การจัดการโลจิสติกส์อย่างมีดีไซน์
การจัดการโลจิสติกส์อย่างมีดีไซน์
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัว ให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยากต่อการคาดการณ์
สินค้าหลายประเภทเริ่มจะมีวงจรชีวิตที่สั้นลง นอกจากนี้ ลูกค้ายังมีความต้องการสินค้าและบริการ ที่มีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยมากยิ่งขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ กลายมาเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจไปแล้ว
หากพิจารณาจากบริบทของการพัฒนาไปสู่องค์กรแห่งดีไซน์ (Corporation of Design) ที่มีองค์ประกอบร่วม 3 ด้าน ได้แก่ กระบวนการ เทคโนโลยี และสุนทรียภาพ จะพบว่า แนวคิด “ดีไซน์” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการ การจัดการโลจิสติกส์ต้องอาศัยการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เกิดความยืดหยุ่นและคล่องตัว มุ่งเน้นการกำจัดกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนและไม่สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า (Non-valued adding activities) เช่น การนำแนวคิดแบบลีนที่มุ่งเน้นการลดความสิ้นเปลือง (Wastes) มาใช้ในกระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ของบริษัทโตโยต้า ที่ทำการผลิตแบบ Just-in-time เพื่อพยายามลดปริมาณสินค้าคงคลัง ร่วมกับการใช้รูปแบบการขนส่งสินค้าแบบ Milk run ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์
เทคโนโลยี ปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการโลจิสติกส์ ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรต่างๆ ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในกิจกรรมโลจิสติกส์ เช่น การนำระบบ EDI มาใช้ในการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและการส่งผ่านข้อมูล การใช้ RFID มาเพิ่มความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ในการตรวจสอบประเภทและปริมาณของสินค้าคงคลัง การใช้ระบบ GPS ในการติดตามสถานะของรถบรรทุกสินค้า
รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการวางแผนและจัดการ เช่น ระบบ Transportation Management System (TMS) และระบบ Warehouse Management System (WMS) เป็นต้น โดยเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาและความผิดพลาดในการดำเนินงาน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า
สุนทรียภาพ นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านต้นทุนและความรวดเร็วแล้ว การดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ในปัจจุบัน ต้องรวมถึงความสามารถในการนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องขยายขอบเขตของบริการให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมโลจิสติกส์ โดยลูกค้าสามารถใช้บริการทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียวแบบ One stop service หรือที่เรียกผู้ให้บริการแบบใหม่นี้ว่า 4PL (Fourth Party Logistics)
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีของบริษัทจำหน่ายคอมพิวเตอร์ DELL ที่นำจุดแข็งของการจัดการโลจิสติกส์ ที่ใช้กระบวนการทำงานแบบ Virtual Integration ร่วมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับซัพพลายเออร์และลูกค้า จนสามารถทำการผลิตแบบ Mass Customization ที่จำหน่ายคอมพิวเตอร์แบบสั่งผลิตตามคุณสมบัติที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการผลิตที่รวดเร็ว และมีราคาไม่แพง
ทั้งนี้ การสร้างความสะดวกสบายจากบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรของ 4PL หรือการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยของลูกค้าที่ DELL นำเสนอ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้าง “สุนทรียภาพ” ด้านโลจิสติกส์แก่ลูกค้า
จะเห็นได้ว่า การนำแนวคิด “ดีไซน์” ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน มาใช้กับการจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินกิจการด้านโลจิสติกส์ ในโลกธุรกิจยุคใหม่ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ว่าองค์กรต่างๆ จะสามารถนำองค์ประกอบทั้งสาม มาผสมผสานในสัดส่วนที่ลงตัวได้มากที่สุด ตอบโจทย์ลูกค้า และสร้างความแตกต่างให้เหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาดได้ดีเพียงใด
ที่มา ดร. สถาพร โอภาสานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551