องค์กรและร่างกาย (organization VS organism)

องค์กรและร่างกาย (organization VS organism)
คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา Michita@ThaiBoss.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3989 (3189)
วันก่อนไปบรรยายให้กับ Mini MBA ที่ ร.พ.จุฬาฯอีกครั้งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นบุคลากร ในวงการแพทย์ จากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้เขียนใช้ร่างกายมนุษย์เทียบกับองค์กร อธิบายให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ “จิตวิทยาการบริหาร”
เราลองเปรียบเทียบองค์กรเป็นร่างกายมนุษย์ สมาชิกในองค์กรหรือพนักงานแต่ละคนเป็นเซลล์เล็กๆ ในร่างกาย อวัยวะแต่ละส่วนเป็นแผนกต่างๆ การทำงานร่วมกันของแต่ละคนที่ดีมีผลต่อการทำงานของอวัยวะหรือแผนกนั้นๆ ที่ดีมีประสิทธิภาพ และ เมื่อแต่ละแผนกทำงานประสานงานร่วมกันได้ดี ก็ทำให้ร่างกายหรือองค์กรนั้น มีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ดี ถ้าไม่มีคนอยู่ในองค์กรเสียแล้ว องค์กรนั้นก็ไม่มีตัวตนจริง เหมือนถ้าเซลล์แต่ละส่วนไม่ยอมอยู่ด้วยกันแล้ว ร่างกายของเราที่เรียกว่า “มิชิตา” เป็นต้นนั้น ก็ไม่ได้มีอยู่จริง ร่างกายของเราหรือองค์กรจึงเป็นเพียงการประกอบร่าง ขึ้นมาของเซลล์แต่ละเซลล์ บุคคลแต่ละคนขึ้นมาเท่านั้นเอง โดยมีอุปกรณ์เครื่องจักร ตึกรามต่างๆ เป็นส่วนเสริม ซึ่งถ้ามีแต่อุปกรณ์เหล่านั้นล้วนๆ ไม่มีผู้คนก็มิอาจเรียกว่าองค์กรได้
การบริหารคนและองค์กรนั้น ที่แท้จริงหัวใจจึงอยู่ที่การบริหาร “คน” นั่นเอง เพียงแต่มีปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบให้การดำเนินการไปได้ ซึ่งถ้าเราสามารถบริหารคนได้มีประสิทธิภาพแล้ว คนเหล่านั้นเองที่จะไปจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีงามขึ้นตามมา
โครงสร้างองค์กร (organizational structure) เปรียบได้เหมือนกับโครงกระดูกของร่างกาย เป็นโครงร่างที่กำหนดวางอวัยวะต่างๆ ไว้ที่ไหนที่จะเหมาะสมที่สุดในเงื่อนไขที่มี ค่านิยม (value) ความคิดข้อมูลขององค์กรเปรียบเหมือนกระแสเลือดที่ไหลซึมไปทั่วทั้งร่างกาย ผ่านวิธีการสื่อสารต่างๆ หรือเส้นเลือดใหญ่เล็ก ทั่วร่างกาย ซึมเข้าไปในแต่ละแผนกแต่ละบุคคล ดังนั้นถ้ามีบางแผนกหรือบางอวัยวะไม่สบาย หรือมีปัญหา ก็อาจทำให้ติดเชื้อลามไปที่อวัยวะอื่นๆ ผ่านกระแสเลือดหรือการส่งผ่านระหว่างเซลล์เหล่านี้ได้
เมื่อเราเห็นความ “มีชีวิต” ขององค์กรดังนี้แล้ว การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรต่างๆ หรือการพัฒนาองค์กรก็จะ ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจขององค์กรมากขึ้น การพัฒนาเปลี่ยนแปลงองค์กรที่คำนึงแต่เพียงโครงสร้างการจัดการ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมาไม่ใช่น้อย ดังที่เราเห็นตัวอย่างองค์กรต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานหรือระบบต่างๆ จนเป็นผลให้คนเก่งคนดีเรียงหน้ากันลาออกไป เนื่องจากมิได้วางแผนล่วงหน้าหรือเตรียมการรับมือกับความรู้สึกของเซลล์แต่ละเซลล์หรือพนักงานแต่ละคนในองค์กรที่ดีพอ หรือในบางกรณีที่องค์กรทำงานกันอย่างตึงเครียดตามเป้าเชิงปริมาณเป็นหลัก ทำให้คนในองค์กรหรือเซลล์ต่างๆ เครียดไปตามๆ กัน ไม่มีความสุข องค์กรจึงป่วยได้ในระยะยาวต่อมา
ในทางกลับกัน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงในอีกขั้วตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังกับองค์กรได้เช่นกัน บางองค์กรเอื้ออาทรห่วงใยจิตใจทุกคนเป็นอย่างมาก ให้ความดีความชอบเสมอกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะทำงานได้ดีแค่ไหนอย่างไร กลัวจะเสียใจน้อยใจกัน กลัวลูกน้องไม่รัก ดูแลความรู้สึกกันเป็นหลัก เหมือนคนตามใจปากรับประทานอาหารอย่างดีที่สุดจนอ้วน ไขมันในเลือด ขึ้นสูง องค์กรอุ้ยอ้ายขี้เกียจเพราะไม่ได้ออกกำลังกายเลย แถมยังเสริมวิตามินอยู่เป็นประจำ ประสิทธิภาพของการทำงานจึงย่อหย่อนลง และที่ตั้งใจจะให้พนักงานมีความสุขนั้น สุดท้ายเมื่อศักยภาพของเขาไม่พัฒนา คนดีคนเก่งไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นก็ลดทอนความภูมิใจความสัมฤทธิผลของตนลง จึงไม่มีความสุขในที่สุด คนที่ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่นในองค์กร หรือเซลล์ผิดปกติก็โตตามด้วย อาจขยายแพร่เชื้อความผิดปกติต่อไปยังเซลล์อื่นๆ ได้อีก
“ความสมดุล” จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาศัยศิลปะจัดวางให้พอเหมาะพอดีกับ แต่ละสถานการณ์แต่ละข้อจำกัด สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งจึงไม่ทำให้ร่างกายหรือองค์กรนั้นๆ แข็งแรงดี จิตใจแจ่มใสได้ ภาษาที่คุณพ่อ (ดร.หลุย จำปาเทศ) เคยใช้คือ เก่งทั้งงาน เก่งทั้งคน
เมื่อเราต้องการพัฒนาองค์กรหรือ หน่วยงานของเรา เปรียบเหมือนต้องการพัฒนาศักยภาพของร่างกายของเรา จึงมิใช่เพียงแต่ใช้วิธีการที่เห็นเพื่อนใช้แล้วประสบความสำเร็จมาใช้ต่อเลย เนื่องจากสภาวะของแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แม้ว่าเมื่อดูภาพรวมแล้วจะดูคล้ายๆ กันก็ตาม เราจึง “วินิจฉัยองค์กร” (organizational dianosis) ก่อน เหมือนการตรวจร่างกายให้ทราบอาการ “และสาเหตุ” ของอาการนั้นๆ แล้วจึงใส่กระบวนการ (intervention) เข้าไปแทรกแซงองค์กร ในรูปแบบที่พอเหมาะ เหมือนแพทย์ที่สั่งยา ผ่าตัด หรือเพียงแต่ให้กลับไปออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
หลักการในการมององค์กรให้ลึกซึ้งชัดเจนนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างองค์รวม คือได้ทั้งประสิทธิภาพประสิทธิผลของงาน และได้ความสุขการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนนั้น ใช้เทคนิควิธีการอีกมากมายหลากหลาย ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ และการบริหารจิตใจ ซึ่งในที่นี้อยากจะหมายรวมการบริหารจิตใจที่กว้างกว่าคำว่าจิตวิทยา หรือ psychology ที่นิยามกันทั่วไป คือรวมเข้าไปในเบื้องลึกของจิตวิญญาณของแต่ละคนด้วย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *