Mix&Matchไทย-ญี่ปุ่น สไตล์..ณรงค์ เลิศกิตศิริ

Mix&Matchไทย-ญี่ปุ่น สไตล์..ณรงค์ เลิศกิตศิริ
การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นนานกว่าสิบปี ซึมซับเอาทั้งการใช้ชีวิตและการทำงานของคนญี่ปุ่น เป็นต้นน้ำให้ ณรงค์ เลิศกิตศิริ นำมาปรับใช้กับไทยสไตล์

จากช่วง 4-5 เดือน ที่รอคอยการตอบรับเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต้องไปดูแลน้องชายที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ณรงค์จึงใช้เวลาว่างช่วงนั้นเข้าคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น

3 เดือน เป็น 6 เดือน และขยายเป็น 1 ปี จนกระทั่งตัดสินใจศึกษาระดับปริญญาโทต่อ ณ ประเทศนี้ในสาขาการตลาดระหว่างประเทศ และเมื่อเรียนจบก็ไม่ได้กลับประเทศไทยทันที แต่ยังทำงานต่อในแดนปลาดิบเป็นเวลานานอีกหลายปี

จึงเป็นที่มาให้ “ณรงค์ เลิศกิตศิริ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โทเร อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) ซึมซับวัฒนธรรมทั้งการใช้ชีวิตและทำงานของคนญี่ปุ่น และนำสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นแก่นวางรากฐานสไตล์บริหารของตัวเองถึงปัจจุบัน

“ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยากมาก แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องทำให้ถึงที่สุด จึงขยายเวลาเรียนภาษาไปเรื่อยๆ ที่สำคัญสนใจอะไรหลายอย่างของญี่ปุ่น เช่น เทคโนโลยี และแนวคิดในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้อยากลองใช้ชีวิตในประเทศนี้” ณรงค์เล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตให้ฟัง

การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นช่วงนั้น ณรงค์ บอกว่า ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมการทำงาน

โดยเฉพาะช่วงทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียนในร้านอาหาร ได้คลุกคลีตั้งแต่คนระดับล่างสุดไล่มาถึงระดับสูงสุด นอกจากได้ภาษาแล้วยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาที่ไหนไม่ได้

“คนญี่ปุ่น เป็นคนที่มีวินัยและกรอบการใช้ชีวิตมากมาย ส่วนวัฒนธรรมการทำงาน คือ ขยัน ทุ่มเท อดทน ซื่อสัตย์และจงรักภักดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ประเทศของตัวเองเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนาที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ควรเอาเป็นตัวอย่าง”

นอกจากนี้ ณรงค์ยังมองว่า มีวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นอีกหลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรกับคนไทยได้เป็นอย่างดี และมีอีกหลากหลายวิธีคิด รวมถึงการปฏิบัติที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับคนไทย เช่น หากต้องการมอบหมายงานสักชิ้นให้กับพนักงาน ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น คนที่ได้รับมอบหมายจะต้องคิดและจัดการงานให้ประสบความสำเร็จเพียงคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ

ขณะที่สไตล์ของคนไทยทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องมีคนให้คำแนะนำและคำปรึกษาตลอด

หรือในช่วงเวลาพักเที่ยง คนญี่ปุ่นจะไม่ลุกไปไหนหรือหาอะไรรับประทาน หากไม่ถึงเวลาพัก ส่วนคนไทย 11.30 น.ก็เริ่มออกไปซื้ออาหารแล้ว

เช่นเดียวกับเวลาเลิกทำงาน คนไทยจะเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนถึงเวลาครึ่งชั่วโมง ต่างจากคนในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเลยเวลาเลิกงานไปนานแค่ไหน ถ้างานไม่เสร็จ จะไม่กลับ

ณรงค์บอกว่า ทั้งหมดเป็นข้อดีของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการบริหารงานองค์กรในไทยได้ทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อกลับมาประเทศไทยในปี 2540 ในฐานะผู้แทนบริษัท โทเร ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเริ่มธุรกิจตั้งแต่โรงงาน ระบบของธุรกิจ ฯลฯ

เขาจึงไม่ได้ยึดติดว่าการทำงานจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่พยายาม Mix and Match สิ่งที่ดีของวัฒนธรรมองค์กรทั้งไทยและญี่ปุ่นมาผสมผสาน

“เราไม่สามารถนำวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นมาใช้ได้ 100% เพราะที่นี่คือประเทศไทย ไม่ใช่ญี่ปุ่น บางอย่างใช้ได้ บางอย่างใช้ไม่ได้ เราต้องรู้ว่า อะไรดีแล้วหยิบมาใช้ให้เหมาะกับองค์กรและคนของเรา”

อาทิ การละเอียดอ่อนในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อมากของชาวญี่ปุ่น เขาจึงนำพนักงานทำความสะอาดและแม่บ้านมาสอน เช่น การเสิร์ฟน้ำ ห้ามจับปากแก้ว เพราะเป็นส่วนที่เราต้องดื่ม

ส่วนความจงรักภักดี อีกข้อดีของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น ณรงค์ก็ได้นำมาปลูกฝังในองค์กรที่เขาดูแล โดยสิ่งที่สอนและแนะนำให้ปฏิบัติ คือ ต้องทำงานอย่างมีคุณภาพและเป็นมืออาชีพให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่องค์กรใดก็ตาม

แต่ไม่ได้คาดหวังให้พนักงานอยู่กับองค์กรจนตาย

ในทางกลับกัน วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นก็มีจุดอ่อน นั่นคือ ซีเรียสต่อการทำงานจนเกินไป กระทั่งส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ณรงค์ไม่ได้นำมาใช้บริหารงานในองค์กร

“ตอนกลับมาผมก็อึดอัด เพราะทำงานกับญี่ปุ่นที่มีระเบียบและทุ่มเทมานาน มาเจอคนไทยที่สบายๆ ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวเข้าหากัน

คือ เวลาทำงานจะทำเต็มที่ แต่ก็มีเวลาพักผ่อน หรือท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจตามแบบฉบับของคนไทย มีความสนุกสนานและมีความสุข”

ไม่ว่าวัฒนธรรมของประเทศใดก็ตาม ต่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกใช้อย่างไรเท่านั้น

ที่มา : ณัฐสุดา เพ็งผล

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *