Knowledge based

Knowledge based

สวัสดีครับ หายไปพักใหญ่เช่นเดียวกับเว็บมาสเตอร์ แต่ก็ไม่ละทิ้งที่จะมาช่วยกันสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาเพื่อสังคมครับ ช่วงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมากมายในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การศึกษาเอง การกระจายอำนาจและครู ยังไงก็แล้วแต่ขอให้จบลงด้วยดี ให้ประโยชน์เกิดที่เด็กและมีผลกระทบน้อยที่สุด เพราะที่ผ่านมาเด็กตกเป็นเครื่องมือลองผิดลองถูกของนโยบายการศึกษาที่ผิดๆ มาโดยตลอดจนบอบช้ำมากพออยู่แล้ว ปัญหาสังคมที่ตามมาเราต้องยอมรับว่าวางแผนการศึกษาผิดพลาดเช่นกัน แต่เมื่อมันพลาดแล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะคนที่กำหนดก็คงจากไปแล้วเมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่มีคุณภาพ จะขุดกระดูกคนเหล่านี้มาแช่งก็แค่นั้น หลักการดีเหลือเกินแต่ทำไม่ได้ดีเอาเสียเลย แก่เพราะกินข้าวอีกแล้วจริงๆ แม้แต่วิชาชีพด้วยกันเองยังต้องมาประท้วงขับไล่ เห็นแล้วน่าเศร้าใจจริงๆ แต่ก่อนนักวิชาการหลอกนักการเมืองเดี๋ยวนี้โดนนักการเมืองหลอกคืนเอาเสียนั่น เสียท่าตอนแก่

กลับมาเรื่องของเราเห็นทีว่าในแวดวงเทคโนฯ เรานี้ ยังไม่กระเตื้องจริงๆ ทางเราเองได้คุยกันบ้างแล้วว่ายังไงถ้าทุกท่านอยากจะเป็นผู้รับเราก็ยินดีจะเป็นผู้ให้ต่อไป และขอบคุณทุกท่านที่เอาใจช่วยและดูอยู่ห่างๆ เพราะเข้าใจว่าทุกท่านต่างก็มีภาระหน้าที่ของตนเองที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว edtechno จะมอบสิ่งดีๆ ให้ต่อไปครับ ก่อนหน้านี้ก็นั่งนึกอยู่ว่าจะเล่าเรื่องอะไรให้ท่านผู้อ่านดี พอดีมีกระทู้ถามถึงเรื่องจิตวิทยากับเทคโนโลยีการศึกษาจะนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างไร ผมก็ได้ตอบไปคร่าวๆ ในกระทู้แล้ว ทำให้นึกถึงเรื่อง Knowledge based ขึ้นมาเพราะทุกท่านที่เป็นนักเทคโนฯ และใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แน่นอนครับ

ครู อาจารย์หลายท่านคิดว่าเรามีเนื้อหา เรามีความรู้ และตอนนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เนต จริงๆ แล้วผมเคารพนับถือในจิตวิญญาณของความเป็นครูด้วยใจจริงครับที่มีใจอยากจะพัฒนาลูกศิษย์ให้ก้าวหน้าและมีความรู้ความสามารถ แต่ผมจะมาเล่าอีกมุมหนึ่งให้คิดกัน เมื่อเรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว ครู อาจารย์หลายท่านก็เอาเนื้อหา เอาความรู้ไปเก็บใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วบอกว่า อ้าว นักเรียนเข้ามาดูสิ เข้ามาอ่านสิ เข้ามาศึกษา นี่คือ Knowledge based ผมว่าหลายท่านยังเข้าใจความหมายของ Knowledge based ผิดแปลกไป

โดยปกติแล้วหลายท่านคงเรียน MIS (Management Information System) มาบ้างแล้ว แน่นอนครับใครมีองค์ความรู้ ใครมีเนื้อหามาก ในองค์กรย่อมได้เปรียบ คิดว่ามี Knowledge อยู่มากหาแค่ที่เก็บบันทึกก็พอ ก็จะแข่งขันและสู้คนอื่นได้ จริงๆแล้วมันคนละส่วนกันกับเชิงธุรกิจซึ่งมีข้อมูลมากจะได้เปรียบ หากแต่แวดวงการศึกษาจะต้องมีระบบการจัดการ และจิตวิทยาเพิ่มเข้ามาอีกหลายส่วนด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียน ซึ่งมันมีขั้นตอน ทักษะและองค์ประกอบในการเรียนรู้เกี่ยวข้องอยู่มาก

เรามาดูขั้นตอนการสร้างองค์ความรู้ของการพัฒนาข้อมูล ข่าวสาร ความรู้กันก่อน อันแรกเลยคือข้อมูล (Data) กลั่นกรองแล้วก็จะพัฒนามาเป็นข่าวสาร (Information) เพิ่มเติมคุณค่าเข้าไปก็จะกลายเป็นความรู้ (Knowledge) เมื่อมีความรู้ก็จะกลายมาสู่ สติปัญญา ก็คือ (Intelligent) นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีกระบวนการฟัง การคิด การสังเกต การถาม ลงมือปฎิบัติ และบันทึกสิ่งที่เรียนรู้เก็บไว้ด้วย ถึงจะครบกระบวนการสร้างองค์ความรู้และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพและยังเกิดปัญญาต่อผู้ศึกษาอีกด้วยซึ่งจะเป็นความรู้ที่ลืมยากเพราะมีการลงมือปฏิบัติ

การที่ครู อาจารย์หลายแห่งพัฒนาผู้เรียน ด้วยวิธีการเอาความรู้มาใส่คอมพิวเตอร์ให้มากแล้วบอกว่านี่คือ Knowledge based ให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาอ่านมาศึกษากันนั้น ผมว่าถ้าเราทำความเข้าใจแผนการสร้างองค์ความรู้ข้างต้นแล้ว จะได้กระบวนทัศน์ที่แท้จริงของ Knowledge based เพราะแม้แต่ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert system)1 เองนั้นก็ยังจะต้องมีกระบวนการของมันเองในการทำงาน

จริงๆ นัยของการเรียนรู้มันมีมากเหลือเกิน ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่คุณอ่านเอาแค่ความรู้ที่คัดออกมา แต่ไม่ได้กลั่นกรองด้วยตัวเอง ไม่นานก็ลืมและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด การลงมือทำมันจะไม่รู้ลืม คอมพิวเตอร์จะกลายเป็นเพียงสิ่งบั่นทอนการเรียนรู้หากไม่มีระบบ จิตวิทยา และการจัดการการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการเรียนรู้ปกติ ผมไม่รู้ว่าผู้อ่านจะเริ่มเข้าใจในสิ่งที่ผมอธิบายหรือยัง ผมยกตัวอย่างเลยดีกว่าเพราะถ้าจะเล่าถึงเรื่องนี้ความจริงมันมองด้วยกระบวนทัศน์เล็กๆ เท่านั้นเอง

เด็กชายเก่งกาจและเด็กชายปัญญา ต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องของตะไคร้ว่าเป็นอย่างไร จึงไปหาหาความรู้เรื่องตะไคร้เพื่อเป็นความรู้ให้กับตนเอง เด็กชายเก่งกาจเริ่มต้นจากอ่านหนังสือเรื่องสมุนไพร เสร็จแล้วก็เปิดอินเตอร์เนต ดู E-learning ของคุณครูควบคู่ไปด้วย และได้รับความรู้ทั้งเรื่องของรูปร่าง ขนาดจากภาพถ่าย ประโยชน์ทางด้านสรรพคุณต่างๆ อย่างครบถ้วน (ทำไมมันสั้นนัก) และคิดว่าเขาเข้าใจเรื่องของตะไคร้ดีแล้ว

เด็กชายปัญญาเริ่มด้วยการไปตลาด หาซื้อต้นตะไคร้ที่สมบูรณ์ ได้รู้ราคาตลาดของตะไคร้ เอามาดูมาจับมาดม ได้สัมผัสว่าตะไคร้เป็นอย่างไร เขานำกลับมาปลูกขยายต่อที่บ้านส่วนหนึ่งและนำเอาไปปรุงอาหารส่วนหนึ่ง เย็นวันนั้นได้ทานกับข้าวที่ประกอบด้วยสมุนไพรอย่างเอร็ดอร่อยพอเริ่มเห็นคุณค่าแล้วจึงไปอ่านประโยชน์ของตะไคร้จากหนังสือเมื่อรู้ถึงประโยชน์เด็กชายปัญญาก็ชอบเป็นอย่างมากที่จะประกอบอาหารด้วยสมุนไพร หลายวันผ่านไป ตะไคร้ที่หลังบ้านโตขึ้นเขาสังเกตว่าเมื่อไปยืนใกล้ๆ จะไม่มียุงเหมือนแต่ก่อนยังไม่ปลูก ทำให้เขาเห็นความสำคัญขึ้นมาอีกอย่างว่าตะไคร้หอมไล่ยุง (ภูมิปัญญาเกิดขึ้น) จึงรีบมาจดบันทึกไว้รอไปถามคุณครูที่โรงเรียนอีกครั้ง และบางครั้งตะไคร้ที่นำไปขยายแบ่งปลูกที่โตแล้วแตกหน่อยังเป็นรายได้เสริมให้เด็กชายปัญญานำไปขายที่ตลาดได้อีก

ทีนี้ท่านรู้จัก Knowledge based ในความหมายของผมรึยัง?
เด็กคนไหนจะมี Knowledge based และสามารถพัฒนา intelligent มีถังความคิดถังความรู้เป็นของตัวเอง?

1.ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้เหมือนกันผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูล ความรู้ต่างๆ ไว้ และจะต้องมีวิธีการที่จะใช้ในการประมวลผล โดยจะทำการเปรียบเทียบ ประมวลผลข้อมูล ความรู้ที่มีอยู่ มาหาข้อสรุปและแก้ปัญหาเมื่อมีคำถามเกิดขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนผู้เขี่ยวชาญมาตอบ Knowledge based ฐานความรู้ หมายถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนที่สำคัญในระบบผู้เชี่ยวชาญ

ที่มา : http://www.edtechno.com/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *