A History of the World in 6 Glasses… เรียนประวัติศาสตร์จากการชนแก้ว (2)

A History of the World in 6 Glasses… เรียนประวัติศาสตร์จากการชนแก้ว (2)
คอลัมน์ ผ่ามันสมอง โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร naaplimp2@hotmail.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3993 (3193)
ตอนที่ 2 เป็นยุคของไวน์ ประวัติของไวน์คล้ายกับเบียร์ตรงที่ไม่มีใครทราบว่ามันถูกค้นพบเมื่อใดกันแน่ แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงระหว่าง 4-9 พันปีก่อนคริสตกาล ณ บริเวณภูเขาซากรอส ซึ่งก็คือประเทศอาร์เมเนียและอิหร่านตอนเหนือในปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่ใช้ยืนยันเป็นไหบรรจุไวน์ซึ่งมีอายุอยู่ราว 5,400 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นไวน์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ยังกรีซ อานะโทเลีย หรือตุรกีในปัจจุบัน และอียิปต์ เมื่อกษัตริย์อียิปต์ได้มีโอกาสลิ้มลองไวน์ พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งให้ปลูกองุ่นเพื่อใช้ทำไวน์ขึ้น ณ บริเวณลุ่มน้ำไนล์ทันที แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศบริเวณนั้นไม่เอื้ออำนวยให้ปลูกองุ่นในวงกว้าง ไวน์จึงมีราคาแพงและถูกจำกัดไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ความนิยมไวน์ในหมู่ชนชั้นสูงยังได้แพร่ขยายไปยังอาณาบริเวณกรีซและหมู่เกาะครีตอีกด้วย
ต่อมาราว 700 ปีก่อนคริสตกาล กรีซเป็นชาติแรกที่ปลูกองุ่นในเชิงอุตสาหกรรมเพราะประเทศนี้มีภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ในช่วงเวลานั้นไวน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความร่ำรวย ให้กับผู้ปลูกเป็นอย่างมากเสียจนกระทั่งก่อให้เกิดสงคราม ระหว่างกรีกและสปาร์ตา เพื่อแย่งพื้นที่ปลูกองุ่น ชาวกรีซใช้ไวน์เป็นสัญลักษณ์ของความประณีตและความมีอารยะของ ผู้ดื่ม
วิธีการดื่มไวน์ของชาวกรีกจะเป็นไปอย่างมีพิธีรีตอง พวกเขาจะดื่มกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงในห้องเฉพาะที่เรียกว่า “อันดรอน” การดื่มในห้องนี้จะอนุญาตให้มีผู้เข้าร่วมเพียงครั้งละไม่เกิน 30 คน และมีพนักงานเสิร์ฟด้วย ก่อนการเสิร์ฟไวน์ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมจะมีการเทเหล้าองุ่นลงพื้น 3 ครั้ง เพื่อบวงสรวงพระเจ้า บรรพบุรุษ และเซอุส โดยในระหว่างนั้นจะมีการบรรเลงขลุ่ยและร้องเพลงไปด้วย
หลังจากนั้นพนักงานจึงเริ่มเสิร์ฟไวน์ แก้วที่ใช้ดื่มไวน์ในสมัยนั้นจะแตกต่างจากปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นแก้วตื้นๆ ที่มีฐานเล็กๆ จึงต้องถือด้วยสองมือ ส่วนภาชนะใส่ไวน์จะลงสีดำและประดับลวดลายตามต้นกำเนิดในโครินเธีย พวกเขาจะไม่ดื่มไวน์เพียวๆ แต่จะผสมน้ำด้วย กิจกรรมในระหว่างการดื่มมีทั้งการร้องรำทำเพลง เล่นเกม เสนอผลงาน ถกปรัชญาและปัญหาบ้านเมือง เพลโตให้ความเห็นถึงกิจกรรมการดื่มไวน์ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็น จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจวบจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า symposium นั่นเอง
ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล ไวน์และความรู้ในการผลิตไวน์ได้แผ่ขยายเข้าไปยังอียิปต์ ลุ่มน้ำดานูบ คาบสมุทรไครเมีย และฝรั่งเศสตอนใต้ จึงทำให้วัฒนธรรมของกรีกแผ่ขยายสู่ดินแดนเหล่านี้ เมื่อโรมันได้เข้าครอบครองบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนต่อจากกรีซในอีก 300 ปีต่อมา โรมันได้ขอยืมวัฒนธรรมต่างๆ ของกรีกมาใช้ ทั้งในเรื่องเทพเจ้า นิยายโบราณ อักษร สถาปัตย กรรม รวมทั้งเรื่องการดื่มไวน์ด้วย เมื่อชาวโรมนิยมดื่มไวน์มากขึ้น พวกเขาจึงหันมาปลูกองุ่นที่ใช้ทำไวน์เพิ่มขึ้นและผลิตเป็นล่ำเป็นสันแบบอุตสาหกรรมจนสามารถ ส่งออกไวน์ไปจนถึงลุ่มน้ำไนล์และตอนเหนือของอินเดีย ไวน์อิตาลีจึงได้ชื่อว่าเป็นไวน์ที่ดีที่สุดในโลก โถบรรจุไวน์ส่งออกของชาวโรมจะมีตราประทับอยู่ จึงทำให้คนในรุ่นหลังสามารถแกะรอยการค้าของอาณาจักรโรมได้
เช่นเดียวกับเบียร์ ไวน์ได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ด้วยในสมัยของกาเลน แพทย์ประจำตัวของจักรพรรดิมาร์กัส ออเรเลียส เขามีความเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ 4 คือ เลือด เสมหะ น้ำดีเหลืองและน้ำดีดำ หากธาตุเหล่านี้ขาดความสมดุลต้องได้รับการแก้ไขด้วยไวน์ หรือการหลั่งเลือด ตำราแพทย์ของเขาเป็นที่เชื่อถือมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงถูกพบว่าเรื่องที่เขาเขียนไว้เป็นเรื่องเหลวไหล
ไวน์มีอิทธิพลต่อศาสนาเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าไวน์มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดกับชาวคริสต์ เพราะอัศจรรย์แรกของพระเยซูคริสต์คือการเปลี่ยนน้ำ 6 เหยือกให้กลายเป็นไวน์ นอกจากนี้ในงานเลี้ยงอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) พระเยซูยังได้เสนอเหล้าองุ่นให้แก่สานุศิษย์ เหล้าองุ่นจึงถูกใช้ในพิธีมหาสนิท อันเป็นพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนาคริสต์นับจากนั้นมา ส่วนศาสนาอิสลามซึ่งมีต้นกำเนิด ณ ดินแดนใกล้เคียงกันนั้น แอลกอฮอล์กลับเป็นของต้องห้าม ทั้งนี้เป็นเพราะในสมัยที่ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ยังมีชีวิตอยู่นั้น สาวกของพระองค์คู่หนึ่งทะเลาะวิวาทกัน ท่านได้รับคำแนะนำจากพระอัลเลาะห์ พระเจ้าในศาสนาของท่านว่า การดื่มสุราและเล่นการพนันจะนำความเสียหายมาให้ หากผู้ใดอยากร่ำรวยรุ่งเรืองต้องละสองสิ่งนี้ ชาวมุสลิมจึงต้องละทั้งการพนันและการดื่มแอลกอฮอล์นับจากนั้นมา
ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตและดื่มไวน์มากที่สุดในโลก คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งดื่มมากถึงคนละกว่า 50 ลิตรต่อปี ส่วนบรรยากาศการดื่มไวน์ในปัจจุบันนี้ยังคงมีลักษณะเป็นทางการและสะท้อนถึงความมีฐานะ การศึกษาและวัฒนธรรมเฉกเช่นอดีต
ตอนที่ 3 เป็นเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่น หลังจากที่ความรุ่งเรืองของกรีกลดลงจากยุโรป อารยธรรมอาหรับก็เข้ามาแทนที่ ชาวอาหรับได้ทำการผสมผสานความรู้ของกรีซ อินเดีย และเปอร์เซียเข้าด้วยกัน จนเกิดความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน และได้มีการค้นพบเทคนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ การกลั่น
ชาวอาหรับนำไวน์ไปกลั่นจนได้เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงขึ้นและให้ สมญานามเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า น้ำแห่งชีวิต (aqua vitae) เมื่อแรกเริ่มนั้นพวกเขาใช้น้ำชนิดนี้เป็นยา ซึ่งแพทย์เชื่อว่ามันมีคุณสมบัติที่จะช่วยให้คนหนุ่มแน่นขึ้น เสริมความ ทรงจำ รักษาโรคทางสมอง ฯลฯ จนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 15 น้ำนี้ได้กลายเป็น เครื่องดื่มซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทางตอนเหนือของยุโรป ต่อมามีผู้นำเบียร์ไปกลั่น จึงได้เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ พวกเขายังนำมันไปผสมกับส่วนผสมใน ท้องถิ่นและตั้งชื่อว่าวิสกี้และบรั่นดี
การกลั่นถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นักเดินเรือชาวยุโรปเดินทางไปพบโลกใหม่ โดยมีแรงจูงใจจากความต้องการหลีกเลี่ยงการผูกขาดการค้าเครื่องเทศของอินเดีย ริชาร์ด ไลกอน ชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปถึงเกาะบาเบโดสในทะเลแคริบเบียน เมื่อเดือนกันยายนปี 2190 เขาพบว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การปลูกอ้อย แต่เทคนิคการปลูกอ้อยของชาวยุโรปต้องใช้แรงงานทาสจำนวนมาก พวกเขาจึงต้องนำเข้าทาสจากแอฟริกาโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้า แพรพรรณ และแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการกลั่นเหล่านี้จึงได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการค้าทาสไปในที่สุด
นอกจากอ้อยจะสามารถนำไปผลิตน้ำตาลแล้ว ชาวโปรตุเกสยังพบว่ามันสามารถนำไปหมักจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ดีกรีสูง พวกเขาเรียกเครื่องดื่มใหม่นี้ว่าบรั่นดีอ้อย นอกจากนี้พวกเขายังนำกากน้ำตาลไปกลั่นต่อจนได้เครื่องดื่มใหม่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าเหล้ารัม
เหล้ารัมนี้มีความสำคัญเพราะมันได้กลายเป็นจุดกำเนิดของการประกาศตัวเป็นอิสรภาพของสหรัฐ จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในสมัยนั้นเหล้ารัมเป็นที่นิยมมากในอเมริกา ผู้กลั่นเหล้ารัมที่นิวพอร์ต เมืองท่าทางภาคตะวันออกของอาณานิคมแห่งนี้ จึงนิยมกลั่นเหล้ารัมที่มีดีกรีสูงกว่าปกติเพื่อใช้ในการค้าทาส แต่ทางการอังกฤษไม่ยินยอม ผู้กลั่นจึงหันมาสั่งกากน้ำตาล ส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการกลั่นจากฝรั่งเศสแทน อังกฤษจึงตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการนำเข้ากากน้ำตาลขึ้นในปี 2276 แต่ชาวอาณานิคมกลับฝ่าฝืนกฎหมายนี้ ซ้ำร้ายการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ยังได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาวอาณานิคมฝ่าฝืนกฎหมายอื่นๆ ตามมาด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาเห็นว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรมที่พวกเขาต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอยู่ห่างไกลโดยไร้ตัวแทนในสภา อีกทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่อังกฤษกำหนดให้ชาวอาณานิคมปฏิบัติตามยังไม่ยุติธรรมต่อพวกเขาด้วย ชาวอเมริกันจึงตัดสินใจประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเวลาต่อมา
ผู้เขียนสรุปว่า เครื่องดื่มที่ได้จากการกลั่นนี้มีบทบาทสำคัญต่อการค้าทาส พิชิตวัฒนธรรมท้องถิ่นไปจนถึงการตั้งประเทศ การที่ผู้คนยังนิยมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากแหล่งปลอดภาษี อาจเป็นการยืนยันประเพณีการฝ่าฝืนกฎหมาย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ผลิตเหล้ารัมเมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมก็เป็นได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *