การบริหารความเครียด

การบริหารความเครียด
27/2/2549
บทนำ
ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ผู้คนจำนวนมากต้องพบกับความเครียด ความเครียดที่ว่านี้อาจเป็นความเครียดที่เกิดจากปัญหาชีวิตประจำวัน ความเครียดจากการทำงาน ความเครียดจากการดำเนินชีวิต
สำหรับนักจิตวิทยาบริหารแล้วมองว่า ความเครียดเป็นทั้งมิตรและศัตรู ถ้ารู้จักจัดการได้ถูกต้อง ความเครียดก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลผลิตได้ แต่ถ้าจัดการไม่ได้ ควบคุมไม่ดี ก็มีแต่ความหายนะมาเยือน
บทความหนึ่งในนิตยสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว พูดถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์และทำลายของความเครียดได้อย่างน่าสนใจ บทความดังกล่าวบอกในทำนองว่า องค์กรใดไม่มีความเครียดอยู่เลยก็จะไม่มีแรงกดดันให้คิด ให้สร้างสรรค์ และบอกว่าผู้จัดการบริษัทจำนวนไม่น้อยทำให้ตัวเองมีแรงกดดันไม่พอ ยังทำให้ทีมมีแรงกดดันด้วย เพราะเชื่อว่า แรงกดดันจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
ความเครียดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ หากไม่มีเสียเลย ก็จะไม่มีวันที่จะบรรลุเป้าหมายได้ แต่ถ้าเครียดมากไป แทนที่จะได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะพังทลายได้
นิตยสารเพื่อคอนักบริหารฉบับนี้ อ้างถึงงานวิจัยของสำนักงานความปลอดภัยและสุขภาพลูกจ้างแห่งชาติ (NIOSH) ที่สำรวจพบว่า พนักงานร้อยละ 40 มักจะรู้สึกว่า พวกเขามีงานล้นมือ อยู่ในภาวะที่กดดัน กังวล เครียด และป่วย ซึ่งนับวันจะยิ่งเลวร้ายลง อันเป็นผลมาจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของธุรกิจ ตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างตั้งตัวไม่ติด และสารพัดข่าวร้ายที่ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ได้ทุกวัน
สิ่งที่คนทั่วไปยังไม่รู้กันก็คือ ความเครียดมีทั้งชนิดดีและเลว (เหมือนไขมัน) ความเครียดชนิดดี เรียกว่า “eustress” เป็นความเครียดที่นักจิตวิทยาบอกว่า เครียดแบบสร้างสรรค์ เป็นความเครียดที่ให้พลังงานและแรงจูงใจให้ดิ้นรนต่อสู้ และทำให้บังเกิดผล ความเครียดแบบนี้ พบได้ในหมู่นักกีฬาที่มีความสามารถเก่งกาจ ศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ และคนที่ประสบความสำเร็จสูงทุกสาขาอาชีพ คนที่สามารถบรรลุข้อตกลงธุรกิจสำคัญ ๆ หรือกลับมาอ่านรายงานผลการดำเนินงาน ที่ประสบความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาก็จะเกิดแรงใจ เกิดปัญญา และคิดสร้างสรรค์
วิธีการแก้ปัญหา
เมื่อเผชิญกับความเครียดดังกล่าว ปรมาจารย์จากฮาร์วาร์ดท่านหนึ่งแนะนำไว้ 4 ขั้นตอน
ขั้นแรก
ให้เอาปัญหามาวิเคราะห์ หรือรวบรวมข้อเท็จจริงของปัญหาทั้งหมดมาดู แล้วเลือกพินิจพิเคราะห์เจ้าตัวของปัญหา ที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก หรือปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขให้เสร็จ ขืนปล่อยต่อไปสิ่งที่คิดว่าเป็นความเครียด ที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ จะกลายเป็นตัวทำลายความมั่นใจในการทำงาน
ขั้นที่สอง
พอมาถึงจุดของปัญหาแล้ว ให้ดูว่า เรารู้สึกหมดสนุกที่จะทำให้เกิดผลงานหรือยัง หรือเริ่มเกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว เช่น กังวล หวาดกลัว โกรธ หรือเบื่อ ถ้าถึง ณ จุดนี้แล้ว ให้เดินหนีปัญหาไปเลย ไปทำอย่างอื่น อะไรก็ได้ที่ตนชอบ เช่น เดินเล่น จ๊อกกิ้ง ดูภาพศิลปะ ฟังเพลง ฯลฯ หัวใจหลักสำคัญของขั้นตอนนี้ คือ หยุดวิเคราะห์ แต่ควบคุมความท้อไว้ และปลีกตัวเองออกมาจากความคิดที่ทำให้เครียด พอสมองสงบนิ่งแล้ว ร่างกายจะปล่อยสารไนตริกออกไซด์ออกมาทำให้รู้สึกสบาย และทำให้สมองแจ่มใสอีกครั้ง
ขั้นที่สาม
เรียกว่า “ข้ามพ้น” เสมือนนักกีฬาที่ฝึกฝนหนักจนร่างกายไม่รับรู้จนร่างกายไม่รับรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ แต่เป็นความรู้สึกผ่านพ้น และผ่อนคลายจากความเครียดที่มาจากการหลั่งสารเอนโดฟิน หรือสารแห่งความสุข
ขั้นสุดท้าย
เป็นขั้นตอนของการกลับคืนสู่ภาวะความเชื่อมั่นอีกครั้ง ซึ่งพร้อมที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ
เทคนิคดังกล่าว ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเจอกับสภาวการณ์ไม่ไว้วางใจ ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือม็อบต่าง ๆ เป็นต้น
ขอขอบคุณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2548 (คุณสมสกุล เผ่าจินดามุข)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *