การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการลงทุนในประเทศจีน
การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการลงทุนในประเทศจีน
ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานโลจิสติกส์ของประเทศจีน เมื่อปลายเดือน มีนาคม 2548 เห็นว่ามีประเด็นที่สนใจหลายเรื่อง โดยปัจจุบันจีนได้มีการตื่นตัวในการพัฒนาระบบ Logistics ที่จีนเรียกว่า “อู้หลิว” โดยต้นทุนโลจิสติกส์ของจีนไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน คาดว่าจะอยู่ที่ 20-30% ต่อ GDP ซึ่งยังสูงกว่าประเทศไทย ขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 7-10% ของ GDP แต่การที่สินค้าของจีนยังครองตลาดได้ดีอยู่ก็เพราะปัจจัยค่าแรงของจีนยังมีต้นทุนที่ต่ำมาก จึงสามารถชดเชยกับการที่มีต้นทุนที่สูงของโลจิสติกส์ ปัจจุบันจีนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยภาครัฐได้มีบทบาทในการวางนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศ โดยมีหน่วยงานในการวางยุทธศาสตร์และดูแลการพัฒนาทั้งระบบ เช่น โครงการ Look South , Lanchang Economic Belt ,China E-Port Data Center หรือโครงการ Digital Trade & Transport Network ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านหยวน ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของจีน ในเรื่องของการสร้างความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ของจีนนั้น ประกอบด้วย ทางรถไฟ ยาวถึง 70,058 กิโลเมตร และมีโครงการที่จะเชื่อมต่อกับ Trans Syberia (ทรานส์ไซบีเรีย) ไปจนถึงกรุงมอสโค โดยมีระบบรางถึง 3 แบบ คือ 1.435 เมตร , 1 เมตร และ 0.75 เมตร สำหรับเส้นทางถนนทั่วประเทศ ยาวถึง 1,402,698 กิโลเมตร และมีเส้นทางสัญจรทางน้ำ ยาวถึง 121,557 กิโลเมตร รวมถึงท่อส่งแก๊สเป็นระยะทางยาว 15,890 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำมันยาว 14,478 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่รวมโครงการก่อสร้างท่อน้ำมันจากมาเลเซียผ่านภูเก็ต-พม่า จนถึงเมืองเชียงรุ่ง ทั้งนี้จีนมีท่าเรือแนวฝั่งทะเลตะวันออกถึง 20 แห่ง มีกองเรือเดินทะเลประมาณ 1,850 ลำ และสนามบินอีก 507 แห่งทั่วประเทศ โดยแนวคิดของผู้ประกอบการจีน เกี่ยวกับการนำระบบ โลจิสติกส์มาใช้นั้นเริ่มมีการตื่นตัว แต่การใช้งานจริงอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ของโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการใช้ Outsourcing Logistics เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างขัดกับแนวคิดแบบเก่าของผู้ประกอบการชาวจีน
ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน คือ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศสูงมาก อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศจีนยังมีลักษณะแยกส่วนกันอยู่ แต่ละรายก็จะมีมาตรฐานการทำงานของตนเอง และระบบการกระจายสินค้าที่ยังไม่สมบูรณ์ มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า รวมทั้ง การขาดแคลนบุคลากรทางด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ของประเทศจีน ซึ่งได้แก่ความล่าช้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ WTO ประเทศจีนจำเป็นต้องหาหนทางที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO ในขณะเดียวกันก็สร้างมาตรการ NTB : Non Tariff Barrier เพื่อกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ขัดกฎของ WTO โดยการสร้างอุปสรรคที่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการกีดกันการนำเข้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการด้านเอกสารและเพิ่มต้นทุนในการนำเข้า การกระจายสินค้าภายในประเทศมีกฎระเบียบจำนวนมาก ซึ่งแต่ละมณฑลก็จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ หากต้องการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนและมีการขายสินค้า ให้ครอบคลุมหลายมณฑล ต้องขอใบอนุญาตแต่ละมณฑลเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ รวมทั้ง อุปสงค์และอุปทานของจีนเป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ยาก เพราะเป็นประเทศที่ตลาดมีพลังขับเคลื่อนที่เป็นแบบทวิลักษณ์ คือ มีการเพิ่มอุปสงค์ส่วนเกินในตลาดอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางพื้นที่ก็จะมีอุปสงค์ที่ไม่พอเพียง คือ Demand และ Supply ในตลาด มีทั้งส่วนเกินและขาดในเวลาเดียวกัน ซึ่งเกิดจากปัญหาการกระจายรายได้ โดยการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์และอุปทานจะเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบ เพราะประชาชนมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะยากจน และมีการเคลื่อนย้ายไป-มา
ต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศจีนสูงกว่าประเทศในตะวันตกเป็นอย่างมาก แต่ละอุตสาหกรรมก็มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจีนสูงกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ด้วยปัจจัยด้านค่าแรงต่ำและการพัฒนาของจีน ทำให้เศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตสูงติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี โดยสาเหตุของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลมาจากตลาดรวมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการของตลาดภายในที่มีจำนวนถึง 1,300 คน ธุรกิจในประเทศจีนมีการแข่งขันด้านต้นทุนมากที่สุด ดังนั้น นักลงทุนไทยที่จะไปดำเนินธุรกิจในจีนแบบยั่งยืนจะต้องเป็นธุรกิจหลักที่ตนเองมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ อุปสรรคในการประกอบธุรกิจในประเทศจีน จะต้องสามารถคำนวณความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องสามารถมองเห็นความล้มเหลวที่เลวร้ายที่สุดไว้ล่วงหน้า เพราะโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจในจีนจะมีมาก ระบบทุนนิยมของประเทศจีน ไม่ได้อาศัยกลไกการตลาดมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงระบบการผลิต สินค้าซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นพื้นฐานจะถูกควบคุมราคาโดยรัฐบาลจีน การผลิตในจีนยังเน้นปริมาณการผลิตสูง เพื่อให้ราคาต่อหน่วยต่ำ สินค้าจีนจึงมีราคาถูก จีนมีการผลิตสินค้า Low Grade ซึ่งผลิตให้สำหรับคนในประเทศจีนใช้ ที่เหลือจึงส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ ถึงแม้ว่าค่าแรงของการผลิตในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้น สินค้าจากประเทศไทยตามข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน ก็ไม่มีทางไปแย่งตลาดได้
กล่าวได้ว่า จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยืนอยู่บนทางสองแพ่ง ในการที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับจีน ซึ่งไม่ควรเปรียบเทียบเป็นเชิงตัวเลขการนำเข้า-ส่งออก เพราะธุรกิจไทยที่ได้ประโยชน์กับการค้ากับจีนมีไม่มาก แต่คิดเป็นมูลค่าสูง แต่ธุรกิจย่อยและเกษตรกรรวมถึงแรงงานที่จะตกงานมีจำนวนมาก ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ตกอยู่ในกับดักในการแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ และมีปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจสูงกว่าไทย ทั้งอำนาจการเมืองระหว่างประเทศ , เศรษฐกิจและการทหาร การกำหนดทิศทางเดินของไทย ที่จะให้พ้นจากกับดักนี้ ก็จะต้องศึกษาจากนโยบายทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศแบบทวิลักษณ์ (Dual Policy) คือ การเมืองปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ภาคเศรษฐกิจเป็นระบบตลาด ดังนั้นต้องเข้าใจว่าระบบตลาดของจีน ไม่เหมือนกับประเทศอื่น เพราะเป็นตลาดภายใต้การบงการและครอบงำโดยรัฐ ดังนั้น การศึกษาและประเมินนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนจากสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการและวางแผนให้สอดคล้องกันจะเป็นสิ่งที่จำเป็น..
ที่มา คุณธนิต โสรัตน์