ลงทุน : กฏการลงทุน

ลงทุน : กฏการลงทุนValue Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ในหนังสือคัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ The Intelligent Investor ของเบนจามิน เกรแฮม ได้กล่าวถึงหลักการในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าไว้มากมาย หลายๆอย่างที่อาจารย์เกรแฮมระบุเอาไว้สามารถถือว่าเป็น”กฎ”ในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

กฏข้อแรกของการลงทุนคือ “อย่าขาดทุน”
ฟังดูเหมือนกฏข้อนี้เป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากกว่าที่คิด เนื่องจากถ้ากฏข้อนี้ทำได้ง่ายๆ คนเล่นหุ้นในตลาดหุ้นคงไม่มีใครขาดทุนกันอย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงคนเล่นหุ้นส่วนใหญ่มักจะขาดทุนกันเป็นส่วนมาก
กฏข้อนี้ถ้าพิจารณาดูดีๆพบว่าสามารถใช้ได้ทั้งกับนักเก็งกำไรและนักลงทุนระยะยาวเลยทีเดียว สำหรับนักเก็งกำไร การตัดขาดทุนถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการ”จำกัด”ความเสี่ยงในการลงทุนอย่างสำคัญ ถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นลดลงเกินกว่าที่กำหนด นักเก็งกำไรมักตัดขายขาดทุนทันที แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การตัดขาดทุนบ่อยๆนั้นอาจทำให้เกิดการขาดทุนสะสมที่มากกว่าที่คิดได้ เช่น ถ้านักเก็งกำไรมีจุดคัตลอสที่ 3% ถ้าตัดขาดทุนสักสามครั้งติดต่อกัน การขาดทุนสะสมจะมากถึง 10% ของเงินลงทุนเลยทีเดียว

ดังนั้นนักเก็งกำไรสามารถใช้กฏ”อย่าขาดทุน”ในการลงทุนได้ เช่น ถ้าซื้อหุ้นมาแล้ว ราคาหุ้นสูงขึ้นก็ไม่ควรให้ราคาหุ้นนั้นลดลงมาจนต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาจนขาดทุน ถึงจะตัดใจขายได้ เรียกว่า อย่าให้กำไรกลับมาเป็นขาดทุน บ่อยครั้งที่นักเก็งกำไรถือหุ้นไว้เพราะคิดว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลง จะขายก็กลัวราคาหุ้นจะกลับมาสูงขึ้น สุดท้ายลังเลไปมาจนกว่าจะขาย ราคาหุ้นนั้นก็ต่ำจนขาดทุนเสียแล้ว
หรือในอีกกรณีหนึ่งที่นักเก็งกำไรซื้อหุ้นมาแล้วราคาหุุ้นลดลงจนขาดทุน การขายตัดขาดทุนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โดยรวมแล้ว นักเก็งกำไรต้องทำ”กำไร”ให้ได้มากกว่า”ขาดทุน”ที่สูญเสียไป ก็เข้าข่ายกฏ”อย่าขาดทุน”ได้เช่นเดียวกัน
สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า กฏ”อย่าขาดทุน”ถือว่าเป็นกฏที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุน เพราะเงินลงทุนจะเติบโตได้ต้องอาศัยผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นบวก ถ้าปีไหนพอร์ตการลงทุนติดลบขึ้นมา การสร้างผลตอบแทนให้กลับมาเท่าเดิมนั้นต้องมีกำไรมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว เช่น เงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาท แต่ปีนั้นขาดทุน 50% เหลือเงินลงทุน 50,000 บาท ในปีถัดมานักลงทุนจำเป็นต้องทำผลตอบแทนจากการลงทุนถึง 100% จึงจะกลับมาเท่าทุนได้
ในหนังสือ The Intelligent Investor ได้ยกตัวอย่างความสำคัญของกฏอย่าขาดทุนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

“สมมุติว่านักลงทุนสามาถหาหุ้นที่สามารถให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซนต์ต่อปี ขณะที่ตลาดโดยรวมให้ผลตอบแทนปีละ 5 เปอร์เซนต์ได้ แต่โชคไม่ดีที่นักลงทุนท่านนั้นกระตือรือร้นมากเกินไปจนทำให้ซื้อหุ้นตัวนั้นมาในราคาแพงจนทำให้ขาดทุน 50 เปอร์เซนต์ในปีแรก กระทั่งในเวลาต่อมา หุ้นตัวนั้นให้ผลตอบแทนเป็นสองเท่าของตลาด ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่า 16 ปีกว่าที่ราคาหุ้นนั้นจะไล่ตามดัชนีตลาดทัน ทั้งหมดเป็นเพราะนักลงทุนซื้อหุ้นในราคาแพงเกินไปและขาดทุนมากเกินไปในตอนต้น”
การขาดทุนยิ่งในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนมีผลต่อผลตอบแทนในอนาคตมาก จะเห็นว่าไม่ว่าเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรจำเป็นต้องรำลึกถึงกฏ”อย่าขาดทุน”ไว้เสมอตลอดระยะเวลาการลงทุน ถ้าท่านสามารถทำตามกฏนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *