Happy Organization Indicator (2)

ตัวชี้วัดความสุขในองค์กร Happy Organization Indicator (2)
คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3895 (3095)
ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมานักจิตวิทยาองค์กรทั้งหลายมีการพัฒนาตัวชี้วัด “ความพึงพอใจ” (satisfaction) กันมาหลากหลาย ทั้งทางการทำงานและส่วนตัว (job and personal satisfaction) พัฒนากันไปถกเถียงกันไปด้วยว่าวัดอย่างไร จึงจะได้ความพึงพอใจของแท้ มีนักวิชาการบางคนเสนอว่าควรวัดแยกทีละส่วนเพื่อจะได้รู้ว่าพนักงานของเราพอใจในเรื่องใดบ้าง ไม่พอใจในเรื่องใดบ้าง นักวิชาการบางคนก็ค้านว่าวัดแยกทีละส่วนแล้วนำตัวเลขมารวมกันนั้น อาจไม่เท่ากับการถามความพึงพอใจโดยรวมคำถามเดียวไปเลย เนื่องจากบางทีคำถามแยกของเรา ก็ไม่ครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความพอใจทั้งหมด หรือบางทีเขาเองอาจไม่ได้คิดถึงปัจจัยที่เราถามแยกเลย เวลาพูดถึงความพึงพอใจรวม หรือน้ำหนักของแต่ละปัจจัยที่เราถามของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ฯลฯ ดังนั้นสำหรับเราผู้ใช้อาจตั้งทั้งคำถามแยกส่วนด้วยเพื่อรายละเอียดในการบริหารงาน แล้วก็ถามรวมด้วยเป็นคำถามง่ายๆ เช่น “ความพึงพอใจในองค์กรรวมของท่าน 4 3 2 1” ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดก็ได้ ถึงกระนั้นความพึงพอใจ ก็ถูกมองว่าไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ “ความสุข” ได้เสียทีเดียว บางองค์กรพบว่ายิ่งพยายามตอบสนองความพอใจ พนักงานยิ่งเรียกร้อง น่าสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะไปสู่องค์กรที่มีความสุขจริงได้อย่างไร
มุมมองหนึ่งของความสุขคือการลดความทุกข์หรือความอึดอัดไม่สบายใจหรือกายของเรา ลองนึกตรงกันข้ามว่า ถึงแม้ว่าเราจะตอบสนองความพึงพอใจต่างๆ นานาให้พนักงานหรือคนในบริษัท ที่เรียกว่าตอบสนองสิ่งที่อยากได้กันเต็มที่ แต่ถ้าความทุกข์ยังอยู่เช่น เพื่อนร่วมงานขัดแข้งขากัน อิจฉาริษยากัน ใส่ร้ายกัน ที่ทำงานมีแต่ความเครียด สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ ตลอดเวลา ต่อให้มีโบนัสงามก็ชะลอให้เขาอยู่ได้แค่ชั่วคราว หรืออยู่กันไปก็แบบแกนๆ ไม่มีความสุขกันจริงๆ เพราะความทุกข์ยังอยู่ในทุกมุมของที่ทำงาน
ถ้าเราลองตั้งโจทย์ใหม่ว่า การจะทำให้ที่ทำงานมีความสุขคือการลดทุกข์ เริ่มแบบนี้แล้ว กลับมาดูใหม่ว่า อะไรคือความทุกข์ที่เรารู้จัก อะไรคือสาเหตุของความทุกข์กันจริงๆ ความทุกข์ที่เราคุ้นเคยในที่ทำงานก็มีทั้งที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม คนในที่ทำงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งภายในตัวเราเอง ที่ทำงานบางทีก็มีสภาพร้อนอบอ้าวหรือเสียงดังอึกทึก ทำให้คนทำงานหงุดหงิดง่าย เครียดง่าย คนในที่ทำงานบางที่มีวัฒนธรรมการแข่งขันกันแบบไม่เป็นมิตร แก่งแย่งกัน ทำร้ายกันลับหลังด้วยวิธีต่างๆ ทำให้แต่ละคนอยู่ด้วยความระแวดระวัง หรือบางคนมีหัวหน้าที่ไม่เก่งบริหารคน ชอบใส่แต่แรงกดดัน แต่ไม่รู้จักการจูงใจ คำพูดที่ใช้กันก็ทำให้เพิ่มความทุกข์ การมีลูกน้องที่ไม่มีหัวใจทำงานไปวันๆ ลูกน้องที่คอยสร้างปัญหาให้แก้ตลอดเวลา หรือตัวเราเองที่กลุ้มใจ คิดมากไปเรื่อยทำให้ไม่มีความสุขแม้ว่าจะไม่มีอะไรมากมากระทบก็ตาม
ถ้าสุดยอดจริงๆ คือไม่ว่าอะไรมากระทบโสตสัมผัสทั้งหลายก็คงไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร ไม่อยากดึงเข้ามา ไม่อยากผลักไสออกไป ทำให้มีความสุขสงบในจิตใจได้ง่ายๆ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ใครทำแบบนี้ได้จริงๆ ก็จะเป็นคน “มีความสุข” ในทุกสถานการณ์ ถ้าทุกคนในองค์กรทำได้ก็จะเป็นองค์กรที่มีความสุขกันทั้งองค์กร ไม่ว่ายอดขายจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองจะร้อนแค่ไหน ชีวิตก็มีความสุข
แต่ทว่าหาคนแบบนี้ได้ยากเสียเหลือเกิน ส่วนใหญ่พวกเรามีอะไรมากระทบก็หวือหวากันไปตามสิ่งที่มากระทบ ซ้ำร้ายปรุงแต่งเสริมเติมกันมากไปกว่าที่ได้รับเสียอีก เป็นต้นว่ามีคนพูดอะไรซุบซิบกันอยู่ เราเดินผ่านเขาหยุดพูดกันพอดี เหลือบมามองเราหน่อยหนึ่ง เท่านั้นแหละ เดินไปคิดไป “เอ๊ะ เขานินทาเราอยู่หรือเปล่า” “สงสัยเรื่องนั้นแน่เลย…” คิดไปเติมไป บางคนเครียดได้โดยไม่ต้องเจออะไรมากมาย บางทีแทบไม่มีข้อมูลจริงเลย แถมยังส่งผลกระทบให้คนข้างเคียงด้วยสีหน้า และอารมณ์หงุดหงิดอีกด้วยซ้ำ การวัดความสุขจึงวัดได้ 2 แนวทางบนฐานคิดนี้ 1.วัดผลลัพธ์ 2.วัดกระบวนการ มีตัวอย่างเกณฑ์การวัดแบบแรกคือ วัดผลลัพธ์สุดท้ายว่าสุดท้ายแล้วเขามีความสามารถจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบโสตประสาทได้อย่างไร หรือเราจะวัดความสุข ณ ช่วงเวลาเป็นภาพรวม ถามคล้ายกับความพึงพอใจโดยรวมว่า “โดยรวมในการทำงานที่องค์กรนี้ท่านมีความสุข 4 3 2 1” ให้เลือกง่ายๆ
แบบที่ 2 วัดที่กระบวนการได้แก่ วัดความสามารถต่างๆ ที่นำไปสู่ความสามารถในการรับมือกับความทุกข์ เป็นต้นว่า ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น หรือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งมีใช้ในหลายองค์กรอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ competency หรือในรูปของเกณฑ์การประเมินเชิงคุณภาพ
ตัวอย่างความสามารถในการจัดการกับความทุกข์ระดับ 4 สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ (หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ) ได้โดยไม่รู้สึกผลักไสหรืออยากดึงเข้ามาหาตัว หรือสามารถรับรู้ได้โดยมีผลกระทบต่อจิตใจน้อย
สามารถดูแลจิตใจให้อยู่ในสภาวะปกติได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีการกระทำหรือคำพูดออกมาทำร้ายผู้อื่น หรือมีแต่น้อย นานๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าหรือกิริยาท่าทางที่หงุดหงิด หรือการพูดที่ส่อเสียด ทำร้ายจิตใจผู้อื่น
ระดับ 3 สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ (หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ) ได้โดยมีผลกระทบต่อจิตใจบ้างเป็นระยะๆ ปรุงแต่งต่อบ้าง
แต่ยังสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การกระทำหรือคำพูดออกมาทำร้ายผู้อื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าหรือกิริยาท่าทางที่หงุดหงิด หรือการพูดที่ส่อเสียด ทำร้ายจิตใจผู้อื่น
ระดับ 2 เมื่อรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ (หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีการปรุงแต่งต่อ หรือคิดต่อจากการกระทบเป็นประจำ
สามารถดูแลจิตใจให้อยู่ในสภาวะปกติได้บ้าง แต่มักจะมีการกระทำหรือคำพูดออกมาทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าหรือกิริยาท่าทางที่หงุดหงิด หรือการพูดที่ส่อเสียด ทำร้ายจิตใจผู้อื่น
ระดับ 1 แทบไม่ทันต่อความรู้สึกเมื่อมีอารมณ์มากระทบจึงมีผลกระทบต่อจิตใจ หรือสามารถรับผลกระทบได้น้อยมาก
ส่วนใหญ่มักจะแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง คำพูดโต้กลับทันที หรือแสดงความไม่พอใจออกมาเมื่อไม่ว่าจะเป็นสีหน้า หรือกิริยาท่าทางที่โมโห เกรี้ยวกราด กระแทกกระทั้น หรือการพูดที่ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดจาทำร้ายจิตใจผู้อื่นเมื่อไม่พอใจ โดยเฉพาะเมื่อมีคำวิจารณ์ใดๆ มักจะกระทำหรือพูดออกมาทำร้ายผู้อื่น
หน้า 46

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *