AEC : ชี้เออีซีเอื้อไทยฮับท่องเที่ยว

AEC : ชี้เออีซีเอื้อไทยฮับท่องเที่ยว

“ทีทีเอ” แจงเปิดเออีซีปี 58 เอื้อไทยขึ้นฮับท่องเที่ยวอาเซียน จี้ธุรกิจสร้างศักยภาพและปรับตัว เพื่อชิงผลประโยชน์จากเออีซี ทั้งหนุนใช้ไอทีขยายโอกาสทางการตลาด ขณะที่ธุรกิจทัวร์ต้องเพิ่มทักษะทางภาษาเพื่อความอยู่รอด

นายอภิชัย สกุลสุรียเดช ประธานสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวหรือทีทีเอ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 จะส่งผลให้อาเซียนอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหรือฮับของทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะเป็นผลดีหากคนไทยรู้จักเออีซี ซึ่งประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือไทยไม่รู้จักเออีซีดีพอที่จะหาผลประโยชน์ และมองว่าเออีซีให้ผลดีมากกว่า หากไทยสามารถสร้างศักยภาพ คุณภาพ และความมั่นคงต่อไปได้

“กรณีในเรื่องสนามบิน หากประเทศไทยสามารถพัฒนาต่อเนื่อง ไทยจะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน และมีโอกาสเป็นฮับของอาเซียน เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าและมีสนามบินใหญ่กว่า หากไทยไม่มีการประท้วง และรัฐบาลอยู่ได้อย่างสงบรวมถึงเมื่อถึงเวลาเปิดเสรี ยังมีหลายสิ่งที่ไทยจะต้องปกป้อง เช่น มัคคุเทศก์ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนจะต้องเก่งพอที่จะดึงโลกเข้ามาหาตัวเองก่อน แล้วค่อยให้เคลื่อนย้ายหรือ Transfer ไปที่อื่น”

ดังนั้น จึงจะต้องมีการทำกลยุทธ์การตลาดที่ดี โดยช่องทางการตลาดที่ดีในปัจจุบันคือระบบอินเตอร์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องทำธุรกิจให้ครบวงจรหรือเป็น one stop service และต้องใช้เทคโนโลยี แต่หากผู้ประกอบการยังเทรดช่องทางดั้งเดิมหรือ traditional อาจจะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น การทำตลาดก็ต้องมุ่งไปที่ไอทีเป็นหลัก

ส่วนข้อเสียจากการเปิดเออีซีน่าจะอยู่ที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจทัวร์ โอเปอเรเตอร์ เพราะต้องระวังประเทศอื่นที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจแทน ซึ่งสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่า เช่น เวียดนามสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เป็นต้น แต่หากผู้ประกอบการมีการพัฒนาทักษะในการตั้งรับ มีการทำตลาดที่ดีบนช่องทางอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปถึงคนจำนวนมากก็จะมีโอกาสในการปกป้องธุรกิจของตนได้

นายอภิชัย กล่าวอีกว่า ไอทียังเป็นตัวที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่รอด โดยปัจจัยอื่นๆ คือพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้มากขึ้น เช่น ในด้านเทคโนโลยี แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ การบริการลูกค้า และการตลาด เป็นต้น ประกอบกับเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโลกในอนาคต โดยหน่วยงานต่างๆ ต่างจับตามองเอเชียเนื่องจากเป็นทวีปที่เติบโตมากกว่าทวีปอื่นๆ และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ในขณะที่ไทยเองก็ต้องจับตานักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย สำหรับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศนี้เพราะมีเศรษฐกิจที่เติบโตพอสมควร เนื่องจากยุโรปมีวิกฤติยูโรและเศรษฐกิจของอเมริกาก็ไม่ขยายตัว ดังนั้น ประชาชนจึงจะไม่ค่อยใช้จ่ายในด้านท่องเที่ยว ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกจึงจะเป็นใจกลางที่จะผลักดันการท่องเที่ยวให้ขยายตัว

นอกจากนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยยังใช้ช่องทางออนไลน์มากที่สุด ซึ่งอินเตอร์เน็ตจะมีผลกระทบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งช่องทางการใช้ที่เด่นที่สุดคือการค้นหาข้อมูลที่คนอื่นเขียนไว้ เช่น บล็อกต่างๆ ซึ่งพวกนี้จะมีผลกระทบมากกว่าเว็บไซต์ที่ขายห้องพัก โดยพวกที่เป็นรีวิวไซต์จะมีบทบาทสูงกว่า เพราะผู้อ่านจะเห็นมุมมองทั้งข้อดีและไม่ดี เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันจะไม่ค่อยเชื่อถือเว็บไซต์ขายห้องพักที่นำรูปผ่านการตกแต่งจากโฟโตช็อป

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมเหล่านี้ของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเอเชียยังมองไม่เห็น รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ทราเวล โอเปอเรชันไม่เข้าใจ ซึ่งอยู่ที่ทักษะและการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมในด้านการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมทางออนไลน์ ยกตัวอย่างแอร์เอเชีย ซึ่งมีการขายผ่านออนไลน์ 100% และมุ่งเน้นตลาดอาเซียน เนื่องจากการทำธุรกิจในทวีปนี้ทำให้มองเห็นโอกาสและจำนวนของนักท่องเที่ยวเข้าออก และมีการพัฒนาช่องทางอินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาก็มีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับเว็บไซต์เอ็กซ์พีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน และโรงแรม+ตั๋วเครื่องบินบนออนไลน์ เพราะแอร์เอเชียมีความมั่นใจในเรื่องการใช้ไอที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,772 6-8 กันยายน พ.ศ. 2555

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *