กระบวนการคิดแบบครบวงจร

กระบวนการคิดแบบครบวงจร
Thinking Process in Systems
สมหวัง วิทยาปัญญานนท์
13 มีนาคม 2549

รูปแบบการคิดเป็นขั้นตอน 9 ขั้นตอนดังนี้
1. คิดแบบเห็นอะไร (Right View Thinking)
คำๆนี้ในเชิงพุทธมักนิยมถามกัน เช่น
มองต้นไม้แล้วเห็นอะไร มองภาพยนตร์แล้วเห็นอะไร
มองสึนามิแล้วเห็นอะไร มองผ้าขี้ริ้วแล้วเห็นอะไร
มองอุบัติเหตุแล้วเห็นอะไร ทีนี้ก็ลองมาพิจารณาว่า
เห็นป้ายเวลาเปิดบริการสระว่ายน้ำ แล้วเห็นอะไร
สิ่งที่เห็นก็คือ หยุดวันจันทร์ ทำไมไม่หยุดวันอื่นแล้วทำไมวันเสาร์อาทิตย์จึงเริ่มเร็วขึ้น 2 ชั่วโมงแล้วทำไมจึงต้องเลิกที่เวลา 2 ทุ่มด้วย
2. คิดแบบมีเหตุผล ( Cognitive Thinking)
เป็นการคิดเชิงเหตุผล เป็นการค้นหาเหตุผล ซึ่งอาจทำได้โดยการคิดเอง การเดินเข้าไปถามเจ้าของ โดยการชวนคุย ถึงเหตุผลต่างๆ ก็จะได้รับคำตอบว่า เสาร์-อาทิตย์ คนมาเรียนพิเศษมาก หยุดไม่ได้และหลังจากทำงานหนักก็เลยอยากหยุดวันจันทร์ วันถัดไป วันอังคาร-ศุกร์ ก็เป็นกรณีคนส่วนใหญ่ไปทำงานกัน
3. คิดแบบพิจารณา ( Critical Thinking)
เป็นการคิดเชิงพินิจพิเคราะห์ หาข้อดีข้อเสียทางเลือกต่างๆ อาจต้องใช้ข้อมูลมาเพิ่มเพื่อพิจารณาว่า วันอังคาร คนไม่มาเลย ช่วง 10:00-12:00 น. จะเลิกบริการหรือไม่ หรือจะใช้โปรโมชั่นให้คนมาช่วงนี้เพิ่มโดยการลดราคาจะได้หรือเปล่า
4. คิดแบบสร้างสรร (Creative Thinking)
ลองคิดดูว่า หากขยับว่าเลิกจาก 20:00 เป็น 21:00 น. จะกำไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ช่วง 12:00-13:00 น. จัดรายพิเศษโชว์ เรียกลูกค้าได้หรือไม่ หากไม่หยุดวันอาทิตย์เลย จะทำให้กิจกรรมสระน้ำดีขึ้นหรือเปล่า ย้ายวันหยุดจากวันอาทิตย์เป็นวันพุธ จะทำให้ดีหรือเปล่า ลูกค้าจะพอใจมาขึ้นหรือไม่
5. คิดแบบฝ่าด่าน ( Gate Attacking Thinking)
จากความคิดสร้างสรร ก็เอาความคิดอันหลากหลายวิธีมาฝ่าด่านความเป็นไปได้ทางเทคนิคว่าทำได้ ทางการเงินว่าคุ้มค่า ทางการตลาดว่าทำแล้วลูกค้าพอใจ หรือมีคนมาใช้บริการ โดยทดลองดูแบบง่ายๆ ลองถามลูกค้าดูว่าหากเปิดวันจันทร์แล้วเขายินดีจะมามากน้อย
6. คิดแบบนวัตกรรม ( Innorvation Thinking)
จากความคิดสร้างสรรค์และฝ่าด่านแล้ว แล้วคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เราจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร ไม่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ รูปแบบบริการใหม่ กระบวนการทำงานแบบใหม่ โดยคิดในรายละเอียดจนถึงขั้นปฏิบัติจนเป็นชิ้นงานได้
7. คิดแบบประยุกต์ ( Application Thinking)
จากความคิดนวัตกรรม ก็เอาคิดประยุกต์ใช้กับงานจริงหรือเอาแนวคิดนี้ไปขยายผลที่อื่น หรือ สาขาอื่นต่อไป หรือ อาจดัดแปลงปรับปรุงอีกเล็กน้อยให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือวัฒนธรรมของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น หรือคิดเอาแนวคิดจากที่หนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสระน้ำ เช่น ระบำ ก็อาจนำการระบำมาโชว์รอบสระน้ำในช่วงโปรโมชั่นก็ได้
8. คิดแบบเชิงผลลัพธ์ ( Resulting Thinking)
หลังจากทดลองประยุกต์แล้ว ลองพิจารณาพินิตพิเคราะห์ผลลัพธ์ในมุมมองต่างๆ เช่น เทียบกับแผนในเชิงการเงิน เชิงเทคนิค เชิงศิลป์ เชิงลูกค้า ว่าดีหรือไม่ดีหรือเฉยๆ
9. คิดเชิงทบทวนสะท้อนภาพกลับ ( Reflect Thinking)
จากผลลัพธ์ก็มาสะท้อนมุมมองจากทีมงาน ฟังความเห็นความรู้สึกแต่ละคน ว่าผลลัพธ์จากการทำงานในด้านการวางแผน การปฏิบัติ และผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร ได้บทเรียนหรือความรู้อะไร เพิ่มเติมจากการทำงานหรือเปล่า

จากขั้นตอนการคิดแบบครบวงจรทั้ง 9 ขั้นตอน คือ คิดแบบเห็นอะไร คิดแบบมีเหตุผล คิดแบบพิจารณา คิดแบบสร้างสรร คิดแบบฝ่าด่าน คิดแบบนวัตกรรม คิดแบบประยุกต์ คิดแบบเชิงผลลัพธ์ และคิดเชิงทบทวนสะท้อนภาพ ก็จะทำให้กระบวนการคิดที่เชื่อมโยงตั้งแต่แรกจนจบกระบวนการ หรือพูดแบบง่ายๆ คือ เห็น – หาเหตุผล –เชื่อมโยง —- คิดใหม่ – กลั่นกรอง — นวัตกรรม —- ประยุกต์ — ดูผลลัพธ์ —- สะท้อนความรู้

สรุปท้ายทดลองฝึกคิด หากขณะเราเข้าห้องน้ำอาบน้ำแล้วก็มีคนขโมยเสื้อผ้าเราไปหมด เราจะทำอย่างไร ลองคิดดูว่ามีกี่วิธี

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *