ฝึกพูดเริ่มจากเขียน

ฝึกพูดเริ่มจากเขียน
 
วันที่ : 14 สิงหาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานวันนี้
 
             การพูดเหมือนการขับรถ ไม่มีใครขับรถแบบผู้เชี่ยวชาญได้ในวันที่ขับรถวันแรก แต่จะต้องมีความตื่นเต้น ความไม่มั่นใจ ความผิดพลาด ความกล้า ๆ กลัว ๆ แต่เมื่อเราขับรถบ่อยครั้งขึ้น เราย่อมขับรถได้ด้วยความเคยชิน

             การพูดก็เช่นเดียวกัน จัดเป็นทักษะหนึ่งที่ต้องเริ่มต้นด้วย “ก้าวที่หนึ่ง” เหมือนเด็กเพิ่งหัดเดินที่การล้มลุกคลุกคลานเป็นเรื่องปกติ แต่จะพัฒนาไปสู่ความเชี่ยวชาญชำนาญเมื่อทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

             การฝึกพูดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการพูดต่อหน้าผู้คนในโอกาสต่าง ๆ โดยทั่วไปมักจะใช้ 3 วิธีในการพูด ได้แก่

             การพูดจากเนื้อหาที่ได้เตรียมไว้
มักจะเป็นการพูดอย่างเป็นทางการ เช่น การปาฐกถาในโอกาสต่าง ๆ การกล่าวสุนทรพจน์ การบรรยาย การนำเสนอผลงาน ฯลฯ ซึ่งมีเนื้อหาในการสื่อสารจำนวนมาก

             ที่สำคัญ การพูดจากเนื้อหาที่ได้เตรียมไว้นับว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในการฝึกพูดต่อหน้าชุมชน เนื้อหาที่เตรียมไว้ไปพูดนั้นจะช่วยเราในช่วงเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการสื่อสาร อันจะช่วยให้เราค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การพูดขั้นต่อไป อันได้แก่ การพูดโดยมีโน้ตย่อ จนถึงการพูดโดยไม่มีโน้ตได้ในที่สุด

             การพูดจากโน้ตย่อ
จดโครงร่างของเรื่องที่เราต้องการสื่อสาร หัวข้อ ประเด็น คำสำคัญเพื่อกันลืม มักเป็นการพูดอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้พูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือสำหรับการพูดที่เรามั่นใจว่าได้เตรียมความพร้อมมาอย่างดี จำรายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารได้

             การพูดจากโน้ตย่อเหมาะสำหรับผู้ที่ฝึกทักษะการพูดมาระยะหนึ่ง จนค่อนข้างมีทั้งความมั่นใจและความชำนาญในการสื่อสาร

             การพูดโดยไม่มีโน้ต
วิธีนี้เหมาะสำหรับนักพูดที่เชี่ยวชาญแล้ว ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกทักษะการพูด ทั้งนี้เพราะการพูดโดยไม่มีโน้ต ผู้พูดจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ อาทิ ความสามารถในการลำดับความคิดและเหตุผลในเรื่องที่จะพูด ความจำในประเด็นสำคัญที่จะต้องพูด บุคลิกท่าทางที่ดูเป็นธรรมชาติ น้ำเสียงที่ลื่นไหลแสดงถึงความเชื่อมั่นในสิ่งที่พูด

             การพูดโดยไม่มีโน้ตนั้น หากไม่ได้เป็นผู้ที่ฝึกจนชำนาญแล้ว จะทำได้ยาก อาจเกิดการติดขัดเพราะจำเนื้อหาที่พูดไม่ได้ ยิ่งเมื่อมองเห็นสายตามากมายจับจ้องอยู่ อาจทำให้เสียความมั่นใจจนไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณะอีกเลยก็เป็นได้

             ดังนั้น ในการฝึกพูดนั้น ควรเริ่มต้นอย่างเป็นลำดับขั้น โดยไม่ว่าเราจะพูดในหัวข้อใด ควรเริ่มต้นจากการเขียน “บทพูด” ที่เราต้องการสื่อสารให้สมบูรณ์ครบถ้วนก่อนเสมอ บทพูดที่ดีจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเรามากขึ้นว่า “เราจะต้องพูดได้ดี” เช่นกัน

             อย่างไรก็ตาม การเขียนเพื่อการพูดนั้น มีรูปแบบที่เราควรเรียนรู้เพื่อให้สามารถพูดได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *