ความรู้กับคอมพิวเตอร์

ความรู้กับคอมพิวเตอร์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1491
ในการสนทนากับผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ท่านหนึ่ง ท่านได้พูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอินเตอร์เนทซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจดี ผมจึงขอนำมาเล่าต่อ แต่ก็ขอเล่าแบบผม คือขยายความไปตามใจชอบจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นอ่านเจอเข้า อาจบอกว่ากูไม่ได้พูด
ความรู้นั้นอาจแบ่งออกได้หยาบๆ เป็นสองอย่าง ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเป็นความรู้อย่างแรก เช่น รู้ว่า มีมด, ใบไม้สีเขียว, มีลมพัด, มีความรู้สึกที่เรียกว่ารัก, หิว, โกรธ ฯลฯ ความรู้อย่างที่สองคือ “ความสัมพันธ์” เช่นรู้ว่าสีเขียวของใบไม้นั้นคือสารชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง เป็นอาหารของพืช
สัมพันธ์กันหลายอย่างนะครับ ตั้งแต่รู้สารชนิดนั้น และรู้ว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิต ต้องกินอาหาร รู้ไปถึงหน้าที่ของสารนั้น
ล้วนเป็นเรื่องเอาความรู้ประเภทอะไรคืออะไรมา “สัมพันธ์” กันนัวเนีย จนกลายเป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง ยิ่งเป็นความรู้ระดับสูงเท่าไร ก็ยิ่งมี “ความสัมพันธ์” อยู่นัวเนียซับซ้อนมากขึ้นไปเท่านั้น
ผมยอมรับนะครับว่า การแบ่งนี้หยาบ เพราะความรู้สองอย่างนี้เหลื่อมกัน จนมักจะแยกออกจากกันไม่ได้ง่ายๆ เพราะมีความรู้อย่างแรก จึงทำให้มีความรู้อย่างที่สอง และเพราะมีความรู้ถึง “ความสัมพันธ์” กัน ก็กลับทำให้เพิ่มความรู้ว่าอะไรคืออะไรมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ ขึ้นชื่อว่า “ความสัมพันธ์” ก็หาได้มีอยู่จริงไม่ ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นเองหรือมองเห็นไปเองทั้งนั้น ดังนั้น ความรู้อย่างที่สองนี้จึงอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้
ข้อนี้สำคัญเพราะว่า ในการเล่าเรียนความรู้ต่างๆ เรื่องของ “ความสัมพันธ์” สำคัญเสียยิ่งกว่าผลสรุปบั้นปลาย เช่น โลกจะกลมหรือแบนสำคัญน้อยกว่าว่าเหตุใดเราจึงรู้ว่าโลกกลม
ผมคิดว่าการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย ไปเข้าใจผิดว่าความรู้ทั้งหลายล้วนเป็นอย่างที่หนึ่งหมด จึงละเลยเรื่องของ “ความสัมพันธ์” แม้แต่ผลสรุปบั้นปลายของความรู้อย่างที่สอง ก็สอนกันเหมือนเป็นความรู้อย่างแรก เพราะไม่เคยถูกสอนให้ทำความเข้าใจกับกระบวนการสร้าง “ความสัมพันธ์” ของข้อมูล อันนำไปสู่ข้อสรุปบั้นปลายซึ่งเป็นความรู้ใหม่ (ที่อาจจะผิดก็ได้)
ที่เรียกว่า “รู้ลึก” ก็คือรู้ไปถึงกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ของความรู้นี่แหละครับ
อินเตอร์เน็ตซึ่งต้องทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ก็รู้เหมือนกันนะครับว่า หัวใจของความรู้คือเรื่องของความสัมพันธ์ และด้วยเหตุดังนั้น จึงพยายามเชื่อมโยงผู้ใช้เข้าสู่ข้อมูลที่มันคิดว่าสัมพันธ์กัน ที่เรารู้จักกันดีก็คือไฮเปอร์ลิงค์ ซึ่งพอคลิ้กเข้าไป ก็จะไปโผล่ที่อื่น
ดำผุดดำว่ายในอินเตอร์เนทไปเรื่อยๆ ก็จะไปโผล่ในข้อมูลกว้างขึ้นเรื่อยๆ กำลังอยากจะรู้ว่าลำไส้ทำงานอย่างไร ดำไปดำมาไปโผล่เอาเรื่องของเครื่องสำอาง
เพราะสมองของคอมพิวเตอร์ (หรือซอฟท์แวร์ที่กำกับมัน) มองเห็นความสัมพันธ์ได้แค่นี้แหละครับ คือข้อมูล “ประเภท” เดียวกัน ย่อมสัมพันธ์กัน (ความสัมพันธ์ที่คอมฯ มองเห็นอาจผิวเผินเพียงแค่ตัวสะกดที่ตรงกันเท่านั้น) ฉะนั้น ยิ่งค้นอินเตอร์เนทเท่าไร ก็ยิ่งจะรู้อะไรกว้างขึ้นๆ ไปเรื่อยจนเลยจุดที่สนใจไป
การทำงานของสมองมนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ เรามองความสัมพันธ์ลึกกว่า “ประเภท” ที่จริงแล้วเราไม่เอา “ประเภท” ของข้อมูลเป็นตัวตั้งด้วยซ้ำ เพราะจะไปจำกัดจินตนาการของเราให้แคบลง มองไม่เห็นความสัมพันธ์ของอะไรอื่นที่ดูเผินๆ เหมือนไม่สัมพันธ์ด้วยซ้ำ
ที่จริงแล้ว การค้นพบอะไรที่ใหญ่ๆ ในโลกนี้ ล้วนมาจากการมองเห็นความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์ทั้งนั้น
และด้วยเหตุดังนั้น มนุษย์จึงสามารถคิดอะไรที่ลึกขึ้นๆ ไปได้ไม่สิ้นสุด จนสามารถสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ ในขณะที่อินเตอร์เน็ตทำได้เพียงทำให้เรารู้อะไรกว้างขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้เรารู้ลึกได้สักเรื่องเดียว
รู้ได้ทุกเรื่อง แต่รู้ดีไม่ได้สักเรื่อง
ผมไม่ได้หมายความว่าเราไม่อาจหาความรู้ที่ลึกได้จากอินเตอร์เนทนะครับ แต่จะหาได้เราต้องมีความรู้ก่อน เป็นแนวให้เราเจาะค้นลึกขึ้นไปได้ (ซึ่งในที่สุดก็ต้องเสียสตางค์) ถ้าไม่มีความรู้เป็นแนวทางนำเราไปสู่ความรู้ที่ลึกขึ้นมาก่อน ก็ได้แต่ดำผุดดำว่ายอยู่กับข้อมูลกว้างๆ จนกลายเป็นความรู้ท่วมหัว
ลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลในแนวกว้างอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้อินเตอร์เน็ตเหมาะสำหรับการค้า มีงบอยู่เท่านั้นเท่านี้บาท อยากไปเที่ยวเมืองจีน จะต้องทำอย่างไร ก็วางแผนจากอินเตอร์เน็ตได้ หรืออยากซื้อเครื่องเสียงสักชุด, อยากได้จักรยานสักคัน ฯลฯ
ฝ่ายพ่อค้า ก็ใช้อินเตอร์เน็ตในการวางสินค้า และเปิดการเชื่อมโยงข้อมูล (ซึ่งอาจต้องเสียเงินจ้างบ้าง) จนกระทั่งล่อใจผู้ซื้อได้มากขึ้นกว่าวางโฆษณาไว้บนสื่อชนิดอื่น ซ้ำไม่ต้องเสียเงินจ้างพนักงานมาคอยอธิบายคุณสมบัติของสินค้าเสียอีก
คุณสมบัติสำคัญของอินเตอร์เน็ตคือความเป็นตลาด หรือเครื่องมือการตลาดที่ดีที่สุดของโลกปัจจุบัน แม้แต่สินค้าซึ่งไม่รู้จะไปวางขายที่ไหน ก็เอามาวางขายในอินเตอร์เนทได้ ซ้ำทำให้ดูดีเสียด้วย
เช่นขายตัวเป็นต้น หากให้นักศึกษาเอาไปวางขายในตลาดอื่น จะตั้งราคาให้แตกต่างจาก “น้องหล้า” จากพะเยาได้อย่างไรล่ะครับ
อย่านึกถึงแต่นักศึกษา พรรคการเมืองและนักการเมือง (ทั้งนอกและในระบบ) ก็เข้ามาใช้ตลาดนี้กันเกร่อเหมือนกัน ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากๆ สามารถขายสินค้าได้กำไรไม่รู้เรื่องทั้งสิ้น
ในต่างประเทศ มีความพยายามจะพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำให้คนที่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ สามารถหาความรู้เชิงลึกได้จากอินเตอร์เน็ต โดยการใช้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนคล้ายสมองมนุษย์ แต่นี่เป็นเพียงเป้าหมายที่ยังทำไม่สำเร็จ
ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนทจึงมีประมาณดินสอ เราต้องเขียนเป็นก่อน ไม่งั้นดินสอก็มักทำให้เปรอะเปื้อนกระดาษและฝาผนังเท่านั้น
โดยปราศจากความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อินเตอร์เน็ตก็นำเราไปสู่ความรู้กว้างๆ ที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์อะไรกันนัก (ซึ่งผมจัดว่าเป็นความรู้ประเภทแรก อะไรคืออะไรเท่านั้น)
ถ้าถือว่ารู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ก็แล้วไป แต่จะรู้จริงรู้ดีสักเรื่องหนึ่งก็ไม่มี
ผมเห็นนักการศึกษา ทั้งที่เป็นข้าราชการประจำและการเมือง หรือแม้แต่อยู่ในวงการธุรกิจ ต่างฝากความหวังไว้กับอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์กันเหลือเกิน จนดูประหนึ่งว่าซื้อคอมฯ มาตัวหนึ่ง พร้อมติดตั้งอินเตอร์เน็ต ผู้คนก็จะมีความรู้ขึ้นมาอย่างแพร่หลายรวดเร็ว
ผมคิดว่านั่นเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมชาติของความรู้ และอีกหลายคนไม่เข้าใจแม้แต่ธรรมชาติของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
แต่คอมพิวเตอร์ก็เป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง และผู้ใหญ่ของไทยนั้นติดเทคโนโลยีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างน้อยก็เพราะเทคโนโลยีต้องซื้อหา จึงทำให้เกิดค่าคอมมิชชั่นไปพร้อมกัน
ดังนั้น เราจึงปฏิรูปการศึกษากันด้วยคอมพิวเตอร์และคอมมิชชั่นกันมาตลอด
ตรงกันข้ามนะครับ คอมพิวเตอร์เป็นแค่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการค้นหาความรู้ แต่จะค้นหาความรู้ได้ก็ต้องมีความรู้เสียก่อน ปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเริ่มต้นที่ครูและการฝึดหัดครู
แต่ไม่ใช่ครูที่มีอุปกรณ์อยู่ชิ้นเดียวคือกระดานดำอีกแล้ว เราควรมีจินตนาการถึงครูที่เป็นผู้จัดการความรู้ หรือจัดการการเรียนรู้ในสภาพของโลกยุคปัจจุบัน
แม้ว่าเป็นปัจจุบัน ก็ไม่ได้หมายความว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว อะไรที่มีมาโบร่ำโบราณก็ยังเป็นอุปกรณ์อยู่ เช่น หนังสือ, การเรียนรู้จากคนอื่น, การสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น, การทดลองทำดู, การสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลเอง ฯลฯ เป็นต้น
อินเตอร์เน็ตให้ได้แต่ความรู้เหมือนเป็ด คือกว้างแต่ไม่ลึก ซ้ำยังอาจตกเป็นเหยื่อของตลาดได้ง่ายเสียอีก (ไม่ว่าในฐานะผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม) โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ให้เด็กใช้ก็ดีแล้ว แต่ต้องสอนให้รู้จุดอ่อนของความรู้ในคอมพิวเตอร์ด้วย โดยการนำเด็กไปสู่คำถามเชิงลึกของความรู้ต่างๆ ไม่ใช่พอใจเพียงการตัดข้อความในคอมฯ มาแปะให้ครูอ่าน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *