The Richest Man in Babylon นิยายปรัมปราแห่งเมืองบาบิโลน (จบ)

The Richest Man in Babylon นิยายปรัมปราแห่งเมืองบาบิโลน (จบ)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย นภาพร ลิมป์ปิยากร ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3835 (3035)
สำาหรับประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อรับความโชคดี อักราไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในหอแห่งการเรียนรู้เพื่อถกกันว่า ควรจะทำอย่างไรเมื่อโชคดีมาถึงตัว อักรา กล่าวอย่างแข็งขันว่า เขาไม่เคยเห็นใครร่ำรวยจากการเล่นการพนัน เขาเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งความโชคดีจะไม่อยู่ในแหล่งการพนันอย่างแน่นอน แต่จะให้ความช่วยเหลือกับคนที่มีความจำเป็นจริงๆ หรือให้รางวัลเฉพาะกับคนที่สมควรได้รับ เช่น ชาวนาหรือพ่อค้าซึ่งสมควรจะได้รับกำไรจากความพยายามในการทำงาน
อักราเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อเขายังเยาว์ให้เพื่อนๆ ฟังว่า พ่อของเขาได้ชักชวนเขาให้เข้าหุ้นกับลูกเพื่อน เพื่อซื้อที่ดินมาทำจัดสรรโดยใช้เงินเพียงหนึ่งในสิบของรายได้ แต่แทนที่เขาจะเชื่อพ่อนำเงินไปลงทุนตามคำแนะนำ เขากลับนำเงินนั้นไปจับจ่ายใช้สอยและซื้อเสื้อผ้าให้ภรรยาจนหมดสิ้น ผลปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้น ทำกำไรอย่างงดงามให้กับผู้เข้าหุ้นทั้งหมด เขาจึงพลาดโอกาสที่จะเริ่มต้นสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง
หลังจากนั้นอักราจึงเปิดโอกาสให้ผู้มาร่วมชุมนุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง ชายคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพขายสัตว์เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังจากที่เขาเดินทางออกจากเมืองไปนานกว่าสิบวัน เพื่อหาซื้อแกะ ในวันที่เขาจะกลับเข้าเมืองประตูเมืองปิด เขาจึงกลับเข้าเมืองไม่ได้ทำให้เขาพบพ่อค้าขายแกะอีกคนหนึ่ง ซึ่งรีบร้อนจะขายฝูงแกะทั้ง 900 ตัวให้ในราคาถูก เพราะต้องการนำเงินไปรักษาภรรยาที่เจ็บป่วย แต่เขารั้งรอเพราะขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ซึ่งมืดเกินกว่าจะนับจำนวนแกะได้ เมื่อใกล้รุ่งมีพ่อค้าอื่นเดินทางออกมาจากเมือง จึงได้ต่อรองซื้อฝูงแกะนั้นไปในราคาที่แพงกว่าที่เขาควรจะได้เสียอีก และยังสามารถนำไปขายต่อจนทำกำไรได้อย่างงาม
ก่อนจากกันในวันนั้น อักราสรุปว่า วิธีการเริ่มต้นสร้างความร่ำรวยนั้นเหมือนกันทุกคน โดยจะต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก่อนเสมอ จากการเป็นคนขายแรงงานซึ่งมีรายได้เป็นค่าแรง แล้วนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาลงทุนจนกระทั่งมีรายได้ จากดอกเบี้ยจากเงินสะสม ส่วนการดึงดูดโชคเข้าหาตัวเองหมายถึงการรู้จักฉกฉวยโอกาส เพราะคนโชคดี คือคนที่ลงมือกระทำเท่านั้น โอกาสไม่เคยรอใคร ผู้อยากร่ำรวยต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
ในด้านประเด็นเกี่ยวกับกฎสำคัญที่มักเรียกกันว่า “กฎทอง” (golden rules) นั้น ผู้เขียนนำสิ่งที่เขียนมารวมกัน แล้วแยกพิจารณาเป็น 5 ข้อด้วยกันคือ 1)ออมเงินหนึ่งในสิบของรายได้ 2)ใช้เงินทำงานให้ด้วยการลงทุนอย่างชาญฉลาด 3)ลงทุนตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ 4)ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย และ 5)ไม่ลงทุนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่พยายามหาวิธีที่จะได้เงินอย่างรวดเร็วเพราะจะมีโอกาสสูญเงินอย่างรวดเร็วเช่นกัน
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับหลักในการให้กู้ยืมเงิน ตัวละครเป็นคนทำหลาวซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลจากกษัตริย์เป็นเงินถึง 50 เหรียญทองแล้วไปขอปรึกษาจากนักค้าเงินว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับเงินที่ได้มา และเขาควรจะให้สามีของน้องสาวยืมเงินหรือไม่ นักค้าเงินกล่าวว่า เงินนั้นนอกจากจะเปลี่ยนฐานะของผู้รับแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งความรู้สึกถึงการมีอำนาจและความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันมันยังอาจนำความทุกข์จากความรู้สึกกลัวการสูญเสียและนำความยุ่งยากมาให้ นักค้าเงินได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้คนทำหลาวฟังว่า วันหนึ่งขณะที่วัวกำลังรู้สึกอ่อนเพลียและเบื่อหน่ายกับการทำงาน มันจึงรำพึงรำพันให้ลาฟัง ลาจึงแนะนำวัวว่าในวันรุ่งขึ้นหากเจ้านายมาเรียกให้วัวไปทำงาน ให้วัวแกล้งทำเป็นป่วยเสีย ผลก็คือเจ้านายนำลาไปใช้งานแทนวัว ตกเย็นลาเหนื่อยมากจึงกลับมาเล่าให้วัวฟังว่า มันได้ยินเจ้านายบ่นว่า หากพรุ่งนี้วัวยังแกล้งป่วยอีกเจ้านายจะส่งวัวไปโรงฆ่าสัตว์ นักค้าเงินสรุปจากนิทานเรื่องนี้ว่า จงให้ความช่วยเหลือคนอื่นให้มากที่สุด แต่อย่าช่วยจนเขาต้องกลายมาเป็นภาระของตัวเอง
หลังจากนั้นคนทำหลาวสอบถามถึงหลักในการพิจารณาการปล่อยกู้ของนักค้าเงิน นักค้าเงินกล่าวว่า เขาแบ่งคนที่มาขอกู้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1)คนที่ต้องมีหลักประกันเท่านั้น เขาจึงจะให้กู้ และหลักประกันต้องมากพอหรือมากกว่าเงินที่ขอกู้ เพราะเขาเห็นว่าคนกลุ่มนี้อาจนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินมากกว่าที่จะได้เงินคืน 2)คนทำงานที่เขาคิดว่ามีความสามารถมากพอที่จะจ่ายเงินคืน คนเหล่านี้มักนำเงินที่กู้ไปลงทุนที่เขาพิจารณาแล้วว่า มีโอกาสทำกำไร และ 3)คนประเภทที่ต้องมีคนที่ไว้ใจได้ค้ำประกันการกู้หรือเป็นนายประกันให้ กลุ่มนี้ไม่ต่างจากกลุ่มแรกมากนัก ซ้ำร้ายไม่มีแม้แต่สินทรัพย์ที่จะค้ำประกันจึงต้องมีคนที่เขาไว้ใจได้ค้ำประกันเขาจึงจะให้กู้
ประเด็นสุดท้ายได้แก่การวางแผนเพื่อความสำเร็จ ประเด็นนี้มีตัวละครชื่อดาบาเซอร์ คนขายอูฐ ซึ่งเล่าเรื่องอันน่าขมขื่นของตัวเอง ให้ลูกหนี้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งยังเยาว์ ดาบาเซอร์ก็ประพฤติตัวเช่นลูกหนี้ในขณะนั้น นั่นคือ ใช้จ่ายเงินเกินตัวจนเป็นหนี้ ภรรยาจึงหนีกลับไปอยู่กับพ่อแม่ เขาต้องหนีเจ้าหนี้ออกจากเมืองไปเป็นโจร เมื่อเขาถูกจับได้ก็ถูกขายไปเป็นทาสในประเทศซีเรีย ด้วยความโชคดีที่เขามีความสามารถในการดูแลและใช้งานอูฐ ภรรยาของเจ้านายจึงยกหน้าที่คนขี่อูฐประจำตัวให้เขา นางได้สอนบทเรียนอันมีค่าแก่เขาคือ ไม่มีใครได้รับการยอมรับนับถือหรือแม้แต่นับถือตัวเองได้หากไม่สามารถชำระหนี้ การใช้หนี้เป็นการพิสูจน์ว่า เราเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของครอบครัวรวมทั้งเป็นลูกที่พ่อแม่ภาคภูมิใจ นางจึงได้หยิบยื่นโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิตให้แก่เขา โดยเปิดโอกาสให้เขาหลุดพ้นจากความเป็นทาส เขาจึงกลับมาที่เมืองบาบิโลน และเริ่มวางแผนและปฏิบัติตามความตั้งใจของตัวเองเพื่อให้พ้นจากความเป็นหนี้
เขาเริ่มต้นด้วยการทำตามกฎการจ่ายให้ตัวเองก่อนโดยเริ่มเก็บเงินหนึ่งในสิบของรายได้เพื่อการออม ใช้เงินเพียงเจ็ดในสิบของรายได้เพื่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าแต่ละเดือนเขาจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม และสุดท้ายเขาใช้เงินสองในสิบชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย เขาใช้ทั้งความอดทนและวินัยในตัวเอง การวางแผนอย่างดีและการดำเนินตามแผนอย่างเข้มงวดทำให้ตัวเองพ้นจากความเป็นหนี้ภายในเวลาไม่กี่ปี และยังสามารถใช้กฎนี้สร้างความร่ำรวยต่อมาจนมีเงินมากมาย
ข้อสังเกต – หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและมีข้อคิดที่ไม่น่าจะยากสำหรับการนำไปปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นต้นตำรับของหนังสือจำพวกแนะนำ การสร้างความร่ำรวย ซึ่งวางขายอยู่ในตลาดอย่างดาษดื่น อยู่ในขณะนี้ ผู้ได้อ่านหนังสือเรื่อง Rich Dad, Poor Dad ของ Robert T. Kiyosaki และ Sharon L. Lechter ซึ่งขายดีสุดๆ มาเป็นเวลานานและก่อให้เกิดหนังสือแนวสร้างความร่ำรวยอีกหลายชุดตามมา อาจจำได้ว่า ผู้เขียนยกย่องแนวคิดใน The Richest Man in Babylon มาก โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ตัวเองก่อนการใช้จ่ายอย่างอื่น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกคนไม่เฉพาะแต่กับนักวางแผนทางการเงินเท่านั้น
คงเป็นที่ประจักษ์ หรือเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์แล้วว่า เหนือสิ่งอื่นใดการอ่านคู่มือสร้างความร่ำรวยอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ใครร่ำรวยได้ มีแต่การลงมือปฏิบัติเท่านั้น หนทางสู่ความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากก้าวแรก แล้วเสริมแต่งด้วยความอดทนและความมีวินัย ไม่ใช่ด้วยการเดินทางลัด ทุกคนมีโอกาสที่จะร่ำรวยได้ทัดเทียมกัน นอกจากผลดีจะตกกับตัวบุคคลแล้วสังคมโดยรวมก็จะมีเงินออมและร่ำรวยมากขึ้นด้วย ส่วนความร่ำรวยจะนำไปสู่ความสุขหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่มีวันสิ้นสุด ปัจจุบันนี้เริ่มมีการพิสูจน์ โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ความรวย อาจไม่นำความสุขมาให้ดังที่ใครต่อใครคาดคิด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Richard Layard เพิ่งพิมพ์คำยืนยันจากผลการศึกษาออกมาในหนังสือเรื่อง Happiness : Lessons From a New Science (London : The Penguin Group, 2005) และคอลัมน์นี้ ได้นำบทคัดย่อมาลงพิมพ์ไว้ในฉบับประจำวันที่ 7 และ 10 สิงหาคมที่ผ่าน มาแล้ว
หน้า 49

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *