาการที่แสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับฐานะบุคคลที่เราทักทาย ถ้าเป็นบุคคลที่มีฐานะเสมอกัน ก็อาจเพียงเป็นการยิ้มและผงกศีรษะเล็กน้อยซึ่งเรามักทำโดยไม่รู้ตัว การจับมือกันแบบตะวันตกหรือจับแขนหรือตบไหล่เบาๆ ก็เป็นสิ่งที่พอจะทำได้ ถ้ารู้จักกันดี ในการทักทายนั้น เราควรยืนให้ห่างคู่สนทนาในระยะที่เหมาะสม
๔. ข้อความที่ใช้ประกอบการทักทาย ควรเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย
การแนะนำตนเอง
การแนะนำตนเอง มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะเราต้องมีการพบปะกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ บุคคลแนะนำตนเองได้ในหลายโอกาสด้วยกัน คือ
๑. การแนะนำตนเองในที่สาธารณะ ก่อนที่จะแนะนำตัว มักจะมีการสนทนาพื้นๆเริ่มก่อน ในวัฒนธรรมไทยไม่ค่อยจะแนะนำตนเองตรงๆ แต่จะเริ่มต้นด้วยสีหน้าท่าทางที่แสดงความเป็นมิตร ช่วยเหลือกันก่อนแล้วจึงแนะนำตนเอง สีหน้าท่าทางแสดงความยินดีที่ได้รู้จักคู่สนทนา
๒. การแนะนำตนเองในการทำกิจธุระ ต้องนัดหมายล่วงหน้า ควรแต่งกายให้เรียบร้อย ไปให้ตรงตามนัด เมื่อพบบุคคลที่นัด ควรบอกชื่อ นามสกุลให้ชัดเจน สุภาพ เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากนั้นก็ควรบอกกิจธุระของตน หรืออาจบอกกิจธุระก่อนก็ได้
๓. การแนะนำตนเองในกลุ่มย่อย ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักกัน เมื่อเริ่มประชุมควรแนะนำตนเองก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง จะได้แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมประชุมได้อย่างสะดวกใจ การแนะนำตนเองก็เพียงบอกชื่อ นามสกุล สถาบันที่ตนสังกัดให้ได้ยินทั่วกัน เมื่อแนะนำตนเองแล้ว คนอื่นก็จะแสดงกิริยาต้อนรับ

การสนทนา
การสนทนา เป็นกิจกรรมที่บุคคลสองคนขึ้นไป พูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ การสนทนามีกฎเกณฑ์ตายตัวที่จะต้องปฏิบัติตาม มนุษย์จึงควรที่จะปรับปรุงพฤติกรรมการสนทนาให้เหมาะสมกับสมัยและสังคม
๑. การสนทนาระหว่างบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย การสื่อสารชนิดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ การสนทนาที่ดีจะนำความราบรื่น ความเจริญ และความสุขมาให้ ดังนั้นการสนทนาระหว่างบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย ควรจะคำนึงถึงเรื่องสนทนาและคุณสมบัติของผู้ร่วมสนทนา โดยใช้คำให้คุ้นเคยและสุภาพ เรียบง่าย เข้าใจง่าย และควรรู้ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด
๒.การสนทนากับบุคคลแรกรู้จัก หัวข้อเรื่องที่นำมาสนทนาควรเป็นเรื่องทั่วๆไปเช่น เรื่องดินฟ้าอากาศ และข่าวสารต่างๆ ต้องสำรวมถ้อยคำ กริยา มารยาท และควรสังเกตว่า คู่สนทนาชอบพูดหรือชอบฟัง ถ้าสังเกตว่าชอบพูด เราก็ควรเป็นฝ่ายฟัง และพูดให้น้อยลง ถ้าสังเกตว่าชอบฟัง ก็ควรหาเรื่องมาคุยด้วย วิธีการเช่นนี้จะช่วยทำให้การสนทนาดำเนินไปได้ด้วยดีและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *