Flexible Trend หลากดีไซน์เป็นหนึ่งเดียว

Flexible Trend หลากดีไซน์เป็นหนึ่งเดียว
“Flexible Trend” แนวโน้มไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลต่อ “สถาปัตยกรรม” ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสะท้อนตัวตนของผู้ใช้ชีวิตอย่างชัดเจน

ปรากฏการณ์ของ “Flexible Trend” แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้ว่าจะยังไม่มีนิยามของคำนี้อย่างชัดเจน แต่พอที่จะอธิบายได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ที่ส่งผลต่อด้าน “สถาปัตยกรรม” โดยตรง เพราะพฤติกรรมของการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการใช้สอยพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการ

“อรดา สิงหเดชาชัย” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ดิส ดีไซน์ และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อธิบายว่า “มนุษย์มีความชอบที่หลากหลาย ชอบสินค้าหลายอย่าง มีการตกแต่งบ้านผสมผสานหลายสไตล์ มีผลให้อายุของสินค้าสั้นลง (Shorter Life Cycle) เราจะสะสมของตกแต่งบ้านไว้มากขึ้น มีเรื่องราวที่ต้องทำและชอบมากขึ้น มีความสนใจเฉพาะทางมากขึ้น มีบทบาทมากกว่าหนึ่งอย่าง มีความสนใจและความชอบเฉพาะทาง และงานอดิเรก ความชอบส่วนตัว”

ตัวอย่างเช่น สถาปนิกที่มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ยังชอบอ่านหนังสือ และมีงานอดิเรกด้วยการออกไปดำน้ำดูปะการัง ผู้คนมีกิจกรรมที่ตนเองชอบมากกว่า 1 กิจกรรม

นอกจากนี้คนเรายังมี “การเดินทาง” มากขึ้น มีการสะสมของฝากของที่ระลึกจากหลายสถานที่ทั่วโลก มีความต้องการหาเฟอร์นิเจอร์ใช้ในการเก็บสะสมของขวัญ ของชำร่วย ในขณะเดียวกันเมื่อคนมองเห็นโลกมากขึ้นก็ส่งผลให้อยากปรับเปลี่ยนและตกแต่งบ้านไปตามฤดูกาลมากขึ้นกว่าเดิม

“ความเป็นส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม” ทำให้มีความต้องการจัดงาน “ปาร์ตี้” ในบ้านมากขึ้น จากเดิมที่พื้นที่ในบ้านจะมีความเป็นที่ส่วนตัว (Private Zone) ทำให้ต้องมีการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในพื้นที่เดียวกัน แต่จะปรับเปลี่ยนใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าตามโอกาสที่เหมาะสม

แม้แต่ความต้องการใช้สอยพื้นที่ในบ้านก็ต้องการอยู่ในห้องหลักๆ มากขึ้น ได้แก่ ห้องนอน ห้องรับแขก และห้องนั่งเล่น

กระแสของสิ่งใหม่ๆ แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการชอบรับประทานอาหาร Fusion Foods รวมไปถึงกระแสการตกแต่งสไตล์ Tropical ได้เข้าไปมีอิทธิพลในเกือบทุกประเทศ

สิ่งเหล่านี้กำกับให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” อีกหลายอย่างตามมาด้วย และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีผลกระทบต่อคนทั้งโลก

เธอเล่าต่อไปว่าในยุคนี้ คำว่า สไตล์ “ส่วนตัว” เกือบจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะกระแสของแต่ละอย่างจะเร็วมากขึ้นกว่าเดิม คนเราจะมีความชอบในแบบของตนเองที่นำเอาสไตล์ทั้งหมดมาผสมผสานกัน จากประสบการณ์ของใครหลายคนจะพบว่า บ้านสไตล์สแกนดิเนเวียนอาจไปปรากฏอยู่ริมทะเลชายหาดในฮาวาย หรือ โดมในโรมันก็มีให้เห็นทั่วไปในบ้านเศรษฐีคนไทย

สาเหตุนี้เป็นเพราะว่า “สมัยก่อนคนจะมีความชอบเพียงอย่างเดียว หรือ เรียกว่า Single Mind ตัวอย่าง เช่น การตกแต่งบ้านจะมีสไตล์หลุยส์ นีโอคลาสสิก คลาสสิก ถ้าเดินไปทางยุโรปก็จะเห็นการตกแต่งสไตล์ยุโรป ในเอเชียก็จะมีการตกแต่งแบบ Tropical แต่ว่าตอนนี้มีการผสมผสานความชอบหลายอย่างรวมกัน มีการไหลของวัฒนธรรมข้ามประเทศ ข้ามทวีป ไม่สามารถยึดติดกับการตกแต่งเพียงอย่างเดียวในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้อีกต่อไปแล้ว” เธอ อธิบาย

ในยุคนี้คนมีความเป็นตัวของตัวเองและมีความเป็น Identity มากขึ้น เช่น คนทำงานในสายงานสถาปนิก หรือ ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ก็มี Identity มากขึ้น ส่งผลให้มีการตกแต่งบ้าน หรือ มีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่เป็นสัญลักษณ์และเกี่ยวข้องในสายงานนั้น หรือ มีสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวเองมากขึ้น

ถ้าในอนาคตพฤติกรรมของคนเปลี่ยนเป็นลักษณะนี้ทั้งหมด สถาปนิกต้องมีการปรับตัว

“การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้สถาปนิกต้องเข้าใจวิธีคิดและใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น (Intimate to Customer) รู้ว่าในสายงานและความสนใจของลูกค้าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ออกแบบบ้านได้ตรงกับความต้องการใช้สอยพื้นที่ให้มากที่สุด ตัวอย่างของลูกค้าที่เป็นสไตลิสก็จะมีการตกแต่งบ้าน Mix&Match มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้สิ่งของต่างกันจากคนละสถานที่เกิดเรื่องราวกลมกลืนอย่างน่าสนใจ” เธอ กล่าว

ในเมื่อ “Flexible Trend” เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา ย่อมทำให้เกิด “Flexible Room”

ปัจจุบันครอบครัวมีแนวโน้มขนาดเล็กลง ส่งผลให้ “บ้าน” และ “ห้องชุด” มีขนาดเล็กตามไปด้วย ซึ่ง “ปัจจัยหลัก” ไม่ใช่เรื่องพื้นที่ราคาสูงขึ้น แต่เป็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และใช้เวลาอยู่ในบ้านน้อยลง

“เรามีวิถีชีวิตนอกบ้านมากขึ้น คนทำงานต้องออกจากบ้านแต่เช้า ตอนเย็นไปออกกำลังกายฟิตเนส จากนั้นไปชอปปิงซื้อของเข้าบ้าน หรือ ทานอาหารกับเพื่อนๆ กว่าจะกลับบ้านก็มืดค่ำ ทำให้มีความต้องการใช้พื้นที่ห้องทำงานและห้องนอนเป็นหลัก 2 ห้องนี้จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น บางทีห้องนอนและห้องทำงานก็เป็นห้องเดียวกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้สอยตามความต้องการได้ทันที มีการใช้พื้นที่เดียวกันอย่างและคุ้มค่า” อรดา กล่าว

การใช้ชีวิตในเมืองทำให้คนคำนึงถึง “สิ่งแวดล้อม” มากขึ้น โดยที่สิ่งแวดล้อมจะหมายถึง Landscape แสงแดด ต้นไม้ พื้นที่สีเขียว

ในเมื่อผู้คนห่างไกลจากธรรมชาติก็ต่างแสวงหาความใกล้ชิดจากธรรมชาติมากขึ้น มีการแบ่งพื้นที่สีเขียวเพื่อใช้ร่วมกันในเวลาที่ต่างกัน

“ในต่างประเทศบ้าน 2 หลัง จะมีการตกลงใช้พื้นที่สีเขียวร่วมกัน การที่ทำอย่างนี้ได้เพราะมีเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน หรือ แม้แต่ห้องน้ำก็ออกแบบให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ด้วยการออกแบบให้มีหลังคาเปิดโล่ง ปลูกต้นไม้เขียวตกแต่งแทนผนังกระเบื้องและใช้หินสวยธรรมชาติโรยแทนพื้นกระเบื้อง คนใส่ใจต่อการใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะว่าคนเห็นโลกและธรรมชาติมากขึ้น และมีการศึกษามากขึ้น” เธอ กล่าว

มีการคาดการณ์ว่า ในเมืองไทยจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยห้องชุดคอนโดมิเนียมที่ “คู่ขนาน” ไปกับความต้องการของบ้าน

ความต้องการของห้องชุดคอนโดมิเนียมจะมาจาก 2 เหตุผลเป็นเรื่องของ “ความปลอดภัย” และ “ความสะดวกสบาย” ในการเดินทาง

เธอเล่าว่า แม้ว่าความต้องการห้องชุดคอนโดมิเนียมจะไม่ได้พุ่งกระฉูด แต่นักอสังหาริมทรัพย์จะต้องคำนึงถึง 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ได้ ปราศจากเสียงดัง สร้างความเป็นส่วนตัวระหว่างห้อง และมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ

“ในต่างประเทศจะมีการแก้ปัญหาของความเป็นส่วนตัวด้วยการ แบ่งพื้นที่ 2 ยูนิตให้มีพื้นที่สีเขียวคั่นกลาง เพื่อเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัว และการได้ใช้พื้นที่สีเขียวร่วมกัน หรือ รัฐบาลจะจัดการ Social Housing ด้วยการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชน คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีการลงทุนทำวิจัยศึกษาลักษณะที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ในขณะที่วิจัยในไทยจะเป็นของภาคเอกชน” เธอ กล่าว ทิ้งท้าย

ในขณะที่ “สุภัชชา สุนทรา” นักออกแบบตกแต่งภายใน P.A. Interior ผ่านงานตกแต่งภายในห้องชุดของ L.P.N มาทุกโครงการ ได้บอกว่า แนวโน้มของลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มี 2 ฟังก์ชันในหนึ่งเดียวเพื่อประหยัดพื้นที่ เช่น ใช้โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะทำงาน เตียงที่พับเก็บได้ ประตูบานเลื่อนที่แยกห้องครัวออกจากพื้นที่บ้านอย่างชัดเจน โดยคอนเซปต์จะทำให้พื้นที่โล่ง น่าอยู่อาศัย

และเพื่อเปิดไอเดียดีไซเนอร์ไทย “รัฐพล ศักดิ์ดามนุสนธิ์” หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Room ได้ร่วมกับ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์จึงถือโอกาสจัดประกวดออกแบบตกแต่งห้องชุด (Studio Type) ภายใต้แนวคิด The Flexible Room ในสไตล์คนเมือง หมดเขตส่งผลงานภายในวันที่ 15 มีนาคม 2549

เรื่อง :อัญชรี พรหมสกุล / ancharee@nationgroup.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *