กลยุทธ์ผูกใจลูกน้อง(ดีๆ)ให้อยู่นานๆ

กลยุทธ์ผูกใจลูกน้อง(ดีๆ)ให้อยู่นานๆ
Post Today – การเป็นเจ้านายหรือเถ้าแก่ ไม่มีอะไรจะประเสริฐยิ่งไปกว่าการได้ลูกน้องเก่ง ดี และมีความซื่อสัตย์อยู่ด้วยไปนานๆ เพราะลูกน้องที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนั้น …
ใช่ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเมื่อได้ลูกน้องดีๆ มาอยู่ด้วย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เพชรเม็ดงามนั้นๆ ได้ฉายจำรัสสร้างความโชติช่วงให้กับองค์กรต่อไป

ลูกน้องซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ว่านี้ ยากที่นายหรือเถ้าแก่คนไหนจะปฏิเสธ เพราะเขารู้ดีว่าการมีลูกน้องเช่นนั้นทำงานอยู่ด้วย ย่อมทำให้เขาสบายใจและอุ่นใจ เพราะไม่ต้องระแวงหรือกลัวว่าลูกน้องจะทุจริตคิดคดหรือสร้างความเสียหายให้กับบริษัท

ต่อไปนี้มารู้จักวิธีบริหารงานบุคคลแบบเถ้าแก่ที่ทำอย่างไรจะให้ลูกน้องดีๆ รักและอยู่ด้วยไปนานๆ จากปากของ บุรินทร์ ธนถาวรลาภ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท ข้าวแสนดี อดีตนายกสมาคมข้าวถุงไทย

ลูกน้อง ‘ต้องอิ่ม มีกิน มีใช้’

บุคลากร คือ ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด ยิ่งถ้าบุคลากรมีคุณภาพเท่าใดก็ยิ่งทำให้งานออกมาดีสร้างผลิตผลให้กับองค์กรมากเท่านั้น บุรินทร์ บอกว่า นายหรือเถ้าแก่หากต้องการให้ลูกน้องดีเก่งอยู่ด้วยนานที่สุดจะต้องให้พวกเขาอยู่ได้ คือ มีกิน มีใช้ ไม่เดือดร้อน และไม่กังวลในเรื่องของรายได้และความเป็นอยู่

บุรินทร์ มองว่า โดยพื้นฐานแล้วการที่จะทำให้ลูกน้องอยู่ด้วยนานที่สุด และทำงานดีที่สุดนั้น มองว่าโดยพื้นฐานต้องให้ลูกน้องอิ่ม มีกิน มีใช้ และไม่ต้องมากังวลในเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบ เช่น ครอบครัว โดยครอบครัวของเขาต้องอยู่ได้ เพราะว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าอิ่มท้อง มีกิน มีใช้แล้ว ก็จะทำงานด้วยความทุ่มเทเต็มความสามารถ

“ถ้ารายได้น้อยนิดไม่เพียงพอกับความเป็นอยู่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟไม่พอ ซื้ออะไรกินก็ไม่อิ่ม ซ้ำยังต้องมานั่งห่วงคิดถึงครอบครัวลูกเมียว่าจะกินอะไร ก็มีแต่จะทำให้พวกเขาไม่มีสมาธิในการทำงาน และผลเสียก็จะไปตกที่งาน ดังนั้นรายได้ของพวกเขานอกจากจะต้องสมกับลักษณะงานที่ทำแล้วต้องอยู่ได้ไม่เดือดร้อนด้วย”

บุรินทร์ บอกว่า บางปีบริษัททำกำไรได้น้อยก็ยังให้เขาไม่น้อยไปกว่าเดิม บางปีขาดทุนก็ยังให้อยู่ตามสมควร ยิ่งปีไหนถ้ามีกำไรมากบริษัทก็ให้เขาแน่นอนอยู่แล้ว

ไม่มีนโยบายไล่ออก

การที่ลูกน้องดีๆ จะอยู่กับนายจ้างไปนานๆ นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาจเริ่มตั้งแต่นโยบายของบริษัทลงไป โดยบุรินทร์ บอกว่า บริษัทไม่มีนโยบายไล่พนักงานออก เราจะให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล เพราะเราคิดว่ากว่าที่จะสร้างบุคลากรดีๆ มีความซื่อสัตย์และอยู่กับบริษัทมาเป็นเวลานานนั้นต้องใช้เวลา และไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“ผมมองว่าการที่จะหาคนคนหนึ่งมาทำงานกับเรา ทั้งรู้ใจ ซื่อสัตย์ ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ถามว่า เราได้มาทุกคนเป็นคนดีหรือเปล่า…ไม่ใช่ ได้มาดีเราก็คัดไว้ ไม่ดีเขาก็ออกไปเอง จะใช้ระบบสร้างพนักงานให้เป็นคนดี ขยัน ซื่อสัตย์ และรักองค์กรให้มากเท่าที่จะทำได้ เพราะเชื่อว่าถ้ามีคนดีๆ อยู่ในองค์กรมากเท่าไรคนที่คิดไม่ดีหรือมุ่งเอาเปรียบองค์กรก็จะอยู่ไม่ได้ต้องเป็นฝ่ายจากไปเอง และส่วนใหญ่พนักงานที่ออกจากที่นี่จะแพ้ภัยตัวเอง เพราะเขาไม่สามารถอยู่กับพรรคพวกได้”

บุรินทร์ บอกว่า นโยบายในการไล่พนักงานออกไม่มี แต่จะใช้วิธีใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออก หมายถึงใช้คนดีทำให้คนไม่ดีอยู่ไม่ได้ต้องออกไปในที่สุด

ช่วยเมื่อเดือดร้อน

บุรินทร์ บอกว่า เรื่องนี้นายจ้างที่ดีควรให้ความสำคัญ และเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเท่าที่จะช่วยได้ เพราะคนเราจะเห็นใจกันก็ตอนที่เจ็บป่วยหรือเดือดร้อน

“เมื่อรู้ว่ามีพนักงานคนใดเจ็บป่วยไม่สบาย ก็จะให้ความเอาใจใส่อย่างดีเหมือนพี่เหมือนน้องในครอบครัวเดียวกัน โดยก่อนที่ยังไม่มีระบบประกันสังคมก็ทำประกันชีวิตให้ ตอนนี้มีประกันสังคมแล้วเราก็เข้าประกันสังคม ทำให้เมื่อพนักงานเจ็บป่วยก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

บุรินทร์ บอกว่า รายใดที่เดือดร้อนในเรื่องเงินก็สามารถยืมได้ทุกเวลา เช่น บางคนลูกถูกตำรวจจับต้องหาเงินไปประกัน บางคนผ่อนรถ บางคนที่นาจะโดนยึด บางคนจะซื้อที่ เป็นต้นก็จะมาขอความช่วยเหลือซึ่งเราก็ให้

“อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ แม่บ้านมาขอยืมเงิน 2 แสนบาท บอกจะไปซื้อที่แปลงหนึ่ง แต่ใช้จริงๆ ประมาณแสนห้า ในที่สุดก็ให้ไปแสนห้า ถามว่ากลัวไหมก็ต้องบอกว่ากลัวเหมือนกัน แต่เราก็มีวิธีจะให้อย่างไร”

บุรินทร์ บอกว่า การที่ให้ยืมเงินเป็นจำนวนมากเช่นนั้น เพราะได้ความคิดนี้มาตั้งแต่สมัยที่เป็นเซลส์แมน โดยเคยถามลูกค้าเถ้าแก่ซื้อข้าวที่ปากน้ำว่า ทำไมจึงวางใจให้ไต้ก๋งนำเรือที่มีราคา 50-60 ล้านบาทออก เถ้าแก่บอกว่าก่อนที่ลูกน้องคนนั้นจะมาเป็นไต้ก๋งอยู่กับเขามาเป็น 10 ปีแล้ว และใน 10 ปีนั้นถ้าเขาเป็นคนไม่ดีก็น่าจะแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นแล้ว

“เถ้าแก่บอกว่าเขาก็ไต่เต้ามาตั้งแต่ระดับธรรมดา ถ้าไม่ดีจริง ไม่รัก ไม่ภักดี ไม่ซื่อสัตย์ต่อเราจริง ป่านนี้ก็คงจะเห็นลายไม่ดีออกมาบ้างแล้ว ซึ่งผมก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้บ้าง และก็คิดว่าความดีถ้าไม่ดีจริงมันทำไม่ทน ทำได้ไม่นาน อีกอย่างหนึ่ง บางคนมาอยู่กันทั้งครอบครัว บางทีมากันทั้งหมู่บ้าน มาเหมือนกับสมัยก่อนที่คนจีนอพยพมาที่เมืองไทย คือ มาอยู่แล้วเห็นว่าดี ก็ไปเรียกญาติพี่น้องมาอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อมาอยู่รวมกันอย่างนี้ ก็ไม่มีใครกล้าทำความผิดเพราะถ้าทำก็ต้องคิดถึงคนอื่นๆ ที่มาอยู่ด้วยที่อาจได้รับผลกระทบตามมา”

ให้โอกาสคนในและมั่นใจเขา

การทำงานไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ตามทุกคนย่อมหวังความก้าวหน้า คงไม่มีใครที่พัฒนาฝีมือตัวเอง จนมีความสามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้า แล้วอยากอยู่ในตำแหน่งเดิมๆ เงินเดือนเดิมๆ ต่อไป

บุรินทร์ บอกว่า นโยบายของที่นี้จะส่งเสริมพนักงานเป็นอันดับแรก กล่าวคือถ้ามีพนักงานคนใดที่พอจะผลักดันขึ้นมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ได้ ก็ให้พิจารณาขึ้นมาทำ แต่ถ้าหาไม่ได้จึงจะประกาศรับสมัครบุคคลจากภายนอก

“เราจะให้โอกาสพนักงานภายในองค์กรก่อนที่จะไปหาคนจากบุคคลภายนอก เพราะบุคคลภายในองค์กรจะมีความรักองค์กรอยู่แล้ว พนักงานบางคนเริ่มต้นมาจากแบกข้าว ก็ขยับมาเป็นคนขับรถ บางคนมีความสามารถก็ให้เป็นเซลส์แมน เป็นหัวหน้า โดยในส่วนนี้เราจะให้เขาไปหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มทักษะในด้านงาน ส่วนเรื่องประสบการณ์เชื่อว่าเขามีมากอยู่แล้ว”

บุรินทร์ บอกว่า นอกจากการพิจารณาบุคคลภายในองค์กรให้ได้รับโอกาสในความก้าวหน้าแล้ว การให้ความมั่นใจแก่พนักงาน ก็ยังเป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความรับผิดชอบที่สูงขึ้นด้วย

“ที่นี่ส่วนใหญ่ผมจะให้ลูกน้องตัดสินใจในบางสิ่งบางอย่างเท่าที่เขาทำได้ เช่น เวลาให้เขาไปส่งของ ก็มีสินค้าแตกเสียก็เผื่อไปให้เขาไปจะได้แก้ปัญหาตรงนี้”

บุรินทร์ ยอมรับว่า กว่าที่จะมาถึงวันนี้เรามีทั้งคนดีและคนไม่ดีผ่านเข้ามา คนดีก็ดูแลเขาอย่างดีเพื่อให้อยู่กับเราไปนานๆ หากสักวันหนึ่งเขาต้องการจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ขวางกั้น

“ถ้าไปอยู่ที่อื่นแล้วดีกว่าไม่ขวางกั้น แต่ถ้าไปแล้วไม่มีอนาคต ก็ให้นึกถึงที่นี่ที่ยังต้อนรับเสมอ เพราะที่นี่มีคนงานเข้าๆ ออกๆ กันประจำอยู่แล้ว ส่วนคนไม่ดีก็เชื่อว่าคนดีจะค่อยๆ แก้ไขออกไป ไม่ต้องถึงขั้นไล่ออก แต่เขาจะแพ้ภัยตัวเองอยู่ไม่ได้”

ระวังแล้วพลาดอย่าเสียใจ

สิ่งหนึ่งที่ลูกน้องควรได้รับจากผู้เป็นนายก็คือกำลังใจ กำลังใจจะช่วยให้หัวใจลูกน้องที่ห่อเหี่ยวกลับมามีชีวิตชีวาได้ บุรินทร์ บอกว่า จะสอนลูกน้องเสมอว่าถ้าเราได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้วยังเกิดความผิดพลาดขึ้นมาก็อย่าเสียใจ แต่อย่าลืมที่จะเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเป็นบทเรียน

“ครั้งหนึ่งมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นทำให้ต้องสูญเงินไปจำนวนมาก เราเสียข้าวไปฟรีๆ ถึง 2 คันรถบรรทุก แต่ปีนั้นผมก็ไม่ได้ตัดโบนัสและเงินเดือนเขาแต่อย่างใด เพราะคิดว่าเขาทำด้วยความระมัดระวังอย่างดีแล้ว”

บุรินทร์ กล่าวว่า ตราบใดที่เขายังทำงานด้วย และตั้งใจทำงานก็ต้องทำกำไรให้บริษัทได้ ส่วนจะช้าหรือเร็วเป็นอีกเรื่อง ดังนั้นจึงไม่อยากทำเหมือนกับว่าไปลงโทษเขา และถ้าทำจริงเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

อย่างไรก็ตาม บุรินทร์ ยอมรับว่า การที่ข้าวแสนดีได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพต่างๆ และปัจจุบันเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักมากขึ้น ก็มาจากความร่วมมือของพนักงานทุกคนทุกระดับนั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *