‘วิชา…’ ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

“วิชา…” ที่โรงเรียนไม่ได้สอน
โดย – ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช
วิชาความรู้ในห้องเรียนให้อะไรกับชีวิต การเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาทำให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเองและสังคมหรือไม่ เห็นคุณค่าของชีวิตและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติเพียงไร จะทำอย่างไรเมื่อมีความหมายบางอย่างของชีวิตที่ความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนไม่อาจให้นิยาม
การเสวนาเรื่อง “วิชา…” ที่โรงเรียนไม่ได้สอน มีสาระที่ให้คำตอบกับคำถามข้างต้นได้ และอาจทำให้หลายคนได้คิดว่า เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาควรเป็นไปเพื่อสิ่งใด เราศึกษาค้นคว้าเพื่อความเข้าใจต่อการดำรงอยู่หรือเพื่อการครอบครองและเอาชนะ … นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ เวทีสร้างสุข สสส. จัดขึ้น เมื่อวันอังคารที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ลานกิจกรรม ชั้น ๓๕ ตึกเอส.เอ็ม.ทาวเวอร์
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการอิสระ เปิดประเด็นด้วยการยกตัวอย่างประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้รู้จักกับชายพิการผู้ไม่มีแขนทั้งสองข้าง ส่วนขาและเท้าก็ยื่นออกมาจากสะโพกเพียง ๑ ศอก แต่เขากลับสามารถทำให้อาจารย์ได้มองชีวิตในมุมใหม่ เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่มากขึ้น
“เขาชื่อเอกชัย เมื่อผมพาเขาไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพเพื่อเป็นการตอบแทนมิตรภาพที่เขามีให้แล้ว เขาก็ซื้อกำไลข้อมือกลับมาด้วยคู่หนึ่ง ระหว่างที่นั่งทานอาหารด้วยกันเขาใช้เท้าหยิบกำไลขึ้นมาหนีบไว้บนไหล่ แล้วสวมเท้าเข้าไปทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เมื่อสวมเสร็จแล้วเขายิ้มให้ผมพร้อมกับถามว่า สวยไหมครับอาจารย์ ความรู้สึกของผมตอนนั้นช่างยิ่งใหญ่และงดงามเหลือเกิน เขาคือครูผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่คนอย่างผมซึ่งมีร่างกายสมบูรณ์และใช้ชีวิตมานานกว่าครึ่งร้อยปีแล้วบางครั้งก็ยังรู้สึกคับข้องหมองใจในชีวิต รู้สึกว่ามันไม่พอ ไม่สมบูรณ์สักครั้ง ความรู้สึกอันยิ่งใหญ่นั้นผมไม่สามารถสอนให้ลูกศิษย์ของผมรู้สึกได้ในขณะที่ผมเป็นครูสอนปรัชญา”
อาจารย์ประมวล เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ตัดสินใจเลือกชีวิตใหม่ด้วยการลาออกจากราชการเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี แล้วเริ่มต้นแสวงหาประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณ การเล่าถึงประสบการณ์ทางความรู้สึกที่ได้เรียนรู้จากชายผู้พิการคนนั้น เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า วิชาการหรือความคิดที่มีการเรียนการสอนกันอยู่ในสังคมนั้นมีมากเป็นล้นพ้น แต่ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตคนเราไปสู่ความเบิกบานและแจ่มใสเหมือนที่อาจารย์ได้รับความรู้สึกอันทรงพลังจากชายพิการคนหนึ่ง ซึ่งแม้ร่างกายเขาจะไม่สมบูรณ์ แต่จิตใจเขากลับมีความปีติยินดีกับชีวิตและมีพลังอย่างน่าอัศจรรย์
ใช่หรือไม่ว่า การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นที่แนวคิด เหตุผล และการคิดเชิงตรรกะ แต่ไม่ได้เติมเต็มความรู้สึกด้านอารมณ์ที่เป็นนามธรรม อันมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและสามารถผลักดันชีวิตไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์ได้ … แล้ววิธีการเรียนการสอนอย่างไร จึงจะทำให้ผู้เรียนถึงพร้อมซึ่งความสมบูรณ์แห่งชีวิต
แบบอย่างจากโรงเรียนทอสี ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ คือการนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านการลงมือปฏิบัติ อาจารย์บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี พบหลักการศึกษาตามแนวทางของพุทธศาสนาเมื่อได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ประกอบกับการนำตัวเองเข้าสู่วิถีการปฏิบัติธรรม จึงทำให้เข้าใจหลักพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาและชีวิตมากขึ้น ดังที่อาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า
“พอจับหลักพุทธศาสนาได้ว่า ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต ก็เริ่มมองว่าสาระทั้ง ๘ ที่ให้เด็กเรียนนั้นมันเป็นวิชาการมาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ วิชาชีวิต เราจะเรียนเฉพาะวิชาเลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แต่วิถีชีวิตที่เราอยู่ร่วมกันตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในโรงเรียนกลับไม่ได้เอามาเป็นบทเรียน แต่ถ้าเอาหลักพุทธศาสนานี้มาใช้เราจะได้บทเรียนชีวิตเพิ่มขึ้นมา”
วิธีการที่อาจารย์บุบผาสวัสดิ์นำบทเรียนชีวิตมาใช้ในโรงเรียนคือ จัดสรรวิถีชีวิตในโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต เช่น ตอนเช้าเมื่อแม่ครัวทำอาหาร เด็กๆ ต้องไปช่วยงานในครัวด้วย เด็กๆ จะได้เรียนรู้การหั่นผัก การใช้มีด ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วิชาชีวิตคือ การมีน้ำใจ การแบ่งปัน และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น วิชาชีวิตจึงเป็นวิชาที่มีความเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน และการสอนในทุกวิชาไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตอันมีวิชาที่สำคัญในเบื้องต้นคือ วิชาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือสร้างสัมมาทิฏฐิ และต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่า โรงเรียนสอนให้เด็กนอบน้อม มีความเคารพต่อคุณครู ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูที่สอนในห้องเรียน แต่หมายถึงแม่ครัว คนขับรถ คนสวน หรือยามรักษาความปลอดภัย ส่วนครูที่สอนในห้องเรียนและผู้ปกครองทุกคน ก็เปรียบเสมือนนักศึกษาที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่ทางโรงเรียนเน้นมากคือเรื่อง “เกิดมาทำไม” ซึ่งจะสอนเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลโดยใช้สื่อละคร ให้เด็กๆ รู้ว่า เขาเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นควบคู่กันไป
นอกจากโรงเรียนทอสีแล้ว ยังมีอีกหลายรูปแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจในเวทีการเสวนาครั้งนี้ ดังเช่น คุณชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช จากแผนงานพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน ก็มีวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตท้องถิ่นของตน ด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษนอกโรงเรียนในลักษณะค่ายให้กับเด็กพื้นที่ต่างๆ โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งเด็กที่เรียนจบเพียงชั้นประถม เด็กที่กำลังเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียน เด็กชนบท และเด็กเมือง
การส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้จากความรู้ที่มีอยู่รอบๆ ตัวในท้องถิ่นและชุมชน จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจในถิ่นฐานของตน ซึ่งความรู้สึกนี้จะนำมาสู่ความภาคภูมิใจในตนเองในระยะต่อมา อันจะทำให้เด็กๆ มีจิตใจที่มั่นคง และพร้อมจะพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตนต่อไปด้วย
“กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เป็นการสร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาภูมิปัญญาในท้องถิ่น และสร้างความตระหนักในคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน” คุณชัยวัฒน์กล่าว
ด้าน พระมหานิคม คุณสัมปันโน ผู้ก่อตั้งจาริกาสิกขาลัย ใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยการจาริก หรือการเดินไปสู่แหล่งความรู้หรือผู้รู้ แตกต่างจากวิธีการศึกษาโดยทั่วไปที่กำหนดให้มีการเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ตายตัวและมีหลักสูตรชัดเจนที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
วิธีการเรียนรู้แบบจาริกาสิกขาลัยจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ด้วยการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการกำหนดหลักสูตรร่วมกันว่า อยากเรียนรู้เรื่องอะไร และอยากเรียนรู้กับใคร ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล สัตว์ สถานที่ หรือสิ่งของก็ได้ จากนั้นจะไปฝังตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะหรือความพึงพอใจที่จะเรียนรู้ เมื่อจบหลักสูตรแล้วก็มาสรุปบทเรียนร่วมกัน โดยการเรียนการสอนของจาริกาสิกขาลัยใช้หลักสูตร ๒ ปี ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และเมื่อจบหลักสูตรจะไม่มีการมอบใบประกาศให้ แต่ผู้เรียนต้องนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อประกาศความสามารถของตัวเอง พระมหานิคมกล่าวถึงเป้าหมายและประโยชน์ของจาริกาสิกขาลัยว่า
“ถ้าเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต่างๆ จะเป็นเหมือนการไปซื้อความรู้ แต่กระบวนการของเราเป็นการสร้างความรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้ไปรับใช้ผู้อื่นและรับใช้สังคม เมื่อการเรียนแบบนี้ไม่ต้องซื้อหา ไม่ได้เสียค่าลงทะเบียน ผู้เรียนก็จะเข้ามาด้วยความอ่อนน้อม และตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เรียน”
สำหรับ ชัยพร นำประทีป หรือ เอี้ยว นักดนตรีผู้เคยหลงรักการเดินทาง เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีวิธีการเรียนรู้โดดเด่น เขากล้าหาญพอที่จะเดินออกจากรั้วสถาบันทั้งที่ยังเรียนไม่จบเพื่อแสวงหาตัวเองจากการเดินทาง โดยเอาระยะทางเป็นตัวตั้ง สุดท้ายเขาก็กลับมาหยุดอยู่ที่เดิม แล้วเริ่มเดินทางเข้าสู่ภายในเพื่อค้นหาชีวิตจากพุทธธรรม
“หลังจากได้ฝึกนั่งสมาธิมา ๓-๔ ปี ก็ทำให้พบว่า การเดินทางไปยังสถานที่ใกล้ไกลหลายๆ แห่งนั้น มันจะไม่มีคุณค่าเลยถ้าเราละเลยมิติภายใน คือจิตใจ จิตวิญญาณของเรา บางทีการออกเดินทางมากๆ อาจจะไม่พบตัวตนที่เราตามหาเลยก็ได้” ชัยพรเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จาการเดินทาง
วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน ในทัศนะของชัยพรจึงเป็นวิชาที่เกิดจากการ “ใช้ชีวิต” ด้วยการเดินทางทั้งภายนอกและภายใน จนทำให้ “เข้าใจชีวิต” อย่างถ่องแท้และนำไปสู่การละวางตัวตนในที่สุด
นอกจาก “วิชา” ที่จะนำผู้เรียนไปสู่ความมีตัวตนที่ชัดเจนบนเวทีชีวิตแล้ว การศึกษาที่แท้จริงยังควรเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจอันถ่องแท้ทั้งภายในตัวเอง สังคม และโลก ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยตัววิชาความรู้ที่เล่าเรียนนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การทำให้ผู้เรียนตระหนักว่า “หากเปิดดวงใจให้กว้าง ชีวิตก็จะมอบทุกอย่างให้เราได้เรียนรู้” ดังที่อาจารย์ประมวลได้ให้ข้อคิดปิดท้ายไว้ว่า
“ชีวิตของแต่ละคนมีขั้นตอนในการดำเนินไป และขั้นตอนของการดำเนินชีวิตไปนั้น มันจะมีบทเรียนไปเป็นระยะๆ ผมจึงพยายามสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ขอให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในชีวิตที่มีอยู่ จงศรัทธาเถิดว่าชีวิตนี้จะดำเนินไปเพื่อการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ และเพื่อการค้นพบความหมายที่งดงามของชีวิต หากแม้นวันนี้ยังไม่พบสิ่งที่งดงามในชีวิต ก็อย่าสูญเสียศรัทธาในการมีชีวิตอยู่”

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *