กรณีศึกษานางเอกโสมปลิดชีพ ภัยสังคมเน็ตที่ต้องระวัง

กรณีศึกษานางเอกโสมปลิดชีพ ภัยสังคมเน็ตที่ต้องระวัง
• คุณภาพชีวิต
ชี้เหตุซึมเศร้าฉนวนฆ่าตัวตาย หวั่นเลียนแบบ!!!

ภายใต้รอยยิ้มทรงเสน่ห์ของเหล่านางเอกสาวเกาหลีซึ่งผู้ชมทั่วเอเชียหลงใหลชื่นชม ยากที่จะคาดเดาได้ว่า ใครบ้างที่ตกอยู่ในอาการซึมเศร้า และใครบ้างที่อาการหนักถึงขั้นฆ่าตัวตาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้สูญเสียนางเอกระดับแนวหน้าของวงการไปอีกรายในเหตุการณ์ที่ช็อกประเทศ

ปกติแล้ว ชอย จินซิล นางเอกคุณแม่ลูกสองวัย 40 ปี มักมีภาพที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง เป็นขวัญใจแฟนๆ มานานกว่า 20 ปี

แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้นกลับปิดบังปัญหาในชีวิต จนแฟนๆ ไม่คาดคิดว่า เธอจะเลือกปลิดชีวิตตนเองเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยทิ้งลูกวัย 6 และ 8 ขวบไว้เบื้องหลัง

นางเอกชอยเป็นดารารายที่ 6 นับจากปี 2548 ที่ฆ่าตัวตายช็อกวงการ

ต่อจากนางเอกสาวลี อึนจู วัย 25 ปี นางเอกสาวจอง ดาบิน วัย 27 ปี นักร้องสาวยูนี วัย 21 ปี และสองดาราหนุ่มรุ่นใหญ่ โยว แจกู และ อัน แจฮวาน

อัตวินิบาตกรรมของดาราเหล่านี้ตอกย้ำด้านมืดของวงการบันเทิงเกาหลี

นักร้องหญิงคนหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ ว่า ตนเองเคยพยายามฆ่าตัวตาย และเพื่อนร่วมงานของเธอต่างก็มีอาการเครียดและรู้สึกโดดเดี่ยว

1.นางเอก จอง ดาบิน ปลิดชีวิตตนเองในปี 2550

2.นักร้องสาวยูนี ฆ่าตัวตายในปี 2550

3.รถนำศพนางเอกดังออกจากบ้าน

4.นางเอกชอย จินซิล กับลูกๆ

5.บทบาทในจอทีวีของชอย จินซิล

“คุณมักตกอยู่ในสายตาของสาธารณชน และเหมือนเป็นวงจรว่า ผู้คนจะทำให้คุณรู้สึกตกต่ำลง หลังจากที่ดาราถูกปฏิบัติในแบบที่มีแต่คนรักและดูแล พวกเขาจึงไม่รู้ว่า จะจัดการกับปัญหาของตนเองอย่างไร”

ดร.ฮอง จินเปียว จากศูนย์การแพทย์อาซาน กล่าวถึงกรณีของนางเอกชอย ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คิดได้ว่าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย

จากผลการสอบสวนของตำรวจที่ออกมา ประเด็นที่ชัดเจนที่สุดก็คือ นางเอกไม่อาจทนข่าวลือที่ถาโถมไม่หยุดหย่อนในสังคมอินเตอร์เน็ต ว่าเธอเป็นผู้ออกเงินกู้ดอกเบี้ยโหดให้อัน แจฮวาน พระเอกที่ผันตัวเป็นนักธุรกิจ จนดาราชายฆ่าตัวตายหนีหนี้ท่วมไปเมื่อเดือนกันยายน

แม้ดาราสาวและครอบครัวจะปฏิเสธแล้ว แต่ข่าวลือก็ยังแพร่สะพัดไปเหมือนไฟลามทุ่ง

อิทธิพลจากโลกของอินเตอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาว เป็นแรงกดดันสำคัญต่อดาราทุกวันนี้มาก

ยูนี และชอย จินซิล ถูกกระทำคล้ายๆ กันในลักษณะที่ถูกจดหมายสนเท่ห์ในเว็บบอร์ดกล่าวร้ายและดูถูกเหยียดหยาม

แต่เหนือปัจจัยทั้งปวง ดร.ฮองเห็นว่า นางเอกชอยตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองเพราะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งดาราที่ฆ่าตัวตายรายอื่นเป็นเช่นกัน

ข้อความที่แต่ละรายลาตายไว้ บ่งบอกถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในชีวิต

ขณะที่ผู้ฆ่าตัวตายรายอื่นๆ ที่เป็นประชาชนทั่วไปพบว่า ร้อยละ 80 ล้วนมีอาการซึมเศร้า

“ชอย จินซิล มีชีวิตที่เปิดเผยต่อประชาชน ทุกๆ ส่วนถูกแต่งเติมเสริมให้เกินจริงและแพร่ผ่านบุคคลที่ไม่รู้จัก จนเกิดการตั้งประเด็นน่าสงสัยขึ้นมาต่างๆ นานา” ดร.ฮอง กล่าว

นักจิตวิทยาหญิง กล่าวต่อว่า นางเอกชอยอาจทรมานจากอาการที่เรียกว่า “โพสต์-ทรูมาติก ซิน โดรม” (post-traumatic syndrome) ซึ่งเป็นอาการเครียด หลังจากการหย่าร้างที่ลงเอยไม่ดีในปี 2547 แม้ดาราหญิงได้สิทธิ์เลี้ยงดูลูกทั้งสองคน แต่ก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบทางการเงินและอาชีพ

สิ่งที่น่าวิตกก็คือ เมื่อมีข่าวใหญ่ของการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นแล้ว จะเกิดผลกระทบที่เป็นโดมิโน่

จากข้อมูลของสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายเกาหลี เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราประชากรฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี คิดเป็นอัตรา 24.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2550

เมื่อครั้งที่นางเอกสาวลี อึนจู ฆ่าตัวตาย เกิดเหตุการณ์ชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ต่อมาในกรณีของยูนี เจ้าหน้าที่ฮอตไลน์ที่ปรึกษาของเกาหลีใต้ แจ้งว่า มีคนหนุ่มสาวโทร.มาคุยว่า คิดถึงการฆ่าตัวตายเหมือนกัน เพราะขนาดคนสวยอย่างยูนียังทนอยู่ในโลกนี้ต่อไปไม่ไหว

ส่วนกรณีของนางเอกชอย หลังจากข่าวฆ่าตัวตายรายงานไปได้ไม่กี่ชั่วโมง มีหญิงเกาหลีใต้ 2 รายฆ่าตัวตายด้วยวิธีผูกคอตายในห้องน้ำแบบเดียวกัน

จอน แจฮี รมว.สาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าวแนะนำ ให้ผู้ที่รู้ตัวว่าซึมเศร้าเร่งหาคนปรึกษา เพื่อระบายความในใจ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปควรใส่ใจกับปัญหาการฆ่าตัวตาย

“ที่ผ่านมา เรารู้กันว่าจำนวนผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และเมื่อเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมักจะมีเหตุลอกเลียนตามมา การฆ่าตัวตายเหมือนเป็นโรคติดต่อที่อันตราย ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยป้องกัน”

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *