กระโดดเชือกทางเลือกลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

กระโดดเชือก ทางเลือกลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
เสริมความแข็งแรง ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิและช่วยควบคุมน้ำหนัก

ปัจจุบันกระแสการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น สถานออกกำลังกายต่างๆก็เกิดขึ้นมาก พร้อมทั้งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย บางครั้งเราก็ลืมไปว่าวิธีการบริหารร่างกายแบบพื้นๆอย่างการกระโดดเชือก ก็เป็นวิธีที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้มากไม่แพ้กัน

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยกระโดดเชือกมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือโรงเรียน ซึ่งการกระโดดเชือกเป็นการละเล่นที่เกิดขึ้นเกือบทุกมุมโลกและเกิดมาช้านานแล้ว เพราะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานสามารถเล่นกันเป็นหมู่คณะหรือเล่นคนเดียว ทั้งยังละเล่นเพื่อความสนุกอย่างเดียวหรือแข่งขันเป็นกีฬาก็ได้ อีกทั้งมีความสะดวกใช้ต้นทุนต่ำเพียงมีอุปกรณ์คือ เชือกกระโดด และพื้นที่เล็กน้อย

ประโยชน์ของการกระโดดเชือกนั้นมีมากมายอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิต หัวใจ ปอด และระบบอื่นๆภายในร่างกาย โดยมีการยืนยันแล้วว่าการกระโดดเชือกช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ดังนั้น มูลนิธิหัวใจสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต่างก็รณรงค์ให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายต้านโรคหัวใจด้วยการกระโดดเชือก

ทั้งยังมีประโยชน์ในการเสริมสร้างความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่างกายทุกส่วน ทำให้การทำงานของอวัยวะมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลให้ระบบต่างๆ เป็นการฝึกสมาธิ การบังคับร่างกาย สร้างสมดุลของร่างกาย ทำให้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง ร่างกายสดชื่น คลายความตึงเครียดช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย หลับสบาย สติปัญญาดี และมีสุขภาพแข็งแรง

นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความอดทน ฝึกวินัย เป็นการสร้างทักษะพื้นฐานด้านการกีฬา และควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ รวมทั้งเป็นความบันเทิงในราคาประหยัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายทุกครั้งต้องมีการอบอุ่นร่างกายหรือวอร์มอัพ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อสามารถรองรับการใช้งานได้ ป้องกันปัญหาการบาดเจ็บ โดยการวิ่งเหยาะๆ 2-3 นาทีให้เลือดสูบฉีด ตามด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อต่างๆของร่างกาย ลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดกับเอ็นและข้อต่อด้วย

หลังจากออกกำลังกายต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติในลักษณะคล้ายกันนี้คือ เดินหรือเคลื่อนไหวเบาๆ 2-3 นาที เพื่อรักษาการไหลเวียนโลหิตให้ต่อเนื่อง ให้ระบบต่างๆปรับเข้าสู่ภาวะปรกติอย่างช้าๆ รวมทั้งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อด้วย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเช่นกัน

สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกคือ ผู้ที่มีอาการเข่าเสื่อม ข้อต่อเสื่อม หรือบาดเจ็บที่หัวเข่า ข้อเท้า และหลังอย่างรุนแรง ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

Update: 23-06-51

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *