อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง

อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง

เกริ่นชื่อเรื่องมาแบบนี้ หลายคนก็คงจะคิดว่า.. “อัมพาต” กับ “โรคหลอดเลือดสมอง” มีความเกี่ยวข้องกันได้ อย่างไร?

ก่อนอื่นเลย จะขอทำความเข้าใจตรงนี้ว่า อัมพาตหรืออัมพฤกษ์ ที่เคยได้ยินกันนั้น หมายถึง สภาวะที่มีการอ่อนแรงของแขนและขา ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต สามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกันกับคนปกติ ไม่ใช่แค่นอนรักษาตัว อยู่บนเตียงในโรงพยาบาลอย่างที่เข้าใจกัน

เนื่องด้วยเพราะความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงอัมพาต ก็จะนึกถึงผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจาก การเกิด “โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก” อันเป็นสาเหตุสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุดของการเป็นอัมพาต นอกจากนี้อาการอัมพาตของผู้ป่วยก็ยังกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญลำดับต้นๆของประเทศ ทั้งในเรื่องการดูแล ค่าใช้จ่าย การรักษา เป็นต้น

ดังนั้น จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงควรให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง อันเป็นสาเหตุสำคัญของ อัมพาตให้มากขึ้น ดังต่อไปนี้

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือ อุดตัน ที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด 2. กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก ที่ทำให้มีลิ่มเลือดคั่งในเนื้อสมอง

สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน สมองของเรานั้นเป็นอวัยวะที่ต้องการเลือดไปเลี้ยงในปริมาณ มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เลือดที่ไปเลี้ยง สมอง เริ่มต้นจากหัวใจสูบฉีดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ ต่อไป ยังหลอดเลือดแดงที่อยู่บริเวณ ลำคอ แล้วจึงผ่านเข้าไปในสมอง โดยหลอดเลือด แดงใหญ่ก็จะแตกแขนงเป็นหลอดเลือดแดงขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ จนเป็นหลอดเลือดแดงฝอยกระจาย ไปทั่วทั้งเนื้อสมอง

หากลองเปรียบเทียบหลอดเลือดแดงกับ ท่อประปา จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันหลายประการกล่าวคือ เมื่อท่อประปาที่ใช้มาเป็นเวลานานหรือเมื่อเราอายุมากขึ้น ผนังของท่อประปาหรือหลอดเลือดก็จะเริ่มเสียไป ทำให้เกิดการแข็งตัว เปราะแตกง่าย จนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และภายในท่อก็จะมีสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น เศษหิน เศษดินเล็ก ๆ มาเกาะที่ผนังด้านใน จนรูของท่อค่อย ๆ ตีบเล็กลงจนท่อตันไปในที่สุด

สิ่งที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันนี้เรียกว่า “Plague” อันเกิดจากการจับตัวกันของเกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว และไขมันในเลือด ไขมันที่เป็นตัวการสำคัญก็คือ คอเลสเตอรอล เมื่อหลอดเลือดแดงค่อย ๆ ตีบลง ปริมาณเลือดที่จะเลี้ยงสมองก็จะลดลง แต่เซลล์สมองจะปรับตัวให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อการตีบตันเป็นมากขึ้นจนอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ เซลล์สมองที่ขาดเลือดก็จะตายไปในที่สุด ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการอัมพาตขึ้น ในผู้ป่วยบางราย การอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมองเกิดขึ้นเนื่องจากมีลิ่มเลือดจากหัวใจหรือจากหลอดเลือดแดง Carotid หลุดลอยมาอุดตัน ทำให้สมองเกิดการขาดเลือดอย่างฉับพลัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นอัมพาตได้เช่นกัน

ส่วนสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตก ก็เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งผนังของหลอดเลือดจะเปราะแตกง่าย หากความดันโลหิตสูงขึ้นมากอย่างฉับพลันอาจทำให้หลอดเลือด แดงแตกได้ จะเกิดลิ่มเลือดคั่งในสมอง ก็ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ การแตกของหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่เป็นมาแต่กำเนิดได้

ลักษณะอาการของโรคหลอดเลือดสมอง โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เสียหาย อาการที่เกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามการเสียหายของสมองส่วนนั้น อาการมักจะเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน แต่บางครั้งอาการอาจเกิดขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ หรือค่อย ๆ เป็นมากขึ้นในเวลาอันสั้น

อาการที่พบบ่อย เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ ตามัว มองไม่เห็นข้างเดียว หรือมองไม่เห็นครึ่งซีก มองเห็นภาพซ้อน ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนลำบาก ปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน ซึมไม่รู้สึกตัว

สำหรับการป้องกันและรักษาต้องบอกว่า หากเกิดอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องด้วยโอกาสรักษาให้หายหรือได้ผลดีจะ มีมากกว่า ทั้งนี้ หากสมองขาดเลือดนานเกินไป สมองส่วนนั้นก็จะตาย จนไม่สามารถฟื้นตัวได้

หลักสำคัญของการป้องกันและรักษาก็ คือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง การเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุราในปริมาณมาก รับ ประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารเค็มและอาหารไขมันสูง ลดความเครียด และตรวจสุขภาพ ปีละสองครั้ง

มาถึงบรรทัดนี้ การวินิจฉัยทางการแพทย์คงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากทราบกัน ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้รุดหน้าไปเร็วมาก การเอกซเรย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก็มักจะทำกันด้วยเครื่อง CT Scan เช่นเดียวกันกับการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI ทั้งนี้ จะช่วยทำให้ทราบถึงภาวะการขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมอง ก่อนทำการรักษาต่อไป

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่อ
อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา นสพ.เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *