ผู้ผลิตอาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะ

ผู้ผลิตอาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะ ระดมสมองเพิ่มซัพพลายเสิร์ฟ 9 พันล้านคน
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4087
ท่ามกลางความอลหม่านของวิกฤตการเงินโลกที่แพร่สะพัดเหมือนเชื้อไวรัสที่มีต้นตอมาจากสหรัฐอเมริกา และทำให้ประเทศที่ไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพอต้องติดหวัดและเจ็บป่วยไปตามระดับความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจนั้น
คนจำนวนหนึ่งกำลังแสวงหาทางออกและทางรอดจากอาการซวนเซของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากภาค การเงิน รถยนต์ เทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสารต่างๆ
การหันกลับไปที่ฐานรากของสังคมและการผลิตจากภาคการเกษตรได้ถูกปัดฝุ่นและพูดคุยกันอย่างจริงจังอีกครั้ง นั้นเพราะว่าในยามฝืดเคืองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหดตัว แต่ผู้คนก็ยังต้องกิน
คนในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารต่างเห็นตรงกันว่า ในวิกฤตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารย่อมได้รับผลกระทบ แต่มันก็อยู่แค่ในระดับ “หดตัว” ยังไม่ถึงขั้น “ถดถอย”
ส่วนการพัฒนาระบบการผลิต เพิ่มผลิตผลด้านการเกษตรและอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสังคม ประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมเกษตรโลก (World Agriculture Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ระหว่าง วันที่ 8-10 มี.ค. โดยมีนักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ อาหารคนกว่า 70 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมหารือ ในหัวข้อ “รากฐานการเกษตรที่สมดุล”
ถกตั้งรับประชากรโลกพุ่งเร็ว
นายเจมส์ บี. โบลเจอร์ ประธานการประชุมเกษตรโลก และอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจระดับโลกในเวลานี้ว่า แม้หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในช่วงขาลง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ ทรัพย์สิน แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมีผลต่อผู้กำหนดนโยบายอย่างมากก็คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก
เมื่อตอนเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 โลกมีประชากรเพิ่มขึ้น 2 พันล้านคน แต่พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ประชากรโลกกลับเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านคน และในอีก 40 ปีข้างหน้า น่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึง 9 พันล้านคน แนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีว่า แล้วเราจะหาอาหารมาป้อนประชากรโลกที่มากมายขนาดนี้ได้อย่างไร
ในการประชุมเกษตรโลก การหารือโต๊ะกลมที่เอเชียในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการหารือกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสามารถหาทางออกให้กับโลก

นายโบลเจอร์อ้างบทความหนึ่งซึ่งระบุถึงการประมาณการความต้องการอาหารของโลกจากธนาคารโลกไว้ว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 20 ปีเราต้องเพิ่มผลผลิตด้านอาหารให้ได้อีก 50% โดยเฉพาะในเอเชียที่จะมีประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นและคนเหล่านี้ก็ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ให้คุณค่าโปรตีนมากขึ้น
เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับนักคิด ที่ต้องคิดว่าแล้วจะผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้กับคนจำนวนมากนี้ได้อย่างไร เราจำเป็นต้องปรับกระบวนคิดและเริ่มมองว่าโลกเวลานี้ไม่ได้มีแต่เส้นทางที่ขรุขระย่ำแย่เท่านั้น แต่กำลังต้องการการเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาการผลิตใหม่ๆ
“ความท้าทายที่สำคัญของเราก็คือ เราจะใช้ที่ดิน น้ำ พลังงาน สำหรับผลิตอาหารในวิธีการที่มีความยั่งยืนได้อย่างไร นี่เป็นความท้าทายของโลก เพราะการเกษตรและอาหารของโลกเป็นส่วนที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิต อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญสำหรับการสร้างระบบเศรษฐกิจของโลกที่เชื่อมโยงกันและกันอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย”
นอกจากนี้ ขณะที่โลกกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน เราก็ต้องคิดด้วยว่าจะหาแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อจากไหนมา สนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตรและการผลิตอาหารป้อน ให้กับประชากรของโลก
หาวิธีเพิ่มผลผลิต
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การผลิตอาหารในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ในปีนี้จะลดลง 40% เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องการเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อทำให้มีผลผลิตสูงที่สุด และเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้
ดร.ฮาร์วี กลิ๊ก ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จีน และอินเดีย บริษัทมอนซานโตกล่าวว่า มอนซานโตใช้เงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวันสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาเมล็ดพืชที่ให้ผลผลิตในปริมาณมากและมีคุณภาพที่สุด อีกทั้งยังต้องใช้เวลา 5-10 ปีสำหรับการวิเคราะห์และประเมินผลการวิจัยและพัฒนาผลผลิต
ในฐานะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพ เราเห็นถึง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉพาะในเอเชีย และสถานการณ์นี้ย่อมทำให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารหรือพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้จะหนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
ในสหรัฐอเมริกามีตัวเลขยืนยันถึงการเพิ่มขึ้นของการผลิตและบริโภคข้าวโพดที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีความต้องการอีกมาก
ขณะที่ในเอเชียความต้องการผลผลิตข้าวโพดที่สูงขึ้นย่อมต้องมีเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ดีเพื่อทำให้มีผลผลิตต่อไร่ที่มากขึ้น ทนกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้
และมอนซานโตก็มีความมุ่งมั่นสนับสนุนการลงทุนพัฒนาและวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวโพด ถั่วเหลืองในเอเชียให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ มอนซานโตยังพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ๆ ที่สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือยาทำลายศัตรูพืชของเกษตรกรที่ใช้กันในบางพื้นที่
นอกจากนี้ นายกลิ๊กยังระบุถึงเป้าหมายของมอนซานโตในเวลานี้ ซึ่งกำหนดให้ภายในปี 2573 เมล็ดพันธุ์ของบริษัทไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดหรือฝ้ายจะต้องทำให้เกิด 1) ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในตลาด 2) ลดต้นทุนของเกษตรกรไม่ว่าจะมาจากเรื่องที่ดิน น้ำ และปุ๋ย และ 3) ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น

โดยการทำให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ข้อ มอนซานโตจะใช้การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในระดับโมเลกุลให้เกิดความหลากหลายทั่วโลก ซึ่งแต่เดิมต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่ปัจจุบันเรากำหนดใช้เวลาเพียง 7-8 ปีเท่านั้นที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 2 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า
ด้าน นายยาน ลัมเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายตลาดการเงินโลก ศูนย์วิจัยเอเชีย ราโบแบงก์ เนเธอร์แลนด์ ธนาคารที่ปรึกษาด้านการลงทุนการเกษตรกรรมระบุว่า ในขณะนี้แม้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะลดลงมาจากปีที่แล้ว แต่ยังมีโอกาส สำหรับผู้ประกอบการอาหารสัตว์และวัตถุดิบเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอีกมาก แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบในด้านลบจากสภาพอากาศที่แย่ลงในระหว่างปี 2549-2551 พร้อมกับปริมาณพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในโลกที่ลดลง สิ่งเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปนโยบายเพื่อทำให้ปริมาณพืชผลในโลกมีเพียงพอกับ ความต้องการและมีราคาที่ดีขึ้น
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังดี
ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปีที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังนับว่าตลาดโภคภัณฑ์นั้นยังมีขนาดที่เล็กกว่าตลาดการเงินอีกมาก ซึ่งนั่นหมายความว่ายังมีโอกาสสำหรับตลาดโภคภัณฑ์ที่จะขยายตัวได้อีก แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะไม่กลับมามีราคาสูงเหมือนปีที่ผ่านมาอีก แต่ก็จะไม่ลดต่ำลงไปกว่าระดับราคาที่เคยผ่านมาก่อนหน้านี้อีกแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ในอนาคต มาจากการลดการลงทุนในพลังงานเชื้อเพลิงจาก น้ำมันแล้วหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและวิจัยพลังงานชีวภาพมากขึ้น
สถานการณ์นี้จะกระตุ้นให้ราคาพืชผลการเกษตรเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพมีราคาสูงขึ้น และจะมีผลทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายลัมเบิร์กได้เตือนว่า ขณะที่ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับความต้องการพืชผลเพื่อผลิตพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นนั้น เกษตรกรยังต้องเพิ่มปริมาณการผลิตและหาพื้นที่การผลิตให้เพียงพอด้วย
เรื่องน่าเป็นห่วงอีกประการคือ การใช้ระบบเศรษฐกิจในแนวทางชาตินิยมมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะจะทำให้เกิดการบิดเบือนของราคาสินค้าในตลาด มีผลต่อห่วงโซ่อุปทาน และทำให้การเจรจาในเวทีการค้าโลกรอบโดฮาไม่คืบหน้า
นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่าแนวโน้มในอนาคตเอเชียจะเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญของโลก และผู้ผลิตในภูมิภาคนี้จะหันไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
ส่วนราคาค่าขนส่งก็เป็นเรื่องที่พิจารณาให้ดี โดยราคาค่าขนส่งทางเรือจะมีแนวโน้มลดต่ำลงหลังราคาน้ำมันลดลง แต่การขนส่งทางเรือกลับมีค่าจอดเทียบสูงขึ้นแม้จะมีปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดอยู่ แต่การกีดกันทางการค้าจะมีผลต่อการขนส่งสินค้าและจะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอื่นๆ ได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า
นายแท็ด ไซมอน ประธานและซีอีโอ บริษัท โนวาส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงก์ บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรจากมิสซูรี สหรัฐอเมริกา 1 ใน 4 บริษัทผู้สนับสนุนการจัดการประชุมเกษตรโลกที่ภูเก็ตครั้งนี้ระบุว่า การที่เศรษฐกิจ โลกหดตัวนั้นมีผลต่อการผลิตทั่วโลกโดยเฉพาะด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาและเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร ซึ่งเวลานี้เกิดปัญหากับลูกค้าของบริษัทบ้างแล้ว
แต่สำหรับโนวาสฯในฐานะผู้ผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ เราคิดว่าแม้ทุกอย่างจะชะลอตัวแต่ความผูกพันที่มีกับลูกค้าของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังเห็นว่ามีความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทยังมุ่งหน้าลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิต โดยสถานการณ์ในเวลานี้เป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมทุกประเภท
หากในอนาคตจะมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ในฐานะผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเกษตรเราก็จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น
นายริชาร์ด แลนดิส รองประธานฝ่ายจัดซื้อ บริษัทคีย์สโตน ฟู้ดส์ เจ้าของเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด “แมคโดนัลด์” กล่าวว่า การผลิตอาหารในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งบริษัทได้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ ผู้บริโภคมั่นใจว่าอาหารที่มาจากครัวของบริษัทมีความปลอดภัย
ส่วนในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการเพิ่มผลผลิตของอาหาร โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี ตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ทางบริษัทยังไม่พิจารณาถึงเรื่องนี้ ในขณะนี้ แต่ก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอ
บทบาทไทยในฐานะครัวโลก
สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้มีบทบาทและเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของโลก การเพิ่มขึ้นของประชากร 9,000 ล้านคนในอีก 20-30 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทาน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ 130 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ทางการเกษตรเพียง 40% ของทั้งหมด และมีเพียง 11% ของพื้นที่การเกษตรที่มีระบบชลประทานที่ทั่วถึง
ดังนั้นประเทศไทยควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคด้านการผลิตเพื่อการเกษตร
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ระบุว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทางแยกที่สำคัญ เราต้องคิดกันให้มากขึ้นสำหรับการพัฒนาคุณภาพดิน การพัฒนาคุณภาพการเพาะปลูก เพื่อทำให้เราได้รับโอกาสในฐานะผู้ผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ยังมีโอกาสอีกมากในตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งของซี.พี. มียอดการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีช่องว่างในตลาดอีกมาก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *