ฮาร์วาร์ดกับการช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติปรับตัว

ฮาร์วาร์ดกับการช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติปรับตัว

วันที่ : 21 กันยายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่มาจากรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงที่มาจากทั่วโลกราว 131 ประเทศมากกว่า 3,821 คน อีกทั้งคณะต่าง ๆ ทั้ง 10 คณะ และสาขาวิชาในระดับปริญญาตรีทั้ง 44 สาขา ที่เปิดหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อให้นักศึกษาทั้งในและต่างชาติได้เลือกเรียน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่สามารถดึงดูดผู้เรียนหัวกะทิจากทั่วโลกที่ได้รับทุน (International Scholars) เลือกเข้าเรียนมากเป็นอันดับที่หนึ่งในกลุ่มไอวีลีคหรือกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลจากปีการศึกษา 2004-2005)

ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะ ปัจจัยด้านจำนวนนักศึกษาต่างชาติ และหลักสูตรการศึกษาที่แข็งแกร่งดังที่กล่าวมาเท่านั้น แต่ความสามารถในการบริหารจัดการ การช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมให้เข้าใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบททางการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดสามารถรองรับนักศึกษาต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสามารถหล่อหลอมคนเหล่านั้น ให้กลายเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมได้

ศูนย์ดูแลนักศึกษาต่างชาติ: ผู้ช่วยนักศึกษาเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง
นักเรียนต่างชาติทุกคนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่เพียงอยู่ในความดูแลของคณะ/สาขาที่ตนเลือกเรียน และได้รับสิทธิเท่าเทียมกับนักศึกษาในประเทศทั้งสิทธิในการรับการช่วยเหลือทางการเงิน การใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคที่มหาวิทยาลัยจัดหาให้ แต่ยังได้รับการเอาใจใส่จากสำนักงานนักศึกษานานาชาติฮาร์วาร์ด (The Harvard International Office: HIO) ที่จะทำหน้าที่ดูแล ตั้งแต่การเป็นศูนย์ข้อมูลที่จำเป็นต่อนักศึกษาต่างชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องวีซ่า การเงิน การปรับตัวในสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาส่วนตัวของนักศึกษา ผ่านแผนกิจกรรมของสำนักงานที่ช่วยลดช่องว่างในการใช้ชีวิตให้นักศึกษา อาทิ การทำคู่มือแนะนำการใช้ชีวิตข้อมูลการเดินทางจากที่พักสู่มหาวิทยาลัย การตั้งที่ปรึกษารายคณะจัดสรรบุคลากรประจำคณะ เพื่อให้นักศึกษาต่างชาติแต่ละคณะเข้าถึงได้ง่าย ระบบ Advisor on call เพื่อตอบคำถามง่าย ๆ กรณีที่ปรึกษาประจำคณะไม่อยู่ ให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงนักศึกษาที่มาเรียนจะได้รับการดูแลในทุกด้านทั้งการเรียน การช่วยเหลือด้านการเงิน และการปรับตัวเท่านั้น แต่ในกรณีที่นักศึกษามีคู่สมรส หรือบุตรตามมาด้วย มหาวิทยาลัยจะให้การดูแลผู้ติดตามเหล่านั้น ทั้งการจัดชั้นเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมแก่คู่สมรส แนะนำโรงเรียนแก่บุตร สามารถใช้สาธารณูปโภคของมหาวิทยาลัย โดยการสมัครเป็นสมาชิก อาทิเช่น ห้องสมุด และศูนย์กีฬา รวมถึงมหาวิทยาลัยพยายามสร้างการมีส่วนร่วมในประชาชนมหาวิทยาลัย ผ่านชมรมคู่สมรสของนักศึกษาต่างชาติ ที่เปิดโอกาสให้คู่สมรสของนักศึกษามาทำกิจกรรมร่วมกัน อันเป็นการกระชับความสัมพันธ์แบ่งปันประสบการณ์ การปรับตัวให้แก่กันและกัน

สะท้อนคิดสู่ประเทศไทยเราพบว่า กระแสการเปิดหลักสูตรนานาชาติของไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในทุกระดับการศึกษา โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าในปี 2549-2550 จะมีนักเรียนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5-10% จากจำนวนนักเรียนนักศึกษาในหลักสูตรนานาชาติปี 2548 ประมาณ 68,000 คน ในส่วนของการให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่มีกว่า 20,000 คนจาก 72 ประเทศนั้น ได้ก่อรายได้จำนวน 10,000 ล้านบาทต่อปีให้แก่ประเทศ

ทั้งนี้ในส่วนของการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น พบว่า จำนวนนักศึกษาในปี 2548 มีราว 34,127 คน เป็นนักศึกษาชาวไทย 30,000 คน นักศึกษาต่างชาติ 4,127 คน โดยปัจจุบันไทยมีสถาบันอุดมศึกษานานาชาติจำนวน 51 แห่ง และเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติมากกว่า 723 หลักสูตร

ท่ามกลางกระแสความเติบโตของหลักสูตรนานาชาตินี้เอง ปัญหาที่ตามมาของการจัดการศึกษานานาชาติคือ มหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนนักศึกษาต่างชาติให้มีประสิทธิภาพได้เมื่อเทียบกับการสอนนักศึกษาในประเทศ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อปี 2549 ศึกษาเรื่อง “Cross Cultural Learning Style” พบว่า ปัญหาดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากนักศึกษาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบใหม่ ทัศนคติของนักศึกษาต่อการเรียนการสอนที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิม ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงควรตระหนักในการสนับสนุนเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาจากชาติต่าง ๆ ในการเรียนร่วมกับนักศึกษาจากชาติอื่น อันจะทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น
ผมจึงขอเสนอแนวคิด 3 ประการ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยไทย ให้สามารถดึงดูดผู้เรียนจากทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้

จัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษานานาชาติในมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา อำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติ ให้มีความเข้าใจและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอพักนักศึกษาต่างชาติ การเดินทาง การใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นต้น

จัดกิจกรรมเพื่อลดช่องว่างในความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจมีทั้งกิจกรรมในและนอกห้องเรียน ที่สนับสนุนให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยและปรับตัวให้เข้ากับบริบทการศึกษา และสังคมที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น การจัดส่งคู่มือแนะนำมหาวิทยาลัย รูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นให้นักศึกษาเรียนรู้ก่อนเข้าเรียนจริง การให้ผู้เรียนพบปะกับผู้ช่วยสอน เจ้าหน้าที่หลักสูตรนานาชาติ เพื่อทำการพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกันทั้งเรื่องส่วนตัว และการเรียน การจัดทัวร์ชมเมือง-วัฒนธรรม กิจกรรมพบปะสังสรรค์ในชมรมต่าง ๆ การจัดระบบให้นักศึกษาพบปะพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประจำเพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการเรียนการสอนของผู้สอนแต่ละท่าน

พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเป็นสากล โดยเร่งสร้างบุคลากรด้านการศึกษาให้มีคุณภาพและเพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาต่างชาติ การฝึกอบรมหรือเพิ่มทักษะที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการศึกษา อันจะช่วยสนับสนุนการบริการแก่นักศึกษาต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มหาวิทยาลัยนับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถปรับตัว มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์ในความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม และประเทศชาติต่อไป

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *