ไอที : เอเย่นต์ ออนไลน์ โหมท่องเที่ยวเอเชีย

ไอที : เอเย่นต์ ออนไลน์ โหมท่องเที่ยวเอเชีย

รูปแบบการซื้อ-ขายสินค้า”ท่องเที่ยว”ของไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปรับโฉมครั้งสำคัญ หลังจากช่วง 2 ปีหลัง “ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์”(โอทีเอ) หรือตัวแทนซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก กรุยทางเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการ ตามแผนการรุกคืบสร้างรากฐานในเอเชีย หลังจากตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปเริ่มอิ่มตัว กลายเป็นอีกช่องทางสำคัญทำให้คนไทยมีทางเลือกในการจับจ่ายสินค้าท่องเที่ยว มากกว่าการเปิดหน้าสิ่งพิมพ์ หรือออกไปเดินงานส่งเสริมการขายเหมือนที่ผ่านมา

ในงานสัมมนา “เอเชีย แปซิฟิก ดิจิทัล ฟอรั่ม” ที่ผ่านมาจัดโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (ทีทีเอ) ผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำในโลกออนไลน์ด้านท่องเที่ยวที่มาร่วมให้ข้อมูล ต่างบอกตรงกันว่า ถึงจะมีการแข่งขันสูง…แต่ตลาดนี้ก็ยังมีพื้นที่สำหรับผู้ให้บริการที่สนใจเข้ามาเล่นได้อีกมาก

เลนนาร์ท แวด เดอ บีค รองประธานฝ่ายพัฒนาพันธมิตรธุรกิจ จากอโกด้าดอทคอม (agoda.com) ยอมรับว่าหัวใจหลักของธุรกิจออนไลน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ที่การประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนที่ให้ “ราคาดีที่สุด” (Best Price) หรือ “เรทที่ดีที่สุด” (Best Rate) สำหรับลูกค้า เพราะกุญแจที่ทำให้ โอทีเอ ช่วงชิงลูกค้าได้ก็คือต้องใช้ราคาเป็นตัวจูงใจ เพราะจากการสัมผัสโดยตรงกับตลาดผู้บริโภค พบว่ายังมีความอ่อนไหวต่อเรื่องราคามาก

แต่ทั้งนี้อีก 2 ปัจจัยที่สำคัญคือผู้ให้บริการต้องพัฒนา “เทคโนโลยี” ตอบสนองอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเตรียมช่องทางเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ต้องวางระบบให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพ และอีกด้านต้องทำงานร่วมกับ “พันธมิตรธุรกิจ” โรงแรมต่างๆ อย่างใกล้ชิดทุกระดับไม่ว่าจะ 1 ดาวหรือ 5 ดาว

สำหรับกระแสการแข่งขันของ โอทีเอ รายใหญ่ที่เริ่มตบเท้าเข้ามาในเอเชียและไทยนั้น รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง “เอ็กซ์พีเดีย” อันดับหนึ่งในสหรัฐ

ผู้บริหารอโกด้าในฐานะธุรกิจลูกของบริษัท “ไพรซ์ไลน์” ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดโอทีเอเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าทุกธุรกิจมีบทบาทในตลาดของตัวเอง ซึ่งหากดูตามจุดยืนของแต่ละแห่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรง

จุดแข็งของ “อโกด้า” คือ การขายโรงแรมที่มีอยู่กว่า 150,000 แห่งทั่วโลก การขยายเครือข่ายของพันธมิตร จากปัจจุบันมีสำนักงานใน 35 แห่งทั่วโลก โดยภูมิภาคที่ถือว่ามีการเติบโตขยายตัวดีมาก ก็คือ เอเชีย เพราะมีสายการบินต้นทุนต่ำเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่ อโกด้า เกิดขึ้นมาจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงนับได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นฐานการตลาดที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจมาตลอด

จากข้อมูลผลประกอบการธุรกิจโอทีเอที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก สหรัฐ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของโอทีเอใหญ่ระดับโลก ระบุว่าในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ไพรซ์ไลน์ เริ่มขยับเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเข้ามาใกล้อันดับหนึ่งอย่าง เอ็กซ์พีเดีย ที่อัตรา 11.6% ต่อ 14.2% ซึ่งเป็นผลจากตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทขยายธุรกิจไปนอกอาณาเขตสหรัฐอย่างมาก

โดยเฉพาะกรณีของ ไพรซ์ไลน์ ที่ซื้อกิจการของโอทีเอรายใหญ่อย่าง อโกด้าดอทคอม และ บุ๊คกิ้งดอทคอม ทำให้มีพันธมิตรโรงแรมกว่า 2.1 แสนแห่งทั่วโลก มีสัดส่วนการจองออนไลน์จากตลาดต่างประเทศ (นอกจากสหรัฐ) ถึง 78% เพิ่มจากปี 2550 ซึ่งมีเพียง 50% และเฉพาะปี 2554 ที่ผ่านมา ตลาดต่างประเทศทำรายได้ให้กับ ไพรซ์ไลน์ สูงถึง 88%

ตอบโจทย์ ‘เฉพาะกลุ่ม’

ด้าน หลิง ควาน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจเอเชียแปซิฟิก จากเอ็กซ์พีเดีย ซึ่งเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากเข้ามาตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ และกำลังมีแผนขยายไปยัง มาเลเซียและอินโดนีเซีย กล่าวว่า ทุกวันนี้ ตลาดออนไลน์ยังเป็นเค้กก้อนใหญ่ และยังมีที่ว่างให้ผู้เล่นเข้ามาอีกมาก แต่ละแห่งต่างมีจุดขายของตัวเอง เช่น เอ็กซ์พีเดีย ที่เน้นเรื่องการขาย “ห้องพักควบคู่กับสายการบิน” ในราคาที่คุ้มค่า ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่โอทีเอรายใหญ่จะเป็นคู่แข่งขันกันโดยตรง เพราะลูกค้าไม่ใช่กลุ่มเดียวกันเสมอไป

ในฐานะผู้ให้บริการก็ต้องจับกระแสความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าและหาพันธมิตรที่เหมาะสมมาร่วมนำเสนอขายผ่านออนไลน์ได้ โดยกระแสที่เธอเห็นว่ากำลังมาแรง คือ ลูกค้าจะค้นหาการตอบสนองที่ “เป็นส่วนตัว” และเจาะจงความต้องการ “เฉพาะทาง” (niche) มากขึ้น เช่น ต้องการบริการโรงแรมที่สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปได้ หาโรงแรมที่มีบริการไวไฟฟรี ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีสร้างระบบค้นหาก็ต้องเปิดช่องทางให้ลูกค้าจับคู่เจอกับพันธมิตรเหล่านี้ให้ตรงกัน

นอกจากนี้ การขยายเข้าไปในตลาดสำคัญ ที่มีพฤติกรรมเฉพาะในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มของโอทีเอที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นตัวรุก อย่างเช่น ตลาดจีน ที่มีเครือข่ายบริษัทลูกอย่าง elong.com เป็นตัวหลักในการเจาะเข้าถึงลูกค้า

ขยายแพลตฟอร์ม ‘สื่อ’

ขณะที่ผู้ให้บริการออนไลน์ประเภทชุมชนนักท่องเที่ยวอย่าง “ทริปแอดไวเซอร์” นำโดย แอนเดรียส เบห์เรนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพันธมิตรด้านโมบาย ประจำเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เทรนด์ความสนใจของลูกค้าในการใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ดูจากยอดการรีวิวผ่านเว็บของทริปแอดไวเซอร์ที่ทะลุหลัก 75 ล้านรีวิวไปแล้ว และคาดว่าจำนวนผู้ใช้จะมีทั้งสิ้น 54 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากว่า 31%

ทริปแอดไวเซอร์ เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจด้วยว่า กลุ่มผู้ใช้เพื่อการเลือกหาห้องพักโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้สูงสุด มีการเติบโตถึง 30% และทำให้บริษัทวางแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายตัว ว่า จะต้องใช้การหลอมรวมสื่อ หรือคอนเวอร์เจนซ์ ระหว่างคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นประโยชน์ เพราะเทรนด์การใช้งานของผู้บริโภค เริ่มเห็นว่ามีการใช้เครื่องมือเข้าถึงเนื้อหาที่ตอบสนองความเป็น “ส่วนตัว” มากขึ้น

การปรับตัวเพื่อรับความนิยมดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เริ่มเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่ “ซิตี้ไกด์” ที่เจาะลึกข้อมูลเฉพาะเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งจะเป็นทั้งเวทีของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่จะเข้ามารีวิวโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร โดยต่อยอดจากเว็บไซต์หลักของทริปแอดไวเซอร์ที่มีอยู่

จากข้อมูลของตัวแทนบริษัทชั้นนำระดับโลกดังกล่าว เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า โอทีเอ ระดับโลกจะยังคงรุกคืบเข้ายึดตลาดออนไลน์ด้านท่องเที่ยวในเอเชียและไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกรายยอมรับว่า รายได้หลักของธุรกิจก็มาจาก “พันธมิตร” อย่างกลุ่มโรงแรมในประเทศต่างๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รายได้มาจากการเก็บส่วนแบ่งรายได้จากการขายห้องพักนั่นเอง

บทสรุปครั้งนี้ จึงกลายเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและทัวร์ในไทยด้วยว่าจะเร่งปรับตัวรับการแข่งขันเพื่อรักษา “ความได้เปรียบ” ของธุรกิจไว้อย่างไร ในยุคที่รูปแบบการ “ซื้อ-ขาย” พลิกโฉมไปอยู่ในมือผู้เล่นรายใหม่มาแรงอย่างโอทีเอระดับข้ามชาติที่ทยอยเข้ามายึดหัวหาดแล้วในวันนี้

ที่มา : กรุงเทพฯธุรกิจ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *