กรมสุขภาพจิตแนะ 5 วิธีสร้างไอคิว/อีคิวให้ลูก

กรมสุขภาพจิตแนะ 5 วิธีสร้างไอคิว/อีคิวให้ลูก
กรมสุขภาพจิต 7 ม.ค.- กรมสุขภาพจิต แนะ 5 วิธีสร้างไอคิว
อีคิว พัฒนาปัญญาลูก ขณะที่ผลสำรวจพบเด็กไทยอยากไปโรงเรียนแค่ร้อยละ 38 ลดลงจากเดิมร้อยละ 43 ห่วงไอคิวเด็กไทยลดเพราะไม่ชอบอ่านหนังสือ และใช้เวลา 7-8 ชั่วโมงไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการเสวนา “บัญญัติ 5 ประการ พลังสร้างปัญญาลูก” โดย นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทย ว่า เป็นการเสริมสร้างศักยภาพเด็กไทย ให้มีความสามารถด้านสติปัญญาและอารมณ์ หรือเป็นคนเก่ง ดี มีความสุข ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต.ท่ามะนาว จ.ลพบุรี ทำโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ในพื้นที่ที่มีปัญหาพื้นฐานของโครงสร้างสังคม สถาบันครอบครัวขาดความอบอุ่น จัดทำศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวขึ้น ซึ่งผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและชุมชนมีความต้องการให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไป ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อระดับไอคิวและอีคิวของเด็กไทย มี 5 ประการ คือ รักลูกให้สัมผัส กอดรัดกันทุกวัน, ขยันถามอยู่เป็นนิจ ช่วยลูกคิดหาคำตอบ, ครอบครัวนักอ่านรอบบ้านมีหนังสือ, หมั่นซื้อนมให้ลูก ปลูกนิสัยออกกำลังกาย และเสริมปัญญาลูก ท้าทายด้วยเกมวางแผน หากปฏิบัติตามนี้จะทำให้ไอคิวและอีคิวเด็กสูงขึ้น นอกจากนี้ อยากฝากไปถึงประชาชนว่า ความรักเป็นโรคติดต่อ ดังนั้น พ่อแม่ต้องแสดงความรักต่อเด็ก และครอบครัว จะยิ่งทำให้ความรักในครอบครัวเพิ่มขึ้น ขณะที่นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวถึงผลวิจัยเกี่ยวกับอีคิวและไอคิวเด็ก พบว่า มีข้อมูลวิชาการยืนยันได้ว่า การอ่านหนังสือที่หลากหลายให้เด็กฟังจะช่วยกระตุ้นให้สมองเด็กพัฒนามากขึ้น จากผลสำรวจการใช้เวลาของเด็กไทยพบว่า มีเพียงร้อยละ 27 ของเด็กไทยที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวันในการรับสื่อ แบ่งเป็นการดูทีวี การเล่นอินเทอร์เน็ต การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งล่าสุดพบด้วยว่า การดูทีวีของเด็กไทยไม่เพิ่มขึ้น แต่กลับพบการใช้มือถือในเด็กเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมือถือมีทั้งอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีหลายอย่างรวมอยู่ นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กไทยปัจจุบันอยากไปโรงเรียนลดลง ผลสำรวจพบเพียงร้อยละ 38 ที่อยากไปโรงเรียน ซึ่งลดจากเดิมที่อยากไปโรงเรียนร้อยละ 43 ดังนั้น ช่วงเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันของเด็กที่ใช้ไปกับการอยู่ที่โรงเรียนและการรับสื่อ แต่มีระเบียบควบคุมต่างกัน โรงเรียนมีระเบียบควบคุม แต่สื่อสมัยใหม่เด็กเข้าไปใช้อย่างเสรีไม่มีระเบียบบังคับ ซึ่งน่าห่วง และยังพบว่า เด็กส่วนหนึ่งระบุว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยและมีการกระทำรุนแรงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3-4 เป็นร้อยละ 10-15.-สำนักข่าวไทยอัพเดตเมื่อ 2009-01-07 14:34:03

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *