หนิง….อดีตคนไร้สัญชาติในอนาคต

หนิง….อดีตคนไร้สัญชาติในอนาคต

หนิงเกิด ณ บ้านบ้องตี้ล่าง หมู่ ๒ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ แต่โดยกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ หนิงไม่ได้สัญชาติไทยหรอกนะ ทั้งนี้ เพราะพ่อแม่ของหนิงเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย

พ่อของหนิงชื่อนายลาซัน ซึ่งเกิดในจังหวัดทวาย ประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ส่วนแม่นั้นชื่อนางโซ ซึ่งเกิด ณ จังหวัดทวาย ประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ทั้งนายลาซันและนางโซเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ทางราชการไทยบอกว่า ทั้งพ่อและแม่ของหนิงเป็นคนสัญชาติพม่า แต่ทางราชการพม่าก็ไม่ยอมรับสักนิดว่า ครอบครัวของหนิงนั้นมีสัญชาติพม่า ตามกฎหมายพม่า หนิงจะมีสัญชาติพม่า ถ้าพ่อแม่พิสูจน์ได้ว่า เกิดในประเทศพม่า แต่คงไม่มีทางที่พ่อแม่จะไปพิสูจน์อย่างนั้นได้เลย แล้วอย่างนี้ หนิงจะมีสัญชาติของประเทศไหนได้ล่ะ โดยผลของข้อเท็จจริงนี้ หนิงจึงเป็น “คนไร้สัญชาติ” หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ หนิงจึงเป็นคนต่างด้าวทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทยถึงไม่มีสัญชาติพม่าก็คงไม่แปลก เพราะหนิงไม่เคยรู้จักประเทศพม่าเลย หนิงรู้จักแต่ประเทศไทย

วันนี้ หนิงอายุ ๒๒ ปีแล้ว ก็เท่ากับว่า ครอบครัวของหนิงอยู่ในประเทศไทยมาอย่างน้อย ๒๒ ปี หนิงเรียนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๖ จากโรงเรียนหมู่บ้านเด็กในปี พ.ศ.๒๕๔๐ แล้วก็ช่วยงานในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และรับจ้างซักผ้าเป็นการช่วยพ่อแม่หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร หนิงก็เป็นคนไทย หนิงพูดได้แต่ภาษาไทย บ้านก็อยู่ในประเทศไทย หนิงก็รักแผ่นดินไทย

พ่อกับแม่ของหนิงนั้นพูดคล่องทั้งภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทย เวลาที่ใครถามว่า บ้านเราอยู่ที่ไหน พ่อแม่ก็จะตอบว่า บ้านอยู่ที่ “กาญจนะบุรี” ไม่มีคำว่า “ทวาย” อยู่ในหัวของพ่อแม่อีกแล้ว ส่วนหนิงนั้น คำว่า “ทวาย” ไม่มีเลยในหัวสมอง แต่อย่างไรก็ตาม โดยกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ ถึงแม้ว่าหนิงจะเกิดในประเทศไทย หนิงก็เป็นเพียง “คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย” ส่วนพ่อและแม่เป็นแค่ “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว”

ทางราชการเรียกเราว่า “พวกบัตรสีชมพู” หรือ “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ทั้งที่กฎหมายพม่าก็มิได้ยอมรับว่า เรามีสัญชาติพม่า บัตรสีชมพูหรือ “บัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” นั้น มีความหมายต่อครอบครัวของหนิง และบุคคลที่ถือบัตรในลักษณะเดียวกันนี้อย่างมาก

บัตรนี้เป็นบัตรที่กรมการปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อรับรองสถานะบุคคลให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง บัตรนี้แสดงเพียงว่า ผู้ถือบัตรได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว ทั้งนี้ ดังปรากฏในประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะที่เข้ามาในประเทศไทย ข้อกฎหมายนี้ยังมีความหมายต่อไปอีกว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ตามมาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ที่จะต้องลงรายการสถานะบุคคลให้แก่ “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” .ในทะเบียนราษฎร กล่าวคือ ท.ร.๑๓ อันแสดงต่อไปว่า บุคคลดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็น “ราษฎรไทยประเภทต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว” อีกด้วย จะเห็นว่า หนิงและครอบครัวจึงมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนอยู่ในประเทศไทย จึงกล่าวมิได้ว่า หนิงและครอบครัวเป็น “คนไร้รัฐ” เพราะถึงแม้จะเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ก็ไม่ไร้ภูมิลำเนา ประเทศไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาของหนิงและครอบครัว ประเทศไทยจึงเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของหนิงและครอบครัว แม้มิใช่รัฐเจ้าของสัญชาติ

คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาของบุคคลบนพื้นที่สูงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ พบว่า โดยข้อเท็จจริงที่กลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๕๑๙ แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่โดยพิจารณาความกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมที่บุคคลดังกล่าวมีกับสังคมไทย บุคคลดังกล่าวได้กลายเป็นไทยโดยมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรมไปแล้ว จึงได้เสนอให้มีการยอมรับให้ “สิทธิอาศัยอยู่ถาวร” แก่กลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าซึ่งเกิดนอกประเทศไทย และให้ “สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด” แก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของกลุ่มบุคคลดังกล่าว การยอมรับเช่นนี้จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวอาจเป็นไทยโดยมุมมองทางกฎหมายอีกด้วย ผู้ที่เกิดในประเทศไทยจะมีสัญชาติไทยเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวได้สัญชาติไทย ส่วนผู้ที่เกิดนอกประเทศไทยจะมีสัญชาติไทยเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวแปลงสัญชาติเป็นไทย

ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำทางปกครองของฝ่ายบริหารดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการขจัด “ปัญหาการไร้สัญชาติ” ให้แก่หนิงและครอบครัว และรวมถึงผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ทั้งมวล แนวคิดและวิธีการอย่างนี้จึงเป็นการสร้างสมดุลย์ระหว่างแนวคิดสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งชาติ เพราะบุคคลเป้าหมายของการกระทำย่อมไม่ตกอยู่ในมุม “อับจน” อันทำให้มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อรัฐในหลายรูปแบบ เช่น ค้ายาเสพติด หรือเป็นมือปืนรับจ้าง หรือรับจ้างตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ จึงให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ของคณะอนุกรรมการฯ

โดยหลักการของมติคณะรัฐมนตรีนี้ หนิงจึงจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น “คนไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด” เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติอนุญาตให้หนิงได้สัญชาติไทย ส่วนพ่อแม่ของหนิงนั้นจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น “คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและอาศัยอยู่ได้ในประเทศไทยในลักษณะถาวร” และมีสิทธิร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ในโอกาสต่อไป

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าว หนิงและครอบครัว ตลอดจน “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ทั้งมวลก็จะมีสัญชาติไทยเสียที และมีสถานะเป็น “ราษฎรไทยประเภทสัญชาติไทย” ซึ่งมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวรอย่างแน่นอน แล้วพวกเขาก็จะตกเป็น “อดีตคนไร้สัญชาติ” เพราะพวกเขาจะมีสัญชาติไทย แต่เป็นเรื่องของอนาคตซึ่งไม่รู้ว่า จะเป็นอนาคตอันใกล้หรืออนาคตอันไกล ในการพิจารณาประวัติศาสตร์ของกระบวนการยอมรับให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยที่กลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว เราจะพบว่า แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่กระบวนการของฝ่ายปกครองใช้เวลามากมายเสียเหลือเกิน บางทีก็สองปี บางทีก็สามปี บางทีก็เจ็ดปี บางกลุ่มก็รอมานานแล้วและยังคงรอต่อไป และไม่มีการให้เหตุผลใดๆ แก่ผู้รอคอย

นับแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ จนถึงวันนี้ ก็เกือบครบรอบปีแล้ว แต่หนิงก็ยังรอที่จะยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรีอยู่เลย แต่หนิงคงไม่ต้องรอนาน ถ้าเราทั้งหลายจะเข้าใจว่า ชาวเขาในป่าตะนาวศรีอย่างหนิงมิใช่คนต่างด้าวที่เพิ่งหลบหนีเข้าเมือง หนิงมิใช่แรงงานต่างด้าว หนิงและครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า ๒๕ ปีแล้ว บ้านของหนิงอยู่ในประเทศไทย มิได้อยู่ในประเทศพม่า หากรัฐยอมแยกแยะชาวเขาออกจากแรงงานพม่าแบบโรบินฮู๊ดแล้ว มาตรการในการแก้ปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยก็คงจะพอมีผลได้บ้างกระมัง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *