การคิดบวกทำให้ระบบสมองและความจำดีขึ้น

การคิดบวกทำให้ระบบสมองและความจำดีขึ้น

# ชีวิตที่เร่งรีบในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียนที่ต้องตื่นแต่ไก่โห่ ตะเกียกตะกายฝ่ารถไปให้ถึงทันโรงเรียนเข้า หรือจะเป็นชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานตาม Office Hour แต่เช้าจดเย็น ไม่มีเวลาหายใจหายคอ หนักๆ เข้าบางครั้งหลายคนอาจรู้สึกว่าสมองล้า เหนื่อย เครียด พาลจะทำให้จำอะไรไม่แม่น ลืมนั่นลืมนี่ จนวิตกกังวลว่าตัวเองเริ่มจะป่วยด้วยโรค “อัลไซเมอร์” ถึงขั้นต้องไปพบแพทย์เสียเงินเสียทอง แต่จริงๆ แล้ว ทริกการเสริมศักยภาพความจำและสมองง่ายๆ ทำได้กันทุกคน!

นพ.มัยธัช สามเสน ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำวิธีการพัฒนาศักยภาพความจำและสมองแบบง่ายๆ ด้วยคำเพียง 4 คำ คือ “คิดบวก” และ “ทำต่าง”

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องมีผลต่อสมอง โดยเฉพาะอาหารหลัก 5 หมู่นั้นต้องรับประทานให้ได้ทุกวัน

“คิดบวก” ของคุณหมอมัยธัช เจ้าตัวอธิบายด้วยเสียงหัวเราะอย่างเป็นกันเองว่า ที่ก่อนหน้านี้มีโฆษณาเครื่องสำอางตัวหนึ่งที่มีสปอตสั้นๆ แต่ฮิตติดปากสาวๆ ไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “คิดบวก ทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น” นั้น ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเลย และที่สำคัญก็คือ นอกจากการ “คิดบวก” จะทำให้คุณสาวๆ สวยขึ้นแล้ว ยังทำให้ระบบสมองและความจำดีขึ้นอีกต่างหาก

“สมองเป็นอวัยวะที่เราต้องใช้ตลอดเวลา ในส่วนของความจำนั้น เมื่อก่อนอาจจะมีที่บอกแบ่งชัดว่าสมองส่วนไหนจำอะไร แต่จริงๆ แล้วในงานวิจัยระยะหลังๆ เราพบว่า สมองส่วนการจำนั้นไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าอยู่ซีกไหน ตรงไหนแน่ชัด แต่การทำงานด้านความจำของสมองที่เราพบ ก็คือมันทำงานรวมๆ กันไป กับส่วนอื่นๆ อย่างอารมณ์นี่ก็เป็นเรื่องความจำนะ เราเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ในสถานการณ์ใด เพราะเราเรียนรู้จากความจำจากประสบการณ์ที่เราเคยพบ อย่างคนที่หงุดหงิดง่ายก็จะจำได้ว่า ในสถานการณ์ที่มีตัวกระตุ้นแบบนี้เขาจะหงุดหงิด ตรงข้ามกับผู้ที่คุมอารมณ์ได้ดี เขาก็จะเรียนรู้การควบคุมอารมณ์จากความจำว่าในสถานการณ์ที่เขาโดนกระตุ้นจากสิ่งเร้าเช่นนี้ เขาควรจะคุมอารมณ์แบบไหน”

“แต่ที่แน่ๆ ก็คือ การคิดบวกหรือการมองอะไรในแง่ดี จะทำให้สมองและศักยภาพความจำมันพัฒนา เพราะความสุขจากการคิดบวก มองโลกแง่ดี มองผู้อื่นในแง่ดี มองโลกสดใสมันเป็นความสุข เป็นรางวัลภายในที่จะทำให้สมองปีติอิ่มสุข และทำงานได้ดี”

ส่วน “ทำต่าง” ตามตำราของ นพ.มัยธัช นั้น ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากจะคิดบวกให้จิตใจเป็นสุขเป็นรางวัลแก่สมองแล้ว การกระตุ้นให้สมองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ก็เป็นทริกในการพัฒนาระบบความจำแบบหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลองเปลี่ยนมือที่เขียนหนังสือจากมือขวามาเป็นมือซ้าย การเปลี่ยนมือจับช้อนจากมือขวามาเป็นมือซ้าย หรือจะเป็นการทำในทักษะที่ไม่เคยทำ เช่น ไม่เคยวาดรูปก็หัดวาดรูป ไม่เคยร้องเพลงก็หัดร้องเพลง ไม่เคยเต้นรำก็หัดเต้นรำ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดเช่น เล่นหมากกระดานจำพวกหมากรุก หมากฮอส หรือปริศนาอักษรไขว้ ครอสเวิร์ด

“กระทั่งไพ่ก็ช่วยให้เราพัฒนาความจำได้ครับ แต่ต้องมีข้อแม้ว่าห้ามมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ อีกอย่างคือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ของที่ไม่ดีเสมอไป การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเด็กหรือแม้กระทั่งในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเล่นแล้วไปหัดเล่น ในช่วงเวลาที่เหมาะสมพอดีไม่มากไป และเนื้อหาเกมไม่รุนแรงก้าวร้าว ก็ถือเป็นการกระตุ้นสมองให้มีการใช้สมองมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองและศักยภาพของระบบความจำด้วยครับ”

ถึงตรงนี้ คนเมืองกรุงจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝ่าการจราจรไป-กลับระหว่างที่พักและที่ทำงาน วันหนึ่งๆ ก็หลายชั่วโมง อาจจะเริ่มรู้สึกว่ากลเม็ดเคล็ดไม่ลับการพัฒนาสมองและศักยภาพความจำของคุณหมอดูจะไม่ยากจนเกินไปนัก อาจจะสงสัยว่าเวลาที่สูญเสียไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ในการเดินทางนั้น สามารถทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับสมองได้บ้างหรือไม่

“ถ้าไม่เวียนหัวผมแนะนำให้อ่านหนังสือนะถ้าอ่านได้ แต่ถ้าตาลายก็ลองฟังเพลงหรืออัดบทบรรยายเรื่องที่เราสนใจ มาเสียบหูฟังระหว่างเดินทางก็ได้ครับ ทำให้สมองเราได้ทำงานเหมือนกัน”นพ.มัยธัช แนะนำ

การทำต่างเช่น การเขียนหนังสือด้วยมือซ้ายก็เป็นทริคในการพัฒนาระบบความจำเช่นกัน

ในขณะที่ สง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข 9 อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย อธิบายถึงการเสริมศักยภาพของสมองและความจำ ในมิติของการรับประทานอาหารว่า ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าคนจะฉลาดหรือมีระบบเรียนรู้ที่ดี ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งพัฒนาได้ในวัยเรียน หากแต่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกเลยด้วยซ้ำไป!

“ตอนลูกเกิดอยู่ในท้องแม่ อายุครรภ์ได้ 6 เดือนก็เริ่มที่จะพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้แล้ว ช่วงทองของการพัฒนาระบบประสาทและสมองจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือน จนกระทั่งเกิดเป็นทารก และมีอายุครบ 3 ขวบ ช่วงนี้เซลล์สมองเซลล์ประสาทจะเติบโตได้ดีที่สุด ซึ่งการพัฒนาระบบสมอง ความจำ การรับรู้ และการเรียนรู้นั้น นอกจากการกระตุ้นด้วยสัมผัสรักการโอบกอดจากพ่อแม่ การเล่านิทานหรือร้องเพลงให้ฟัง และการใช้ของเล่นกระตุ้นสมองต่างๆ แล้ว การกินก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”

โภชนากรผู้เชี่ยวชาญรายนี้ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า ในช่วงวัยทองดังกล่าว เซลล์สมองและเส้นใยประสาทจะเติบโตมากที่สุด หากได้รับอาหารที่ดี จะช่วยในการสนับสนุนให้ใยประสาทเหล่านี้สานกันแน่นขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบประสาทและความจำ

“คนเราจะพัฒนาเซลล์สมองและใยประสาทได้ไปจนอายุประมาณ 18-20 ปี หลังจากนี้จะพัฒนาได้น้อยลง น้อยมาก หรืออาจจะพัฒนาไม่ได้เลย คนเป็นพ่อเป็นแม่สามารถพัฒนาสมองลูกได้ตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลก โดยตั้งแต่ในครรภ์ แม่ที่ตั้งครรภ์หากปรับการรับประทานอาหารให้ดี ลูกก็สามารถเริ่มพัฒนาได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยทีเดียว”

ว่างๆ ชวนเพื่อนๆ เล่นหมากรุกหรือหมากฮอร์สบ้าง

สง่า กล่าวถึงอาหารประเภทหลักที่จำเป็นต้องรับประทานให้ได้ทุกวัน ก็คือ อาหารหลัก 5 หมู่ อันเป็นพื้นฐานของสุขลักษณะในการรับประทานอาหารนั่นเอง

“ต้องกินให้ครบ 5 หมู่ก่อน และต้องกินอย่างเพียงพอที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับเพื่อนำไปใช้ เริ่มจากโปรตีน ก็ต้องเป็นโปรตีนดีมีคุณภาพ ต่อมาก็คือ คาร์โบไฮเดรต ที่ร่างกายจะนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน สาม คือ วิตามิน สี่ คือ แร่ธาตุ และห้า คือ ไขมัน 5 หมู่หลักต้องกินให้ครบทุกวัน ส่วนที่เสริมเข้ามาหลักๆ ก็คือ ไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า3 ที่จะช่วยในการพัฒนาของสมอง ความจำ ซึ่งจะพบมากในปลาทะเล ในปลาน้ำจืดก็มี แต่ไม่เท่ากับปลาทะเล ควรรับประทานปลาที่มีโอเมก้า3 สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งนอกจากโอเมก้า 3 แล้วปลายังให้โปรตีนอีกด้วย แต่ก็มีโปรตีนดีอื่นๆ อีก เราไม่ควรจะกินโปรตีนซ้ำๆ ซากๆ คือ โปรตีนจากปลาเป็นโปรตีนดี ย่อยง่าย แต่เราก็ควรกินสลับกับโปรตีนอื่นๆ บ้าง เช่นจากไก่ หมู หรือโปรตีนจากพืชจำพวกถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ ก็จะช่วยพัฒนาสมองให้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ อุปนายกสมาคมโภชนาการยังพูดถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาความจำและเซลล์สมองต่อไปอีกว่า ยังมีแร่ธาตุสำคัญ คือ ไอโอดีน และธาตุเหล็กที่จะช่วยให้การทำงานของระบบความจำและสมองเป็นปกติ โดยไอโอดีนจะพบในอาหารทะเลและเกลือเสริมไอโอดีน โดยแนะให้สตรีมีครรภ์ปรับการรับประทานอาหารจากใช้เกลือธรรมดา เป็นเกลือเสริมไอโอดีนเพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับไอโอดีนแต่เนิ่นๆ รวมทั้งควรรับประทานอาหารทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

“ส่วนธาตุเหล็กนั้นสำคัญไม่แพ้กัน หากเด็กได้รับไม่พอจะทำให้เซื่องซึม มีการพัฒนาของสมองและความจำช้าลง เหล็กจะมีมากในตับสัตว์ เลือด และผักใบเขียว นอกจากนี้ ที่สำคัญ อีกตัวหนึ่ง คือ วิตามิน บี12 ซึ่งจะมีมากในเนื้อสัตว์ นม และไข่ แต่จะพบในผักน้อยมาก วิตามินตัวนี้เราจะพบว่า คนที่รับประทานเจหรือทานมังสวิรัติจะขาดมาก บี12นี้เป็นวิตามินที่สำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทรวมถึงการสร้างเม็ดเลือดแดง”

สง่า ทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่คนยุคใหม่หลงลืมไปคือการใส่ใจกับอาหารที่เป็นอาหารจริงๆ และเชื่อว่าอาหารที่ดีมีประโยชน์ทุกๆ มื้อที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพความจำและสมองที่ดี มากกว่าอาหารเสริมประเภทซุปไก่สกัดหรืออาหารเสริมเป็นเม็ดเป็นกระปุกที่นิยมซื้อหามารับประทานด้วยความเข้าใจผิด

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *