อภิชน ผู้ครองโลก (4)

อภิชน ผู้ครองโลก (4)

คอลัมน์ อภิชนผู้ครองโลก โดย รอฮีม ปรามาท rowhim@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3993 (3193)
“โลกทุกวันนี้ตัดสินกันด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และ การบุกเบิกคือสิ่งที่แยกแยะว่าใครคือผู้นำ และใครคือผู้ตาม”
– สตีฟ จ็อบส์ ประธานซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกปัจจุบัน
บาป 7 ประการ
“เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ หาความสุขสำราญใจโดยไม่ยั้งคิด ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี ค้าขาย โดยไม่มีหลักศีลธรรม วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ”
– มหาตมะ คานธี สำนวนแปล กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
หน่วยทางเศรษฐกิจที่มียอดขายหรือจีดีพีสูงเกินกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอำนาจอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก มีจำนวนทั้งสิ้น 172 ราย เป็นประเทศจำนวน 83 ประเทศ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวน 89 บริษัท โครงสร้างการกำกับดูแลและเหตุผลในการดำรงอยู่ของ 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กลุ่มหนึ่งยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติ อีกกลุ่มหนึ่งขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่และบรรดาผู้บริหารระดับสูงกับกรรมการบริหาร บุคคลเหล่านี้คือ อภิชน ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลในโลก คำถามก็คือ พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และสิ่งใดที่มีความสำคัญต่อพวกเขา เพราะสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับโลกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในกลุ่ม 89 บริษัทยักษ์ใหญ่ข้างต้นมีจำนวน 77 บริษัทที่ตั้งอยู่ 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก โดยอยู่ในสหรัฐ 46 บริษัท และยุโรป 31 บริษัท 8 บริษัทอยู่ในญี่ปุ่น แน่นอนว่าธุรกิจที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่เหล่านี้กำหนดเป้าหมายลำดับความสำคัญของตนอย่างไร ต้องส่งอิทธิพลและผลกระทบไปในวงกว้าง โดยเฉพาะ กับองคาพยพทางการเมืองที่พึ่งพาการสนับสนุนจากธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนได้แก่ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในสหรัฐ ผู้สมัครแข่งขันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเครือข่ายบริษัทและอุตสาหกรรมที่สนับสนุนนักการเมืองผู้นั้น ในโตเกียว บรัสเซลส์ นิวยอร์ก หรือที่อื่นๆ
ธุรกิจต่างๆ ไม่เพียงสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมล็อบบี้โน้มน้าวทางการเมือง แต่ยังช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งก่อนหน้าและหลังจากการปฏิบัติงาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและอิทธิพล ปัจจัยสำคัญ อีกประการ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์ของความมั่งคั่งในอนาคต ซึ่งน่าจะเคลื่อนตัวไปสู่จีน อินเดีย และบรรดามหาอำนาจทางเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่าการที่พลังอำนาจ และอิทธิพลทางเศรษฐกิจเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จะส่งผลอย่างไรต่อบริษัทต่างๆ และประเทศต่างๆ บ้าง
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะระบุถึงขอบเขตอำนาจของบรรดาบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน แต่ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็ล้วนให้ภาพของความมหึมา
กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก 2,000 บริษัท มียอดขายรวมกันเท่ากับ 24 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 88 ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบกับมูลค่าในตลาดของสินทรัพย์ที่ค้าขายกันในตลาดทุนทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 140 ล้านล้านดอลลาร์ ตามประมาณการของแม็กคินซี่) ในด้านกำลังคนบริษัทเหล่านี้มีพนักงานรวมจำนวนเกือบ 70 ล้านคนทั่วโลก ถ้าพนักงานแต่ละคนต้องดูแลเกื้อหนุนบุคคลอื่นๆ อีก 4 คน นั่นหมายความว่า บริษัทเหล่านี้เกื้อกูลโดยตรงต่อประชากรโลกจำนวน 350 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัติจริงตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทยังก่อให้เกิดการค้าและสร้างงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการตัดสินใจของบุคคลไม่กี่พันคนซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง กรรมการบริหารบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตผู้คนนับพันล้านคน การตัดสินใจของพวกเขามีอิทธิพลต่อการสร้างหรือลดตำแหน่งงาน สภาวะการทำงาน และมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม ที่ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับจุดยืนของนักการเมืองในท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา
ยิ่งไปกว่านั้นในขณะที่โลกมีประชากรประมาณ 3-4 พันล้านคน ที่พยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม มีประชากรที่ต้องพึ่งพาการตัดสินใจของคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าของประชากรโลกที่มีงานทำมั่นคงพอสมควร
การก่อกำเนิดของบริษัทยุคใหม่ที่มีพลังอำนาจสูง พร้อมกับผู้นำที่มีบทบาทความสำคัญสูง เป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างแท้จริง ในอดีตบริษัทยักษ์ใหญ่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญนับตั้งแต่ยุคของ Dutch East India Company และ Hudson”s Bay Company อันเป็นจักรกลสำคัญของลัทธิพาณิชย์นิยมอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่ไม่อาจเทียบเคียงได้กับอำนาจและอิทธิพลของบรรษัทยักษ์ใหญ่ในโลกเศรษฐกิจของยุคปัจจุบัน แม้แต่เมื่อ 25 ปีก่อนสัดส่วนทางเศรษฐกิจของบรรษัทใหญ่ ก็มีขนาดเล็กกว่าในปัจจุบันมาก
ในปี ค.ศ.1983 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 500 บริษัท มีรายได้เท่ากับร้อยละ 15 ของจีดีพีโดยรวมของโลก ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นประมาณร้อยละ 30 ลองเปรียบเทียบอีกแง่มุมหนึ่งจากการเพิ่มขึ้นของบริษัทในเครือข่ายระหว่างประเทศ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในปี 1962 บริษัทใหญ่ที่สุด 100 บริษัท มีบริษัทในเครือจำนวน 1,288 บริษัทในต่างประเทศ
มาในปี 1998 บริษัทใหญ่ที่สุด 100 บริษัท มีบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศมากกว่า 10,000 บริษัท ซีเมนส์กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมของเยอรมนี เป็นบริษัทใหญ่อันดับ 22 ของโลกนับจากยอดขาย มีปฏิบัติการมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ส่วนฮิวเลตต์-แพคการ์ด อันดับ 24 มีปฏิบัติการอยู่ใน 170 ประเทศ
การรวมศูนย์อำนาจในประชาคมการเงินระหว่างประเทศ ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตา ไม่ได้มีเพียงตลาดในสหรัฐ (ซึ่งมีสินทรัพย์มูลค่า 50 ล้านล้านดอลลาร์) หรือตลาดในยุโรป (สินทรัพย์เกือบ 30 ล้านล้านดอลลาร์) ที่ครอบงำตลาดทุนโลกมูลค่า 140 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เหล่าสถาบันทางการเงินต่างๆ ก็มีบทบาทและอิทธิพล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ตามข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บสในปี 2006 ระบุว่า มีธนาคารและสถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่จำนวน 14 รายที่บริหาร จัดการสินทรัพย์อย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์ สถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกจำนวน 50 อันดับมีสินทรัพย์รวมกัน เกินกว่า 36.5 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่า 1 ใน 4 ของสินทรัพย์โดยรวมของโลก สถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในโลก 100 อันดับครอบครองสินทรัพย์โดยรวมประมาณ 42.94 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ใน 3 ของสินทรัพย์โดยรวมของโลก
เพื่อแสดงภาพการกระจุกตัวของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คงต้องมองไปที่ตัวแบบในสหรัฐอีกครั้ง เพราะค่อนข้างมีการบันทึกสถิติข้อมูลที่ชัดเจน และยากที่จะปกปิด เฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2001 นักลงทุนที่ ร่ำรวยที่สุดซึ่งมีจำนวนร้อยละ 10 ถือครองหุ้นถึงร้อยละ 85 ของหุ้นทั้งหมดในตลาด ขณะที่อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดจำนวนร้อยละ 1 ครอบครองความมั่งคั่งถึง 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งโดยรวมของสหรัฐ คงไม่จำเป็นต้องกล่าวในรายละเอียดว่ากลุ่มบุคคลที่กุมความมั่งคั่งอยู่ในขณะนี้ และกลุ่มคนที่มั่งคั่งจากการครอบครองหุ้นจะมีอำนาจและอิทธิพลเพียงใดภายในองค์กรธุรกิจนั้นๆ คนเหล่านี้คือผู้ชี้ชะตาเหล่าผู้บริหาร บอร์ดบริหาร และในกรณีที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ คือการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นล้านๆ ทั้งพนักงาน ครอบครัว ลูกค้า และซัพพลายเออร์ทั่วโลก
การกระจุกตัวของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไปนี้ ยังไม่น่าตื่นตระหนกเท่าการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในกลุ่มกองทุนเฮดจ์ฟันด์
หน้า 37
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *