Small Is Still Beautiful จิ๋วก็ยังแจ๋ว หรือ ชนะก็คือแพ้ (4)

Small Is Still Beautiful จิ๋วก็ยังแจ๋ว หรือ ชนะก็คือแพ้ (4)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองนักปราชญ์ โดย ดร.ไสว บุญมา sboonma@msn.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3983 (3183)
ภาค 4 พูดถึงสภาพของดินและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในขณะที่นักคิดเช่นชูมักเกอร์มองว่า ดินคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดซึ่งมนุษยชาติควรปกปักรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี เพราะมันเป็นส่วนสำคัญยิ่งของชีวิต มีผู้คิดว่า อีกไม่ช้ามนุษย์จะไม่จำเป็นต้องพึ่งดินเพื่อการเกษตรอีกต่อไป เพราะนักวิทยาศาสตร์จะสามารถผลิตอาหารได้จากสารเคมี ในระหว่างสองขั้วนี้มีอีกแนวคิดหนึ่งซึ่ง เป็นฐานของการผลิตอาหารผ่านการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันนั่นคือ การใช้ดินแบบเข้มข้นผ่านการทำอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้ทั้งเครื่องจักรและสารเคมี เพื่อผลิตอาหารให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนวคิดนี้เป็นฐานของนโยบายเกษตรในสหภาพยุโรป ซึ่งแต่ละปีใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร
นโยบายนี้มีผลพวงหลายอย่าง นอกจากจะผลิตอาหารบางชนิดมากเกินจนต้อง โยนทิ้ง ในเบื้องแรกการเกษตรแบบนี้ทำลายสภาพแวดล้อม และสภาพของดิน ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตขนาดใหญ่มุ่งตัดต้นไม้ และถมสระน้ำธรรมชาติเพื่อรวมที่ดินให้เป็น ผืนใหญ่ๆ ซึ่งสะดวกแก่การใช้เครื่องจักร นอกจากนั้นยังมีการมุ่งใช้สารเคมีแบบ เข้มข้นจนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าวัชพืช การทำอุตสาหกรรมเกษตรมีผลทำให้ผู้ทำเกษตรกรรมแบบครอบครัวอยู่ไม่ได้ ยังผลให้ครอบครัวเกษตรล่มสลายและย้ายไปหางานทำในเมือง สภาพเช่นนี้มีเกิดขึ้นทั่วไปรวมทั้งในอเมริกาด้วย แต่ความแออัดในเมืองขนาดใหญ่ก็มิใช่สิ่งที่คนส่วนมากปรารถนา ฉะนั้นสภาพสังคมแตกสลายจึงเกิดขึ้นในเมืองด้วยพร้อมกับผลักดันให้ผู้คนดิ้นรนที่จะออกไปอยู่นอกเมือง แต่บางคนเท่านั้นที่ทำได้เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้สูงพอ ผลสุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ไร้ความสุข
ชูมักเกอร์เสนอให้รื้อฟื้นสภาพของผืนดินและการเกษตรแบบครอบครัวให้กลับมาใหม่ แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีผล ตรงข้ามความคิดที่จะผลิตอาหารผ่านการใช้วิชาวิทยาศาสตร์ นับวันจะยิ่งเข้มข้นจนในขณะนี้การเกษตร มีสภาพไม่ต่างกับการทำสงครามด้วยอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ จริงอยู่การใช้สารเคมีทำให้ได้ผลิตผลเกษตรเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสารเคมี ก็แฝงปัญหาไว้สารพัดทั้งในรูปของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในรูปของความเจ็บป่วย การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิมและการรักษาพยาบาลล้วนต้องใช้เงินจำนวนมากทั้งสิ้น นอกจากนั้นการใช้สารเคมีจำพวกปฏิชีวนะเพื่อกระตุ้นให้สัตว์โตเร็วและรักษาโรคในสัตว์ยังทำให้เชื้อโรคหลายอย่างดื้อยา ซึ่งสร้างปัญหาในด้านการรักษาพยาบาลคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านั้น
ทางด้านชีวภาพตอนนี้มีความเคลื่อนไหวในการตัดแต่งพันธุกรรมอย่างเข้มข้น ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของพืช ที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรมจะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้อย่างแท้จริง ที่แน่นอนก็คือ เมื่อพืชจำพวกนี้ทนทานต่อสารเคมีที่เกษตรกรใช้ฆ่าวัชพืชและแมลงต่างๆ พวกเขายิ่งใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น การกระทำเช่นนั้นนำไปสู่การสูญเสียสมดุลของธรรมชาติพร้อมกับมีสารเคมีตกค้างมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์และสุขภาพของมนุษย์ การศึกษานกในทุ่งไร่ ทุ่งนาของสหราชอาณาจักรระหว่างปี 2515-2539 พบว่าประชากรนกลดลงระหว่าง 33-62% การศึกษาในสหรัฐอเมริกาก็พบว่าประชากรนกในไร่ ในนาที่ใช้หลักเกษตรอินทรีย์มีราว 6-8 เท่าของในไร่นาที่ใช้สารเคมี แต่ผู้คัดค้านการตัดแต่งพันธุกรรมดูจะไม่มีทางชนะเพราะ ผู้ถือหางทางด้านการนำพืชและสัตว์ที่ถูก ตัดแต่งพันธุกรรมมาใช้ได้แก่ บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งยึดการแสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง นอกจากจะสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์เพื่อวิจัยในด้านนี้แล้ว บริษัทต่างๆ ยังพยายามแสวงหาพันธมิตรด้วยการสนับสนุนนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษและชาวยุโรปส่วนใหญ่เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการผลิตอาหาร ด้วยการตัดแต่งพันธุกรรมพืช และสัตว์ อย่างกว้างขวางขึ้น ฉะนั้นบริษัทขายอาหารสดขนาดใหญ่ จึงเริ่มเอาใจลูกค้าด้วยการแสวงหาส่วนประกอบอาหาร ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีของเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมามีร้านค้าอาหารสดไม่กี่แห่ง ที่มีอาหารจำพวกผลิตโดยกรรมวิธีที่ปลอดสารเคมี แต่เมื่อมาถึง ปี 2542 สหราชอาณาจักรมีร้านที่ขายอาหารสด จากเกษตรอินทรีย์ราว 26,000 แห่ง การเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในส่วนอื่นของยุโรปด้วย โดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวีย จริงอยู่การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ และยังไม่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางมากนักในสหรัฐอเมริกา แต่การเคลื่อนไหวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สามารถยึดหัวหาดไว้ได้แล้วและนับวันจะแพร่ขยาย ต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้นความเสื่อมโทรมของดิน จนถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างทั่วถึง ต่อมนุษยชาติอาจจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวในแนวนี้ จะต้องดำเนินต่อไปให้ถึงระดับรากหญ้า ทั่วทั้งโลก เพราะการใช้สารเคมีและเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมได้แพร่กระจายออกไปทั่วโลกแล้ว
สำหรับในด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม ชูมักเกอร์ได้แรงจูงใจจากมหาตมะ คานธี ผู้เสนอการใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ที่เอื้อให้คนจำนวนมากมีงานทำ อย่างไรก็ตามหลักการพัฒนาที่สนับสนุนโดยประเทศร่ำรวย วางอยู่บนฐานของการใช้เทคโนโลยีที่ทั้งก้าวหน้าและราคาแพงที่สุด เนื่องจากประเทศยากจน ไม่มีทุนพอที่จะซื้อหาเทคโนโลยีเช่นนั้นได้ พวกเขาจึงถูกผลักดันให้กู้หนี้ยืมสิน เพียงไม่นานหนี้ก็พอกพูนขึ้น จนเกินความสามารถในการผ่อนชำระของประเทศยากจน เมื่อธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้กู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ชำระหนี้เก่า พวกเขาก็บังคับให้ประเทศยากจนลดการใช้จ่ายในด้านบริการสังคม เช่น การศึกษาและการสาธารณสุข นอกจากนั้นประเทศยากจนจะต้องหารายได้จากการเทขายทรัพยากร เช่น ป่าไม้และแร่ธาตุอีกด้วย กิจกรรมเหล่านี้มักมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นการใช้เทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ประหยัดแรงงานในไร่นา ทำให้ชาวไร่ชาวนาพากันตกงาน และต้องอพยพไปหางานทำตามในเมือง กระบวนการนี้สร้างปัญหาสังคมตามมา ไม่ว่าจะเป็นความล่มสลายของครอบครัว การสูญหายไปของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยในชุมชนเมือง
ชูมักเกอร์เสนอให้แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเน้นการพัฒนาชุมชนในชนบทที่ประกอบด้วยหลัก 4 ข้อคือ (1) สร้างโรงงานในชนบทที่มีแรงงานในท้องถิ่นอยู่แล้ว (2) โรงงานควรมีขนาดเล็ก มีจำนวนมาก และอยู่กระจัดกระจายไปตามชุมชน (3) เทคโนโลยีที่ใช้ควรเป็นแบบง่ายๆ และไม่สลับซับซ้อน และ (4) สิ่งที่ผลิตควรเป็นเพื่อใช้ในชุมชนและใช้วัตถุดิบจากชุมชน หลัก 4 ข้อนี้อยู่ในแนวคำสอนของมหาตมะ คานธี ซึ่งเน้นนักเน้นหนาว่าเทคโนโลยีจะต้องมีจิตวิญญาณนั่นคือ สถานที่ทำงานและเทคโนโลยีจะต้องมีขนาดเล็กเช่นเดียวกับขนาดของมนุษย์เอง
ในด้านของพลังงาน เทคโนโลยีดังกล่าวมักใช้พลังงานจำพวกหมุนเวียน เช่น พลังงานจากลม และจากกระแสน้ำขนาดเล็กซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศยากจน เช่น เนปาล การใช้พลังงานน้ำขนาดเล็กมีมานานแล้ว และในขณะนี้ก็ยังมีอยู่ถึงราว 25,000 แห่ง ไม่เฉพาะประเทศยากจนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน ประเทศร่ำรวยก็เช่นกัน อาทิ เมื่อเทียบกับพลังงานจากถ่านหิน กังหันลมขนาดใหญ่ในอังกฤษหนึ่งตัว จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3,000 ตัน ซัลเฟอร์ออกไซด์ 39 ตัน และไนโตรเจนออกไซด์ 3 ตัน นอกจากนั้นมันยังไม่มี ขี้เถ้าอีกด้วย โดยสรุปในความเห็นของ ชูมักเกอร์ การพัฒนาจะต้องเป็นการแสวงหาความสมดุล ระหว่างสังคมชนบท และสังคมเมือง หัวใจของการพัฒนาแบบนี้มีการเกษตร และอุตสาหกรรมจำพวกแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขนาดเล็กเป็นหลัก
หน้า 42
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *