The Hurried Woman Syndrome (1) สุภาพสตรีต้องรับบทหนักสร้างสมดุลชีวิตกับงาน

The Hurried Woman Syndrome สุภาพสตรีต้องรับบทหนักสร้างสมดุลชีวิตกับงาน
มองมุมใหม่ : ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
โรคใหม่ในการทำงานโรคหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุภาพสตรี และเป็นโรคที่มีพื้นฐานมาจากความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน แต่ต้องขอเรียนก่อนนะครับ ที่เขียนเกี่ยวกับอาการนี้ขึ้นมา ไม่ได้มาจากมุมมองทางด้านการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเนื้อหา บทความทางด้านการแพทย์มาผสมผสานกับมุมมองทางด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากในปัจจุบันศาสตร์ต่างๆ มีการบูรณาการระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้นคงจะไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมปัจจุบันถึงได้มีการนำหลักการที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการแพทย์มาใช้ในด้านการจัดการมากขึ้น
ในปัจจุบันเราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสุภาพสตรีออกมาทำงานข้างนอกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความคาดหวัง จากสุภาพสตรีเหล่านั้น เกี่ยวกับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัว (สามีและบุตร) ญาติผู้ใหญ่ ดูแลบ้านช่อง ก็ยังคงมีอยู่ ทำให้สุภาพสตรีหลายท่านจะต้องรับบทหนักในการพยายามที่จะสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตทำงานกับชีวิตส่วนตัว หรือแม้บางท่านจะออกมาดูแลครอบครัวเต็มเวลา แต่ก็ยังต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างดูแลบ้าน ดูแลลูก ดูแลสามี ดูแลญาติของสามี ดูแลญาติตนเอง ดูๆ แล้วก็คิดว่าผู้ชายค่อนข้างโชคดีประการหนึ่งนะครับ นั้นคือ ความคาดหวังที่คนรอบข้างมีต่อผู้ชายในการดูแลบ้าน และครอบครัวจะไม่เท่าที่มีต่อผู้ที่เป็นสุภาพสตรี
การที่สตรีในปัจจุบันจะต้องรับบทบาทหลายบทบาทมากขึ้น ทำให้สุภาพสตรีจำนวนมากเกิดภาวะกดดัน และอาจจะนำไปสู่โรคภัยบางอย่างได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งตัวบุคคลผู้นั้นเอง คนรอบข้าง และการทำงาน เริ่มแรกสุดท่านผู้อ่านอาจจะลองสังเกตตนเองหรือบุคคลใกล้ตัว (ในกรณีที่ท่านเป็นผู้ชาย) ว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ครับ
รู้สึกเครียด กังวล และกดดันอยู่ตลอดเวลา
มีความรู้สึกว่าจะต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างกิจกรรมหรืองานต่างๆ ตลอดเวลา เหมือนกับว่ามีสิ่งที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน
รู้สึกว่าไม่เคยมีเวลาสำหรับตนเองเลย อยากจะนอน หรือนั่งนิ่งๆ หรือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ ก็ทำไม่ได้
รู้สึกว่าตนเองมีรายการของ “สิ่งที่จะต้องทำ (To Do List)” ตลอดเวลา ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะต้องทำไม่รู้จักจบสิ้นเสียที
กิจกรรมหรือสิ่งของบางอย่างในอดีตที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ก็ไม่ได้นำพาความสุขมาให้อีกต่อไป
ถ้าท่านผู้อ่านมีอาการข้างต้นหรือรู้จักใครที่มีอาการข้างต้น ก็จะพบต่อครับว่าบุคคลนั้น จะมีความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ น้ำหนักตัวอาจจะเพิ่มขึ้น อารมณ์เสียและหงุดหงิดบ่อยขึ้น มีปัญหาในการนอน และนำไปสู่ปัญหาด้านประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงาน และการทำกิจกรรมต่างๆ เรามักจะพบอาการต่างๆ เหล่านี้ในบรรดาคุณแม่ยุคใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 25 – 55 ปี ผู้ที่มีบุตรอายุระหว่าง 4 – 16 ปี (พวกนี้จะต้องสร้างความสมดุลทั้งในการทำงาน การดูแลครอบครัว)
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกคุณแม่เต็มเวลาจะไม่เป็นนะครับ (คุณแม่ที่ออกจากงานมาเพื่อดูแลครอบครัวโดยเฉพาะ) ผมเองก็รู้จักคุณแม่หลายท่านที่มีอาการดังกล่าวโดยไม่ได้ทำงาน โดยคุณแม่เหล่านี้จะรู้สึกตลอดเวลาว่าเพียงแค่เวลาที่ใช้ในการดูแลลูก สามี และบ้านก็ไม่เพียงพอกับเวลาที่มีอยู่ในหนึ่งวันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ การสอบของลูก
เรายังพบอาการต่างๆ ข้างต้นในสตรีที่ไม่มีครอบครัวหรือลูกต้องดูแลเช่นกัน ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาการข้างต้น มักจะเกิดขึ้นกับสุภาพสตรีที่จะต้องดูแลญาติที่สูงอายุ หรือเจ็บป่วย หรือผู้ที่มีงานที่กดดันและเครียด หรือมีความรับผิดชอบในด้านอื่นๆ ที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัส
ท่านผู้อ่านที่มีอาการข้างต้นก็ไม่ต้องตกใจนะครับว่าท่านผิดปกติกว่าชาวบ้านเขา ในปัจจุบันพบว่าสุภาพสตรีกว่า 30 ล้านคน ทั่วสหรัฐอเมริกาก็มีอาการข้างต้น สำหรับในเมืองไทยผมก็เชื่อว่ามีสุภาพสตรีจำนวนมากที่มีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะพวกที่พยายามที่จะตอบสนองต่อความต้องการและข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งของตนเองและผู้อื่น และจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีเวลาเพียงพอ
สุดท้ายก็จะทำให้เกิดความเครียดอันนำไปสู่อาการต่างๆ ดังที่ได้เสนอข้างต้น รวมทั้งรู้สึกว่าตนเองจะต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา
ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าอาการต่างๆ ข้างต้นเป็นเรื่องปกติในชีวิต แต่ในทางการแพทย์เริ่มมองว่า อาการข้างต้นมาจากโรคชนิดหนึ่ง ที่เป็นโรคที่มีสาเหตุ สามารถป้องกันและรักษาได้ มีนรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ชื่อดังท่านหนึ่งในอเมริกาชื่อ Brent W. Bost ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี และเพิ่งเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ The Hurried Woman Syndrome เพื่ออธิบายถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขอาการดังกล่าว
ในสัปดาห์หน้า เราจะเจาะลึกต่อถึงโรค Hurried Woman Syndrome (HWS) (ไม่ทราบจะเรียกเป็นไทยว่าอย่างไรดีครับ) รวมทั้งความเชื่อมโยงต่อการบริหารจัดการด้วยนะครับ
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *