กลยุทธ์ R&D กับอิทธิพลต่อความมั่งคั่ง
กลยุทธ์ R&D กับอิทธิพลต่อความมั่งคั่ง
เมื่อนวัตกรรมกลายเป็นปัจจัยหลักแห่งความอยู่รอดและความสำเร็จ การลงทุนเพื่อค้นหาและส่งเสริมนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น หลากหลายกิจการแข่งขันทุ่มเทงบประมาณมหาศาลทางด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่มูลค่าเพิ่มที่แตกต่างในสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตาม มักมีคำถามว่า งบประมาณมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปในการวิจัยและพัฒนา จะสามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งที่สูงขึ้นของกิจการหรือไม่ จึงได้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณที่กิจการทุ่มเทลงไปในการทำวิจัยและพัฒนา กับราคาหุ้นซึ่งถือเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง
การทำวิจัยนี้ ใช้ฐานข้อมูลที่ชื่อ Compustat ของบริษัทจัดอันดับระดับโลก คือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ เพื่อสำรวจกิจการที่มีการลงทุนในด้าน R&D ที่สูงที่สุดในแต่ละอุตสาหกรรม กับผลประกอบการทางการเงิน โดยเฉพาะมูลค่าตลาดซึ่งสะท้อนจากราคาหุ้น ซึ่งตัวอย่างที่นำมาศึกษาล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งสิ้นครับ
เริ่มด้วย บริษัทที่ติดอันดับผู้นำในการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก “ไฟเซอร์” ซึ่งในปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณด้านอาร์แอนด์ดีสูงถึง 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
จากความอุตสาหะและการลงทุนต่อเนื่องมาตลอดเวลายาวนาน ทำให้ไฟเซอร์มีผลิตภัณฑ์ยาที่เป็น บล็อคบัสเตอร์ ติดตลาดโลก ประกอบไปด้วย ลิปิเตอร์ ยาลดไขมันที่คนทั่วโลกนิยมใช้มากที่สุด จนกระทั่งติดอันดับเป็นยาที่ขายดีที่สุดในโลกติดกันหลายปีทีเดียว เพียงแค่ในปี 2005 มียอดขายถึง 12 พันล้านเหรียญ
นอกจากนี้ยังมียาที่ชื่อดังก้องสะท้านโลก แบบที่เรียกว่า Big Bang นั่นคือ ไวอากร้า ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมากในหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งกลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองของโลก พุ่งแรงแซงโค้งมาอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้ไฟเซอร์ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ในระหว่างการทดลอง กำลังจะนำออกสู่ตลาดอีกไม่นานครับ นั่นคือยาที่เกี่ยวกับอินซูลินที่ใช้การหายใจเข้าไป หรือยาควบคุมการสูบบุหรี่ ที่น่าจะติดตลาดได้ไม่ยาก ในยุคที่คนห่วงใยสุขภาพกันมาก รวมถึงกำลังจะมียาชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งอีกด้วย คาดว่าน่าจะนำผลตอบแทนสู่กิจการได้ครับ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในการวิจัยพัฒนามหาศาลยังไม่ได้ผลักดันให้ราคาหุ้นของกิจการในตลาดสหรัฐสูงขึ้นมากอย่างที่ต้องการ เมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา แต่อย่างน้อยก็สามารถแซงหน้าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของราคาหุ้นขนาดใหญ่ 500 อันดับแรกได้ครับ
บริษัทที่สองที่ทำการสำรวจก็คือ ไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของโลก ในปี 2005 ไมโครซอฟท์มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาถึง 6.5 พันล้านเหรียญ มากกว่าบริษัทไอทีทั้งหมดของโลก
การใช้จ่ายมหาศาลนั้น เพราะกิจการต้องเผชิญกับการแข่งขันรอบด้านนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเกมจากโซนี่ ที่ไมโครซอฟท์ต้องพัฒนารูปแบบของ Xbox 360 ให้ก้าวล้ำนำหน้า Playstation 3 ให้ได้ ทางด้านธุรกิจอีบิซเอง ก็ยังต่อสู้ในการพัฒนาบริการด้านอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ กับทั้งยาฮูและกูเกิล รวมถึงยังต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ วินโดว์สวิสต้าของตน เพื่อที่จะนำออกสู่ตลาดภายในต้นปี 2007 อีกด้วย
การลงทุนพัฒนาหลากหลายทางทำให้ไมโครซอฟท์ต้องใช้งบประมาณมหาศาลทีเดียว และแม้ว่าราคาหุ้นของไมโครซอฟท์1จะอยู่ระดับสูง แต่ก็ยังเติบโตอยู่ในช่วงแคบๆ ครับ
บริษัทที่สาม คือ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ยักษ์ใหญ่ด้านนวัตกรรมในสินค้าคอนซูเมอร์ ซึ่งมีการลงทุนต่อเนื่องยาวนาน และมีนวัตกรรมออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
พีแอนด์จีมีการทำวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางทั่วทั้งอุตสาหกรรมครับ และยังมีสินค้าใหม่ๆ ที่กำลังรอออกสู่ตลาดอีกไม่นาน ซึ่งคาดว่าน่าจะทำเงินให้กับกิจการได้ไม่น้อย ดังเช่น Fusion Razor ใบมีดโกนหนวดแบบใหม่ของยิลเลตต์ ที่สร้างความฮือฮาในปี 2005 ที่ผ่านมา
แต่การลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างมากมายนี้ เรียกว่ามากกว่าคู่แข่งตลอดกาลอย่างยูนิลีเวอร์มากทีเดียว ก็ยังไม่สามารถผลักดันราคาหุ้นในปี 2006 ได้มากนัก โดยในปีนี้จนกระทั่งปัจจุบัน ราคาหุ้นของพีแอนด์จี ยังไม่สามารถแซงหน้าค่าเฉลี่ยของ S&P 500 ในสหรัฐได้ครับ
บริษัทที่สี่ คือ ฟอร์ดมอเตอร์ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งสร้างความฮือฮาจากงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่สูงมากที่สุดในโลก มากกว่ายักษ์ใหญ่อย่างจีเอ็ม โตโยต้า และเดมเลอร์ไครสเลอร์ เสียอีก โดยลงทุนไปถึง 8 พันล้านเหรียญ เรียกว่าเป็นอันดับสองของโลกรองจากไฟเซอร์เลยทีเดียว และมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดทั้งหมดของกิจการ
การทำอาร์แอนด์ดีมหาศาลของฟอร์ดมอเตอร์ ยังไม่สามารถผลักดันผลประกอบการทางการเงินได้มากนัก โดยคาดว่าจะยังขาดทุนต่อไปอีกในปีนี้ ทำให้ราคาหุ้นยังไม่สามารถไต่ระดับขึ้นไปได้มากนัก แต่ก็คาดว่าน่าจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจต่อตลาดออกมาได้ในอนาคตอันใกล้
บริษัทสุดท้ายที่ศึกษา คือ ดูปองท์ ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามากสุดในธุรกิจนี้ แต่ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนักในโครงการ Blue-sky ที่ไม่สามารถสร้างรายได้กลับเข้ามามากอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทยังต่ำกว่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย S&P 500
ผลสรุปก็คือ การลงทุนในวิจัยและพัฒนา ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงต่อราคาหุ้นของกิจการ แม้ว่ากิจการใช้จ่ายกับด้านนี้ไปมากๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีความมั่งคั่งให้กับกิจการได้ครับ เพราะยังต้องคำนึงถึงประสิทธิผลของการทำวิจัยและพัฒนาด้วยว่า จะสามารถนำสู่ตลาดและเกิดการตอบรับได้อย่างคาดหวังหรือไม่
อีกทั้งการทำอาร์แอนด์ดียังเป็นลักษณะของการลงทุนในระยะยาว ไม่สามารถหวังผลได้ทันที ในหลายกิจการระบุว่าอาจต้องมากกว่าห้าถึงหกปีด้วยซ้ำ จึงจะเริ่มเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมได้ รวมถึงผู้บริหารในกิจการนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ดี พอที่จะคาดอนาคตได้ว่า แนวโน้มใดจะเกิดขึ้น ควรต้องลงทุนไปในด้านใดจึงจะเหมาะสม
ไม่ว่าจะอย่างไร เบื้องหลังเบื้องลึกของนวัตกรรม ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อไปครับ
เรียบเรียงโดย : ผศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย