สถานที่น่าสนใจในจังหวัดลำปาง

สถานที่น่าสนใจในจังหวัดลำปาง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

                ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หลักเมืองเป็นหลักซึ่งทำด้วยไม้สัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยหลักที่หนึ่งสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 หลักที่สองสร้างประมาณปี พ.ศ. 2416 และหลักที่สามสร้างประมาณปี พ.ศ. 2429 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้น ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ

                ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบจตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูป สร้างด้วยโลหะผสมรมดำทั้งองค์ ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อดำ” จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ. 2511 มี 4 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ โดยทางทิศเหนือได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดลำปาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์โดยสาธุชนที่มานมัสการ

วัดพระแก้วดอนเต้า

                ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ เป็นวัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ พระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าพอๆกับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวง และพิพิธภัณฑสถานแห่งลานนา การเดินทางไปยังวัด ข้ามสะพานรัชฎาภิเษกแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนพระแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นองค์พระธาตุตั้งเด่นอยู่บนเนิน

วัดศรีชุม

                เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างในปี พ.ศ. 2436 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในเขตตำบลสวนดอก การเดินทางไปวัดศรีชุม จากถนนพหลโยธินเมื่อถึงโรงเรียนบุญญวาทย์วิทยาลัยแล้ว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าถนนศรีชุมไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ

                จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่ พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารที่มีศิลปะการตกแต่งภายในร่วมสมัยระหว่างศิลปะล้านนาและศิลปะพม่าลงทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น

วัดศรีรองเมือง

                ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคร่าวน้อย ตำบลสบตุ๋ย ในเขตเทศบาลเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นวัดพม่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 สมัยที่ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าขาย การทำป่าไม้เช่นกัน สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ วิหารไม้ หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยสวยงามตามแบบศิลปะพม่า นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นวัดที่มีการประดับตกแต่งภายในด้วยลายไม้แกะสลัก และลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสี ฝีมือประณีต วิจิตรสวยงาม

วัดป่าฝาง

                ตั้งอยู่เลขที่ 214 ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวพม่าที่มาประกอบอาชีพการป่าไม้ในจังหวัดลำปาง มีพุทธสถานที่เด่นคือ พระเจดีย์ใหญ่สีทองสุกปลั่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ทั้งหลังขนาดใหญ่ หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบพม่า และพระอุโบสถขนาดเล็กหลังคาเครื่องไม้แบบพม่า มีลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือประตูสวยงาม วัดนี้มีพระสงฆ์พม่าจากเมืองมัณฑเลมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่เสมอ

วัดไชยมงคล

                ตั้งอยู่ที่ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง เยื้องกับวัดป่าฝาง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดจองคา พุทธสถานที่เด่นของวัดคือ กุฎิ ขนาดปานกลาง ตัวอาคารเป็นตึกสีขาว หลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าบันประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาประดับด้วยขดลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถา ประดับกระจกสีสวยงาม ม่านและระเบียงโดยรอบทำด้วยแผ่นไม้ฉลุฝีมือประณีต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด มีลักษณะงดงามสร้างจากเมืองมัณฑเล สหภาพพม่า

สถานปฏิบัติธรรม-มณฑป

                หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ตั้งอยู่ชานเมืองลำปางประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางสายลำปาง-แจ้ห่ม ภายในบริเวณมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก นั่งในท่าสมาธิขนาดเท่ารูปจริง สำหรับให้ประชาชนเคารพสักการะ และบริเวณหน้ามณฑปก็มีที่จอดรถและสถานที่เช่าพระเครื่อง ส่วนกุฎิของหลวงพ่อเกษมอยู่ด้านข้างมณฑป

วัดเจดีย์ซาวหลัง

          “ซาว” แปลว่า ยี่สิบ “หลัง” แปลว่า องค์ วัดเจดีย์ซาวหลัง แปลว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม เป็นวัดใหญ่อยู่กลางทุ่งนา บริเวณวัดร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ วัดนี้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปาง สร้างแต่โบราณ ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี สิ่งที่น่าชมภายในวัดคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธรูปทันใจ” พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่และที่ ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังพระอุโบสถ ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย

                นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า “พระแสนแซ่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้ว

วัดพระธาตุม่อนพญาแช่

                ตั้งอยู่ที่ ต.พิชัย บนเส้นทางสายลำปาง-งาว ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากตัวเมืองโดยเลี้ยวขวาเข้าไปตรงหลักกิโลเมตรที่ 605 ประมาณ 1 กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน ทางวัดได้พัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและขอความร่วมมือกับสำนักงานป่าไม้เขตลำปางจัดให้เป็นวนอุทยานม่อนพญาแช่ ความสวยงามของวัดอยู่ที่บันไดนาคที่ทอดยาวขึ้นไปสู่พระเจดีย์ซึ่งกล่าวว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์เดิมถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2498 ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือน 9)

วัดพระธาตุเสด็จ

                อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางลำปาง-งาว ประมาณ 19 กิโลเมตร แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 17 ประมาณ 2 กิโลเมตร วัดพระธาตุเสด็จเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว อุโบสถและวิหารต่างๆ ในวัดนี้ล้วนแต่เป็นของโบราณที่ได้รับการบูรณะใหม่ แต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้เห็นได้อยู่จนปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานของชาติแล้ว วัดนี้มีพุทธสถานที่สำคัญคือ องค์พระธาตุเสด็จ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์แบบลานนา ลักษณะคล้ายพระธาตุลำปางหลวงแต่องค์เล็กกว่า นอกจากนี้มีวิหารใหญ่ เรียกว่า “วิหารกลาง” ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางลีลาองค์ใหญ่มีพุทธลักษณะงดงามนามว่า “หลวงพ่อห้ามญาติ” วิหารหลวง เรียกว่าวิหารจามเทวี ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะเชียงแสนและวิหารพระพุทธ มีพระพุทธรูปชื่อ “พระเจ้าดำองค์อ้วน” เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ

เขื่อนกิ่วลม

                อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลำปาง-งาว โดยแยกซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 623-624 เข้าไปอีก 14 กิโลเมตร เปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

                เขื่อนกิ่วลม อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพใช้เวลาประมาณครึ่งวัน มีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยง ผางาม เกาะชวนฝัน ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ

                สำหรับผู้ที่สนใจกีฬาทางน้ำ บอสสินี่ สปอร์ต คลับ ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้จัดตั้งศูนย์กีฬาทางน้ำที่บริการอุปกรณ์กีฬาทางน้ำประเภทต่าง ๆ เช่น สกู๊ตเตอร์ บานานาโบ๊ท วินเสริฟ เป็นต้น

                บ้านพักรับรองของทางกรมฯ อนุญาตให้เข้าพักได้เฉพาะข้าราชการ หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น โดยมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าไปที่ กรมชลประทาน ถนนสามเสน หรือ โทร. 241-4806 บริการจองแพ เรือ และที่พักบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ติดต่อได้ที่

กิ่วลมรีสอร์ท โทร. (054) 334-393, 223772

แพวังแก้ว โทร. (054) 319-040, 223-733

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *