สุขภาพ : เท้าปุก, เท้าบิดผิดรูป รักษาหายได้

สุขภาพ : เท้าปุก, เท้าบิดผิดรูป รักษาหายได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อเห็นลักษณะเท้าของลูกผิดปกติ มักเป็นกังวลว่าลูกอาจจะเดินไม่ได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป หรืออาจพิการ แต่ความจริงแล้ว โรคเท้าปุกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ก็สามารถดัดให้เข้ารูปร่างใกล้เคียงปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด

พญ.ปาริชาต เทียบรัตน์ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ (เฉพาะทางโรคกระดูกในเด็ก) โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการเท้าผิดรูปที่เรียกว่า เท้าปุก (Clubfoot) เป็นความผิดปกติของรูปเท้าที่พบไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้ตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจค่อยๆ เกิดขึ้นภายหลังอัน และสามารถพบโรคนี้ได้ประมาณ 1 ใน 1000 ของเด็กคลอดใหม่ โดยชาวเอเชียจะพบน้อยกว่าชาวยุโรป และอัตราการเกิดจะมากขึ้นในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องที่เคยเป็นโรคนี้

เท้าปุก” อาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ โดยเท้าจะมีลักษณะที่บิดหมุนเข้าด้านในและมีปลายเท้าที่จิกลง ผู้ปกครองมักกังวลว่าเด็กจะเดินไม่ได้เมื่อโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเด็กก็สามารถเดินได้ โดยใช้ส่วนหลังเท้าเป็นส่วนที่ลงน้ำหนักและสัมผัสพื้น เมื่อโตขึ้นส่วนนั้นจะมีลักษณะหนาและด้านขึ้นมา และรูปเท้าแบบนี้ทำให้เด็กไม่สามารถใส่รองเท้าแบบปกติทั่วไปได้

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เพราะจากการศึกษาเด็กที่มีเท้าปุก พบความผิดปกติที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดเท้าปุกได้หลากหลาย ทั้งพันธุกรรม การมีกระดูกบริเวณข้อเท้าที่ผิดรูปแต่กำเนิด การเคลื่อนของกระดูกบริเวณข้อเท้า ในเด็กบางคนพบว่ามีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบางมัดที่ผิดปกติหรือหายไป บางคนพบว่ามีพังผืดอยู่ในกล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้า บางคนพบว่ามีเส้นเลือดบางเส้นที่ผิดปกติหรือขาดหายไป สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลที่ตามมาหรือเป็นสาเหตุของเท้าปุกก็ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

เท้าปุกพอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

Idiopathic clubfoot เป็นแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 แบบ คือ แบบที่เท้าของเด็กมีลักษณะแข็ง ไม่สามารถดัดให้กลับมาอยู่ในรูปร่างปกติได้ และแบบที่มีเท้าอ่อนสามารถจัดให้เข้ารูปได้ เด็กบางคนที่เท้าผิดรูปไม่มากและมีลักษณะที่อ่อนดัดได้ง่าย เชื่อว่าเป็นผลมาจากท่าของเด็กที่อยู่ในท้องมารดา

Acquired clubfootเป็นเท้าปุกอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผลจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่างที่จะพบในส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มข้อแข็งติด หรือเกิดจากการรัดของเยื่อหุ้มรก หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท

กลุ่มที่มีเท้าอ่อน สามารถดัดให้เข้ารูปได้ตั้งแต่แรกเกิด แพทย์จะสอนวิธีการดัดเท้าให้มารดากลับไปทำให้ลูกบ่อยๆ และนัดกลับมาดูเป็นระยะๆ เท้าจะค่อยๆ กลับเข้ามาสู่รูปร่างปกติได้ แต่ถ้ามารดาไม่สามารถดัดเท้าให้ลูกได้ หรือดัดแล้วไม่ถูกวิธี แพทย์อาจทำการดัดเท้าและใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขา ประมาณ 2 – 3 ครั้งจนเท้าอยู่ในรูปร่างปกติ และมักจะหายภายในสามเดือน หรือหายได้ง่ายด้วยการดัดหรือใส่เฝือกเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

เท้าปุกที่เกิดจากการขดตัวของทารกในครรภ์โดยที่เท้าบิดเข้าใน หลังจากคลอดแล้วรูปเท้าปุกจะหายได้เอง ภายใน 2 ถึง 3 เดือนหลังคลอด ภาวะนี้บางคนเรียกว่า Positional clubfoot ซึ่งควรให้แพทย์ที่ชำนาญเป็นคนตรวจแยก เพราะถ้าไม่ใช่เท้าปุกแบบ positional clubfoot จริงๆ เด็กอาจจะขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องตามเวลาอันควร

กลุ่มที่มีเท้าแข็ง แพทย์จะทำการดัดเท้า และใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขาตั้งแต่ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก และเปลี่ยนเฝือกทุก 1 – 2 สัปดาห์จนครบ 6 ครั้ง รูปร่างของเท้าจะค่อยๆ ดีขึ้นจนเกือบปกติ แต่ข้อเท้ามักจะยังกระดกขึ้นได้ไม่สุดเหมือนปกติ แพทย์จะทำการตัดเอ็นร้อยหวาย และใส่เฝือกยาวต่ออีก 3 สัปดาห์ จะได้ผลดีในรายที่รักษาช่วงก่อน 6 เดือน และแข็งไม่มากนัก ยิ่งดัดและเข้าเฝือกได้เร็วเท่าไรโอกาสได้ผลดีจะมากขึ้นเท่านั้น

หลังจากนั้นเด็กจะมีเท้าที่รูปร่างเป็นปกติ แต่เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ มารดาจะต้องทำการดัดเท้าเด็กทุกวัน และควรจะต้องใส่รองเท้าเฉพาะเพื่อให้เท้าคงอยู่ในรูปที่ต้องการ จนอายุประมาณ 2 ปี แม้จะตัดเอ็นร้อยหวายไป แต่ในเด็กเอ็นร้อยหวายยังสามารถกลับมาติดกันใหม่ได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเด็กยังสามารถเดิน กระโดดได้เหมือนเด็กทั่วไป หลังการรักษาด้วยการใส่เฝือกตั้งแต่แรกเกิด และทำการตัดเอ็นร้อยหวายเมื่อใส่เฝือกครบ 6 ครั้ง เด็กมีรูปร่างเท้าที่เหมือนปกติ สามารถคลานได้เหมือนปกติ ใส่รองเท้าปกติทั่วไปได้

ในเด็กบางกลุ่มแม้จะรักษาด้วยการใส่เฝือกตั้งแต่แรก แต่เท้าก็ยังมีลักษณะแข็งไม่เข้ารูป หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำของเท้าปุก หรือเป็นเท้าปุกที่เกิดร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น หรือเด็กที่มารับการรักษาเมื่ออายุมากแล้ว อาจต้องพิจารณาเรื่องการผ่าตัด เพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่ และจัดรูปเท้าให้เหมือนปกติมากที่สุด

การผ่าตัดในช่วงอายุน้อย จะผ่าเข้าไปเพื่อจัดรูปเท้าโดยคลายเนื้อเยื่อที่ตึงแข็งและจัดเรียงข้อให้รูปเท้าสวย ส่วนการผ่าตัดเมื่ออายุมาก กระดูกเท้าจะแข็งและผิดรูปอาจจะต้องตัดแต่งกระดูก เพื่อให้รูปเท้าดูปกติภายหลังผ่าตัดรักษา สรุปแล้วควรได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิด โดยแพทย์ผู้ชำนาญในการรักษาโรคนี้

เด็กที่เป็นเท้าปุกเพียงข้างเดียว ภายหลังการรักษาไม่ว่าจะด้วยวิธีอะไร เท้าข้างนั้นอาจจะเล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง และน่องก็จะเล็กกว่าอีกด้าน บางครั้งพบลักษณะกระดูกหน้าแข้งที่บิดเข้าใน ทำให้เด็กเดินเท้าปัดเข้าด้านใน ซึ่งลักษณะเหล่านี้ไม่ได้เกิดเพราะการรักษา ไม่ว่าจะโดยการใส่เฝือกหรือการผ่าตัด แต่เป็นผลที่ตามมาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดเท้าปุกนั่นเอง ดังนั้นหลังการรักษาเท้าปุกแล้ว แม้รูปเท้าจะกลับมาเป็นเหมือนปกติ เด็กสามารถเดินหรือวิ่งได้เหมือนเด็กปกติ แต่ผู้ปกครองควรนำเด็กมาติดตามดูอาการต่อจนถึงช่วงอายุประมาณ 8 – 9 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการของเท้าและการเดินเหมือนวัยผู้ใหญ่แล้ว

อย่างไรก็ตามการรักษาตั้งแต่แรกเกิด ได้ผลดีกว่ามารักษาเมื่อตอนโตแล้ว จึงควรนำบุตรหลานมารักษาแต่เนิ่นๆ ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าเด็กมีเท้าผิดรูปรีบพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลเวชธานี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *