ต้องเข้ม… ผลิต ด๊อกเตอร์

ต้องเข้ม… ผลิต ด๊อกเตอร์

วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาปริญญาเอกเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สำรวจจำนวนนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา (สูงกว่าปริญญาตรี) ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ปีการศึกษา 2549 พบว่า นักศึกษาปริญญาเอกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีการศึกษา 2545 มี 6,213 คน ปีการศึกษา 2546 มี 7,715 คน ปีการศึกษา 2547 มี 8,264 คน ปีการศึกษา 2549 มี 10,516 คน ปีการศึกษา 2549 ปี 13,959 คน

ในอดีต ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่จบมาจากต่างประเทศ ส่วนที่จบจากสถาบันอุดมศึกษาไทยมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งรับนักศึกษารุ่นละไม่เกิน 5 คน เพราะการจะเปิดการสอนในระดับนี้ได้ จะต้องใช้ทรัพยากรในการจัดการศึกษามาก ซึ่งมีมหาวิทยาลัยน้อยแห่งที่มีความพร้อม แต่เมื่อเทียบกับปัจจุบัน มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกมีมากขึ้น โดยปีการศึกษา 2549 มีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเปิดหลักสูตรปริญญาเอกจำนวน 53 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการพัฒนาตนเองในสาขาที่ทำงานอยู่ หรือบางคนเรียนเพื่อยกฐานะทางสังคม รวมทั้ง องค์กรต่าง ๆ ต้องการผู้จบปริญญาเอก

ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ เกรงว่าจะเข้าข่าย “จ่ายครบจบง่าย” เนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนปริญญาเอกทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ ซ้ำยังย่นเวลาเรียนให้สั้นลง เน้นทฤษฎีมากกว่าการวิจัย และไม่จำกัดจำนวนนักศึกษา เช่น

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) แสดงความเห็นว่า ตลาดการศึกษาปริญญาเอกของไทยขยายตัวเร็วไป ปริมาณมาก่อนคุณภาพ

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รมช. ศึกษาธิการ (ศธ.) แสดงความห่วงใยว่า การศึกษาระดับปริญญาเอกจะผลิตดอกเตอร์กล้วยออกมา กล่าวคือ เป็นดอกเตอร์ที่ทำวิทยานิพนธ์ครั้งเดียว เหมือนกล้วย ออกดอกผลไม่กี่ครั้งแล้วรอวันตาย โดยลักษณะหลักสูตรปริญญาเอกที่ผลิตดอกเตอร์กล้วยคือ รับนักศึกษารุ่นละ 40-50 คน หรือไม่จำกัด มักจะจ้างศาสตราจารย์เกษียณหรือใกล้เกษียณเป็นประธานหลักสูตร มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพียง 4-5 คน อาจารย์ 1 คน ต้องให้คำปรึกษานักศึกษาหลายสิบคน

ผลเสียที่เกิดจากการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกไม่มีคุณภาพ

บัณฑิตปริญญาเอกล้นตลาดแรงงาน ในแต่ละปีมีผู้ที่ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการควบคุมปริมาณ อาจเกิดภาวะบัณฑิตระดับปริญญาเอกล้นตลาดแรงงานได้ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะแต่ละปี สหรัฐฯ ผลิตบัณฑิตปริญญาเอกมากกว่า 4 หมื่นคน แต่พบว่า บัณฑิตเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีงานทำ นอกนั้น ไม่ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาจึงตกงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบัณฑิตปริญญาเอกสาขาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาสังคมวิทยา ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ไม่ทราบว่ามีแหล่งงานที่ต้องการคนจบสาขานี้หรือไม่

บัณฑิตปริญญาเอกขาดคุณภาพ การที่มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อการเรียนการสอน เนื่องจากอาจารย์ 1 คน ต้องรับผิดชอบนักศึกษาหลายคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่อาจารย์จะสามารถลงลึกด้านการวิจัยกับนักศึกษา การเรียนปริญญาเอกปัจจุบันเน้นสอนทฤษฎี จึงไม่แปลกใจที่บัณฑิตปริญญาเอกจำนวนมากทำวิจัยไม่เป็น และไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้จากทฤษฎีออกมาเป็นภาคปฏิบัติ เมื่อบัณฑิตเหล่านี้ออกมาประกอบอาชีพเป็นครูอาจารย์ ยิ่งตอกย้ำการศึกษาที่ขาดคุณภาพ

กระทบต่อการบริหารองค์กรและประเทศ กรณีที่ดอกเตอร์ขาดคุณภาพ จบออกมาเป็นผู้บริหารองค์กรหรือผู้บริหารประเทศ ด้วยความที่มีเพียงวุฒิการศึกษาแต่ขาดความรู้และทักษะ อาจทำให้การบริหารผิดพลาด หรือไม่ไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด จนส่งผลเสียต่อคนในองค์กรและคนในประเทศ

แนวทางแก้ไขปัญหา แม้ปัจจุบันบัณฑิตระดับปริญญาเอกจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่การรับนักศึกษาปริญญาเอกโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น อาจส่งผลเสียคุณภาพบัณฑิตที่ลดต่ำลงจนกระทบต่อสังคมในภาพรวม ดังนั้น ศธ. ควรมีมาตรการควบคุมการจัดการศึกษาระดับนี้ให้มีคุณภาพ โดยร่วมมือกับ สมศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย

คุมการผลิตนักศึกษาปริญญาเอกที่มีคุณภาพ โดยมีระบบการประเมินที่เป็นมาตรฐานและหากผลการประเมินพบว่า มหาวิทยาลัยใดเปิดหลักสูตรปริญญาเอกไม่ได้มาตรฐาน ศธ. อาจพิจารณาให้มหาวิทยาลัยหยุดรับนักศึกษาชั่วคราว หรือรับนักศึกษาในจำนวนที่น้อยลง จนกว่าจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยได้ปรับมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว มิฉะนั้น มหาวิทยาลัยอาจผลิตบัณฑิตปริญญาเอกที่ไร้คุณภาพสู่ตลาดได้

ควรศึกษาวิจัยความสอดคล้องระหว่างความต้องการของตลาดแรงงานกับปริมาณบัณฑิตปริญญาเอก แยกเป็นรายสาขาวิชา เพื่อป้องกันปัญหาบัณฑิตปริญญาเอกล้นตลาดแรงงานหรือขาดแคลนในบางสาขา

ปริญญาเอก ถือว่าเป็นการศึกษาระดับสูงที่สุด ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับนี้จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีภูมิความรู้มากที่สุด ทั้งทฤษฎีและการวิจัย และเป็นกลุ่มขุมกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะเกิดข้อกังวลและความกังขาเกี่ยวกับผู้ที่ได้คำนำหน้าว่าเป็น “ด๊อกเตอร์” ดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังศึกษาต่อหรือใกล้จบปริญญาเอกจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถจริง ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีส่วนในการพัฒนาองค์กรและประเทศชาติอย่างเต็มความสามารถ

ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ศธ. และ สมศ.ควรควบคุมคุณภาพและปริมาณบัณฑิต มหาวิทยาลัยควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมมากกว่าแสวงหารายได้ เพื่อผลิตบัณฑิตปริญญาเอกที่มีคุณภาพ และเป็นผู้ที่สร้างองค์ความรู้ให้แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *