ผู้ประกอบการจะรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างไร?


ผู้ประกอบการจะรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างไร?
 
วันที่ : 5 มีนาคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : วารสารกระทรวงพาณิชย์
 
            ในปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศในโลกมีความพยายามเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกันมากขึ้น เพื่อลดกำแพงภาษีและขจัดอุปสรรคทางการค้า แต่ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้มีความพยายามนำเอามาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Bearrior: NTB) โดยนำประเด็นทางสังคมต่าง ๆ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
 
           ประเทศไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง การส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มีความสำคัญมากขึ้นโดยลำดับ สังเกตได้จากร้อยละของมูลค่าการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 32 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 68 ในปี 2549 จึงเป็นที่น่าวิตกว่า หากมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทยและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
 
           ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศกำลังประสบกับปัญหาถูกกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการกีดกันจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าและห้ามวางจำหน่ายอุปกรณ์ไฟตกแต่งและของเล่นเด็กจากไทย โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย หรือการที่สมาคมกุ้งแห่งรัฐหลุยส์เซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังตรวจสอบและอาจห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย โดยให้เหตุผลว่ามีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้ง เป็นต้น
 
           แม้ว่ามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีจะมีผลกระทบมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก เนื่องจากภาครัฐดำเนินมาตรการเชิงตั้งรับมากเกินไป ฐานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และข้อมูลเชิงเทคนิคและวิชาการที่เกี่ยวข้อง การทำงานที่ยังขาดการประสานกันระหว่างภาครัฐ เอกเชน และนักวิชาการ รวมทั้งผู้ประกอบการยังขาดความตระหนักในเรื่องนี้
 
           แนวโน้มในอนาคต มาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นจากสหรัฐฯหรือสหภาพยุโรปหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว น่าจะถูกผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานของโลก และมีการพัฒนาเงื่อนไขของการกีดกันการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น และมีรูปแบบการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ออกมามากขึ้น เช่น ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการนำมาตรการป้องกันภาวะโลกร้อนมาใช้ โดยระบุว่า สินค้าที่จะนำเข้าประเทศนั้น ในกระบวนการผลิตต้องไม่มีส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศ หรือมาตรการด้านจริยธรรมผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือต้องทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นต้น หากผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานเหล่านี้ย่อมสูญเสียโอกาสทางการตลาดจากโลกที่กำลังเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์
 
                การปรับตัวหรือกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาจมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนและต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว ซึ่งผมคิดว่า ผู้ประกอบการอาจเสียประโยชน์บ้างในระยะสั้น แต่จะได้ประโยชน์มากในระยะยาว และยังส่งผลดีต่อภาพรวมของสังคมและประเทศด้วย ทั้งนี้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการต้องทำบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และทำงานประสานกัน จึงจะสามารถนำพาเศรษฐกิจประเทศไปรอดในภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงได้ แต่ผู้ประกอบการควรจะรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างไร?
 
           เปลี่ยนทัศนคติ
 
                ทัศนคติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น
 
           สินค้าและบริการยังสามารถขายได้ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน การคิดเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ยอมเป็นผู้รับผลกระทบ การรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวช้าได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการที่เริ่มปรับตัวก่อน 
 
           การปรับเปลี่ยนทำให้เกิดต้นทุนและบริษัทได้กำไรน้อยลง การคิดลักษณะนี้เป็นการคิดเฉพาะหน้า การไม่ยอมเสียสละกำไรเล็กน้อยเพื่อการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ จะทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันและทำกำไรได้ในระยะยาว แม้ว่าการปรับเปลี่ยนอาจทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นโอกาสให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากกว่า
 
           ตลาดเดิมถูกกีดกันไม่เป็นไร หาตลาดใหม่ได้ ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถทำได้ดีในการบุกเบิกตลาดใหม่ แต่ปัญหาคือส่วนแบ่งตลาดในตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปนั้นเริ่มมีส่วนแบ่งลดลง แม้ว่าการพยายามหาตลาดใหม่เป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาส่วนแบ่งในตลาดเดิมอย่างเต็มที่ด้วย เนื่องจากการหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สามารถได้ตลอดไปโดยไม่จำกัด ในอนาคตจะมาถึงจุดหนึ่งที่เราไม่สามารถหาตลาดใหม่ได้ ในวันนั้นสินค้าและบริการของเราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ หากเราไม่ปรับตัว
 
           เปิดรับข้อมูลข่าวสาร
 
           ในยุคนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว นวัตกรรมในการกีดกันการค้านั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอตามวาระของโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ซึ่งเริ่มเป็นกระแสโลกที่มาแรงมากขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนไทยควรติดตามข่าวสาร เปิดรับข้อมูลใหม่ตลอดเวลา โดยในยุคโลกาภิวัตน์นี้มีหลายวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการลับความคิดและทัศนคติให้คมอยู่เสมอ เช่น การค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือการอ่านหนังสือ เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยปรับปรุงฐานข้อมูลการทำงานขององค์กรให้ทันสมัย เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของภาครัฐ และมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกัน เพื่อให้ตามทันมาตรการใหม่ที่จะเกิดขึ้น
 
           ปรับตัวล่วงหน้า
 
           มาตรการกีดกันทางการค้าหลายประการอาจพอคาดการณ์ได้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่ตื่นตัวและไม่ยอมเป็นผู้รับผลกระทบ จะคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเตรียมปรับตัวล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวล่วงหน้ามากเกินไปขณะที่ประเทศคู่แข่งยังไม่ยอมปรับตัวด้วย อาจทำให้สินค้าของเราเสียเปรียบ ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อกดดันรัฐบาลให้ไปเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ ให้ทำการปรับตัวไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เราต้องเสียเปรียบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการทำตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ควรวางแผนสำหรับปรับเปลี่ยนการผลิตอย่างต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไป โดยลดการผลิตสินค้าในมาตรฐานเก่าและเพิ่มจำนวนสินค้าตามมาตรฐานใหม่ตามลำดับ อาจช่วยให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงขึ้นเร็วและมากเกินไป
 
            การที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมากขึ้น แม้ว่าจะมีผลกระทบด้านลบบ้าง แต่ผลด้านบวกที่เกิดขึ้น คือ เป็นแรงผลักให้ผู้ผลิตต้องยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมด้วย
 


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *