ฮาร์วาร์ดเปิดโอกาสผู้เรียนทุกประเภท

ฮาร์วาร์ดเปิดโอกาสผู้เรียนทุกประเภท

วันที่ : 11 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ผมมีความประทับใจในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่รักการแสวงหาความรู้สามารถเรียนได้ โดยไม่ให้ข้อจำกัดใด ๆ มาเป็นสิ่งปิดกั้น

ไม่จำกัดด้านอายุ หลายครั้งที่เราได้พบเห็นนักศึกษาหลากหลายวัยเรียนหนังสือร่วมกัน ครั้งหนึ่งผมได้เข้าร่วมฟังการบรรยายวิชาหนึ่ง และพบกับนักศึกษาคนหนึ่ง อายุประมาณ 60 กว่าปี จากการสอบถามทำให้ทราบว่า เขากำลังเรียนในระดับปริญญาโทอยู่

ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ผมได้พบกับนักศึกษาปริญญาตรีท่านหนึ่งที่เพิ่งจบการศึกษาไปด้วยอายุกว่า 30 ปี ที่หยุดเรียนไปเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และต้องทำงานต่อ แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับมาเรียนต่อเนื่องจากเห็นว่า หากไม่เรียนให้จบอาจไม่สามารถทำงานตามที่ตั้งใจไว้ได้ ซึ่งเขาได้อธิบายให้ทราบว่า การที่เขาสามารถกลับมาเรียนต่อได้นั้น เพราะทางมหาวิทยาลัยเปิดกว้างและอนุญาตให้นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนแล้ว ขอลาหยุดพักการเรียนไป และหากอยากกลับมาเรียนก็สามารถทำได้ หากมีเหตุผลที่ดี

ไม่จำกัดด้านความพิการ กล่าวคือมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสผู้เรียนทุกคนสามารถสมัครเข้าศึกษาได้ โดยไม่จำกัดว่า ผู้เรียนเป็นคนปกติ หรือมีความพิการ มากกว่านั้นคือ มหาวิทยาลัยได้แสดงความพร้อมในการรองรับผู้เรียนที่มีความพิการ โดยการวางระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อให้ผู้เรียนที่พิการสามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกับผู้เรียนปกติให้มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ทางเข้าห้องสมุดเกือบทุกห้องสมุดจะมีทางขึ้นสำหรับผู้เรียนที่นั่งรถเข็น การจัดตั้งศูนย์ The Accessible Education Office (AEO) เพื่อทำหน้าที่ดูแล บริการนักศึกษาที่มีความพิการให้ได้รับความสะดวกในการเรียนมากขึ้น

ไม่จำกัดด้านเชื้อชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเปิดกว้างให้ผู้เรียนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าศึกษาต่อได้โดยไม่จำกัดว่า จะมาจากประเทศใด มีพื้นภูมิทางการเมือง การปกครอง ความเชื่อแบบใด หากผู้เรียนคนนั้นมีคุณสมบัติที่ผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการคัดเลือก ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเข้ามาเรียนอย่างเท่าเทียมกัน
ดังเห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่ของมหาวิทยาลัยที่พบว่า มีนักศึกษาต่างชาติจากทั่วโลกราว 131 ประเทศมากกว่า 3,821 คน

ไม่จำกัดด้านฐานะ มหาวิทยาลัยส่งสัญญาณในการเปิดรับนักศึกษาที่มีความสามารถ โดยไม่ให้ปัญหาเรื่องการเงินเป็นอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย need-blind admissions ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดสมัครเข้าเรียนได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนเต็มจำนวน ในกรณีที่นักศึกษามาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐต่อปี รวมถึงส่วนลดค่าเล่าเรียนสำหรับครอบครัวนักศึกษาที่มีรายได้ระหว่าง 60,000 – 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

มาตรการช่วยเหลือผู้เรียนมีหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การอุดหนุนค่าเล่าเรียน การให้ทุนการศึกษา ทั้งที่เป็นทุนเต็ม และทุนบางส่วน และการช่วยเหลือทางด้านการเงินในแบบต่าง ๆ ทั้งในแบบเงินกู้ยืม และการจ้างงานนักศึกษา ที่จะคำนึงถึงความจำเป็นของนักศึกษาแต่ละคน (need-based) จากสถิติในปีค.ศ. 2006 พบว่า นักศึกษา 2 ใน 3 จะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากมหาวิทยาลัยโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่มหาวิทยาลัยช่วยเหลือนักศึกษาแต่ละคนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ของค่าเล่าเรียน

ประสบการณ์ที่ได้รับจากฮาร์วาร์ดนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้โดยไม่จำกัดอย่างแท้จริง

สะท้อนคิดสู่ระบบการศึกษาไทย ที่จำเป็นต้องเปิดกว้างและเอื้อโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริงในภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น

การจัดหลักสูตรที่เอื้อต่อการเทียบโอนหน่วยกิต

การจัดหลักสูตรที่ส่งเสริมคนวัยทำงาน

การจัดหาและสร้างสาธารณูปโภค

การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จำเป็นต้อง “สร้างโอกาส” และช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้คนไม่มีอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้ ไม่ว่าเขาต้องการเรียนรู้ในเรื่องใด มีสถานะใด แต่ทุกคนจะได้รับการเอื้อประโยชน์จากระบบการศึกษา และสังคมมากที่สุด เพื่อให้การเรียนรู้เป็นกลไกนำพาให้คนพัฒนาคุณภาพของตนอยู่เสมอ

ที่เอื้อต่อผู้เรียนที่มีความพิการให้มีความสะดวกในการเรียน และได้รับบริการที่มหาวิทยาลัยจัดให้เช่นเดียวกับผู้เรียนปกติ ให้สามารถต่อยอดและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ให้ได้รับการ
พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จัดสรรเวลาและเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อการเรียนนอกเวลาทำงาน หรือเรียนทางไปรษณีย์ หรือจัดสัมมนาและฝึกอบรมเป็นระยะ ๆ ตามความต้องการของคนในสังคมและในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดในการศึกษาต่อระดับสูงขึ้นไป และทำให้บุคคลที่ออกนอกระบบการศึกษาไปแล้วสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *