Green Logistics มิติใหม่แห่งการจัดการโลจิสติกส์

Green Logistics มิติใหม่แห่งการจัดการโลจิสติกส์

Written by Administrator
Friday, 20 June 2008 04:07
Sample image
Green Logistics มิติใหม่แห่งการจัดการโลจิสติกส์
Dr.Sitichai Farlangthong
วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก
ปัจจุบันกระแสแนวความคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) กำลังเป็นที่สนใจและได้รับการขานรับจากธุรกิจทุกประเภท จึงทำให้ธุรกิจเกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ที่ก่อนหน้านี้จะมุ่งเน้นเฉพาะการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพียงอย่างเดียวหันมาคำนึงถึงการบริหารจัดการงานด้านโลจิสติกส์แบบ “Green Logistics” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในมิติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยธุรกิจลดต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดอีกด้วย รวมทั้งเตรียมความพร้อมเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในยุคการเปิดเสรีทางการค้า
สำหรับเหตุผลของการที่ธุรกิจโลจิสติกส์หันมาให้ความสนใจในเรื่อง Green Logistics นั้น มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ 4 ประการ คือ
1.จากการที่รัฐบาลได้เซ็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลของการลงนามนั้นได้ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างกว้างขวาง ทำให้บริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับกติกาการค้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะสมบูรณ์และเริ่มต้นใช้ในปี 2553
2.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติในเรื่องของข้อจำกัดของน้ำหนักสินค้าที่สามารถจะบรรทุกหรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ (Container) ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาอุบัติภัยที่จะมีต่อสังคมและการทำงานที่ปลอดภัย (Safety First) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่โลจิสติกส์ นอกจากนี้ จะต้องเป็นการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรมหรือบรรษัทภิบาล (Good Corporate)
3.จากผลการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดี (Good Citizens) ต่อการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รวมทั้งมลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากก๊าซ Carbon Dioxide (CO2)
4.องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า OECD Guild lines for Multinational Enterprise ที่เสนอให้บรรษัทข้ามชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกต้องมีการทำ CSR และติดต่อค้าขายเฉพาะคู่ค้าที่มี CSR เท่านั้น
อย่างไรก็ดี กระแสกรีน โลจิสติกส์ (Green Logistics) แทบทุกธุรกิจจะมุ่งเฉพาะประเด็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนทั้งระบบภายในองค์กรโลจิสติกส์ว่าจะทำอย่างไร? ในการจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการนำส่งสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
ดังนั้น ขอยกตัวอย่างในกิจกรรมการจัดการโลจิสติกส์บางกิจกรรมที่สามารถทำ Green Logistics ได้ อาทิ กระบวนการจัดซื้อจัดหา มีการนำระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดซื้อจัดหาและเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างองค์กรลักษณะ B2B Business อันจะทำให้ลดขั้นตอนด้านเอกสาร (Paperless) ลดขั้นตอนความผิดพลาดของการผลิตได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานจัดซื้อจัดหาใช้หลักการหาแหล่งขายจากทั่วโลก (Global Sourcing) เพื่อหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกที่สุดและรวดเร็วที่สุด จึงต้องมีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวางแผนหาแหล่งวัตถุดิบด้วย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีได้วางกลยุทธ์การขายในระบบโดยไม่ใช้กระดาษหรือเอกสาร ซึ่งต้องพึ่งระบบโลจิสติกส์เพื่อไปสู่เป้าหมาย ทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำที่สุด ลูกค้าพอใจมากสุด ทั้งนี้ รูปแบบสินค้าปิโตรเคมีจะมีจำนวนรายการนับร้อยรายการ ทำให้ต้องนำไอทีเข้ามาใช้ ปัจจุบันใช้วิธีเปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตกำลังพัฒนาให้ลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือสั่งสินค้าหันมาใช้อินเทอร์เน็ต โดยร่วมมือกับธนาคารแต่ละประเทศสร้างช่องทางการชำระเงิน เลือกได้ว่าจะชำระเงินสด หรือกู้เงิน รวมทั้งยังมี E-invoice เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าแล้ว คำสั่งซื้อจะเชื่อมต่อไปยังผู้ผลิตว่า มีความต้องการสินค้ารายการใด เพื่อเตรียมสั่งวัตถุดิบและผลิตสินค้าได้ตามเวลา
กระบวนการผลิต จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด รวมทั้งการใช้วัสดุด้านบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน(End of life) รวมถึงสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Recycle) เช่น มิตรผล ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลรายใหญ่ เริ่มตั้งแต่การจัดการในไร่อ้อย รณรงค์การตัดอ้อยสดไม่ให้เผาอ้อย ลดการใช้สารเคมีในไร่อ้อย เมื่อวัตถุดิบมาถึงโรงงานก็มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบโรงงาน ต่อมาได้ทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งทั้ง 2 โรงงานสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงโรงละแสนตันต่อปี นอกจากนี้ นำของเสียมาผลิตไฟฟ้า ผลิตเอทานอลและกลายเป็นปุ๋ยกลับไปสู่ไร่อ้อยอีก ซึ่งปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีของเสียออกสู่ภายนอก
กระบวนการจัดการคลังสินค้า ในการเคลื่อนย้ายสินค้าและการขนสินค้าภายในคลังสินค้า จะต้องมีการวางแผนรับ-ส่งสินค้าเพื่อไม่ให้รถ Folk lift วิ่งรถเปล่าในขากลับ ลดจำนวนเที่ยววิ่ง เพื่อการประหยัดน้ำมันและพลังงาน หรือจากเดิมที่มีคลังสินค้าอยู่ 6 สาขา ก็เปลี่ยนเป็นศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง เป็นต้น
กระบวนการจัดการการขนส่ง (Transportation) ท่ามกลางวิกฤตพลังงานทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการตารางเวลาและการวางแผนขนส่งในแต่ละเที่ยว ไม่ให้เกิดรถวิ่งเที่ยวเปล่า การบำรุงดูแลรักษารถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเส้นทางขนส่งที่สั้นที่สุด รับ-ส่งในเส้นทางเดียว การจัดเรียงสินค้าให้เต็มคันในการขนส่งแต่ละเส้นทาง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) อีกด้วย เช่น บริษัท โตโยต้าได้ใช้ระบบ milk run system จัดเส้นทางเดินรถแยกเป็น A, B, C และ D นอกจากนี้ยังพัฒนา “E-kamban” ต่างจากวิธีทำงานปกติ โตโยต้ามีระบบ Kamban หรือ Just in time เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารของคงเหลือส่งให้ทันพอดีเวลาการจัดซื้อและการผลิต พัฒนาระบบจนกระบวนการผลิตรถยนต์เดินหน้าราบรื่น ส่วนระบบขนส่งภายในประเทศ โตโยต้าได้พัฒนาระบบ vehicles logistics เป็นคลัสเตอร์ดีลิเวอรี่ เดิมใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์ได้ 3 คันใหญ่ 6 คันเล็ก ปัจจุบันปรับจนสามารถใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์ 4 คันใหญ่ 8 คันเล็ก แต่ยังต่างจากญี่ปุ่นขนได้ถึง 12 คันเล็ก ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าก็เท่ากับช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวไปพร้อมกัน โดยโตโยต้าได้พยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ให้พันธมิตรกลุ่มซัพพลายเออร์และดีลเลอร์ เพื่อให้ทั้งระบบของโตโยต้าเดินไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ หลายบริษัทได้ทยอยนำรถบรรทุกที่มีอยู่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี การใช้เอ็นจีวีแทนน้ำมันจึงน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดต้นทุน
สำหรับการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบ “Green Logistics” มิใช่มองเพียงแต่ทางกายภาพคือ ในมุมมองของกระบวนการการผลิตเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ภาวะโลกร้อนและการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องมีการปลูกจิตสำนึกและพฤติกรรมทางด้าน “Green Logistics” ให้กับพนักงานที่ทำงานภายในองค์กรด้วย จึงจะเป็นกรีน โลจิสติกส์แบบครบวงจร
อย่างไรก็ดี กรีนโลจิสติกส์หรือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากตามกฎใหม่ของกติกาการค้าโลกและการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน อย่าหวังเพียงแต่ผลกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ต้องดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงจะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ก็คือว่า ได้เตรียมตัววางแผนกลยุทธ์ไว้รองรับแล้วหรือยัง? กับกฎกติกาการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *