กองทุนสุขภาพ : ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ผู้ป่วยสาหัสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงไม่ต้องเสียเงิน

กองทุนสุขภาพ : ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ผู้ป่วยสาหัสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ไม่ต้องเสียเงินรักษา

หลังรัฐบาลประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินของการบรูณาการ 3 กองทุนเพื่อให้การบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ นำร่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนเริ่ม 1 เม.ย.นี้ เน้นแก้ปัญหาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือโคม่า ชี้หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่วนกรณีหน่วยบริการที่รับผู้ป่วย 3สิทธิ์ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายังสปสช.เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง สำรองเงินจ่ายให้รพ.ตามอัตราผู้ป่วยใน ก่อนเรียกเก็บเงินจากแต่ละกองทุนต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติมีการเสวนาเรื่อง “นิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินและความพร้อมหน่วยงานเบิกจ่ายกลางหรือเคลียริ่งเฮาส์” (Clearing House) เพื่อรองรับระบบการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ โดยไม่ต้องสอบถามสิทธิ์และไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ตามแนวทาง เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ รักษาทันที

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการบรูณาการ 3 กองทุนเพื่อการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ ของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน โดยเริ่มต้นที่ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยมีแนวคิดให้ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”ได้รับบริการโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและระดับเร่งด่วน จะต้องรับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยอาการทุเลาสามารถส่งกลับบ้านหรือส่งต่อ/ส่งกลับสู่รพ.ในระบบต้นสังกัดได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ที่เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินในรพ.ที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ์ โดยเฉพาะต้องการแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ต้องเสียโอกาสจากการตรวจสอบสิทธิ์ และรพ.ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกรพ.ไม่ต้องถามสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันที แล้วจึงมาเบิกจ่ายจากกองทุนที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแทน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนอัตราและเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยนั้น หลักการคือ ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษากับรพ.ในเครือข่ายของ 3 กองทุน ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน แต่กรณีที่เข้ารับการรักษากับรพ.นอกเครือข่ายของสิทธิการรักษาของผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยนอก จ่ายตามอัตราที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง สำหรับผู้ป่วยใน จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี (DRG) โดยมีอัตราจ่ายตามน้ำหนักของโรคหรือRWละ 10,500 บาท วิธีการคือ สำหรับรพ.นอกเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุนที่รับรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งจากผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถกู้ชีพ 1669 หรือนำส่งเองเข้ารพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วรพ.ต้องให้การรักษาทันที หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลางซึ่งสปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้นสปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับรพ.ไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน วิธีการจ่ายนี้เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและให้รพ.ที่รับการรักษาได้รับเงินโดยเร็ว

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่มีความสำคัญคือ การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินระหว่างแพทย์และผู้ป่วยไม่ตรงกัน จุดนี้ให้ยึดตามนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งแบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาตหรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง
ทั้งนี้แนวทางครั้งนี้เน้นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วน นั่นหมายความว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ได้รับการส่งรักษาโดยบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นรพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงทีลดการสูญเสียชีวิตและความพิการรุนแรงจากเหตุไม่จำเป็น

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *